คุณเว่ยเหวินเซวียน (ซ้าย) คือคนหนุ่มสาวรุ่นแรกของฉือซ่างที่สำนึกรักษ์บ้านเกิด เขาได้ช่วยเหลือหลินเมิ่งเต๋อ (林孟德 ขวา) คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ รีโนเวทบ้านเก่า และยังร่วมกันส่งเสริมบริการที่หลากหลาย เพื่อการแบ่งปันกลุ่มลูกค้า
เมืองเล็กๆ ที่เผชิญปัญหาประชากรอพยพย้ายถิ่นขนานใหญ่ แต่ในปีค.ศ.2009 ในนิตยสาร Time magazine กลับปรากฏภาพนักดนตรีเล่นเปียโนท่ามกลางรวงข้าวสีทองปลิวไสวไปตามสายลมอ่อนๆ ที่พัดโชยท้องทุ่งนา เสียงเปียโนก้องกังวานในหุบเขา
เทศกาลศิลปะเก็บเกี่ยวข้าวในฤดูใบไม้ร่วง (The Autumn Rice Harvest Arts Festival) ที่ตำบลฉือซ่าง เมืองไถตง มีประวัติยาวนานกว่า 11 ปี สำหรับคนในท้องที่ไม่ใช่แค่กิจกรรมทางศิลปะ แต่คือพิธีเฉลิมฉลองของบ้านเกิด ซึ่งเป็นโอกาสดีของคนฉือซ่างที่จะบอกกับนักท่องเที่ยวต่างถิ่นว่า “ฉันรักฉือซ่าง”
ในวันเทศกาลศิลปะ บริเวณโดยรอบสถานที่จัดงานเต็มไปด้วยเหล่าบรรดาอาสาสมัคร ทั้งทีมจราจร, ทีมแพทย์พยาบาล และแผงขายของที่ระลึก ล้วนดูแลรับผิดชอบโดยชาวฉือซ่าง บริเวณหน้าสถานีรถไฟมีอาเฮียคนหนึ่งพูดด้วยความตื่นเต้นว่า “สองวันนี้คือวันสำคัญของฉือซ่าง” ที่มีการรวมพลทั้งตำบลและทุกคนต่างปฏิบัติหน้าที่ของตนเพื่อบริการนักท่องเที่ยวต่างถิ่น หากพบนักท่องเที่ยวเดินหลงทางตามถนน จะรีบตรงเข้าไปชี้ทางให้ทราบทันที
ทุกปีเพื่อเตรียมพิธีการเฉลิมฉลองนี้ ชาวฉือซ่างต้องใช้เวลาอย่างน้อย 8 เดือน ในการระดมอาสาสมัครจำนวน 300 คน มาเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อเรียนรู้ทักษะในด้านต่างๆ อาทิ การวางแผน การโฆษณา การประชาสัมพันธ์ สถานที่ และบริการจำหน่ายบัตร ขณะที่เกษตรกรก็ต้องเข้ามาช่วยในการจัดเวทีสำหรับใช้แสดง จึงต้องทำการเกี่ยวข้าวบางส่วนแต่เนิ่นๆ ส่วนที่เหลือค่อยเก็บเกี่ยวหลังเสร็จสิ้นเทศกาลศิลปะ
“ชาวฉือซ่างมีความสามัคคีมาก ไม่ว่าจะทำการอะไรก็ดูง่ายดายไปหมด” เหลียงเจิ้งเสียน (梁正賢) นายกสมาคมศิลปะฉือซ่าง เล่าว่า ความสามัคคีของประชาชนที่อาศัยอยู่พื้นที่แห่งนี้น่าจะเริ่มต้นจากยุค 1990 ซึ่งไต้หวันเริ่มเข้าร่วมองค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งขณะนั้นเกษตรกรได้ทราบข่าว ทั้งตำบลเต็มไปด้วยบรรยากาศเศร้าหมอง แม้แต่เครื่องจักรใหม่ๆ ที่เพิ่งสั่งซื้อมา ก็ไม่มีกะจิตกะใจประกอบเพื่อใช้งาน
เมื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายดังกล่าว คุณเหลียงเจิ้งเสียนคิดว่า การนั่งรอความตายไม่น่าจะดีเท่ากับการสร้างแนวทางใหม่ๆ เพื่อความอยู่รอด ด้วยการเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวของฉือซ่าง คุณเหลียงเจิ้งเสียนเรียกร้องให้ทุกคนส่งเสริมระบบการรับรองข้าวที่เพาะปลูกในพื้นที่ฉือซ่างและเปลี่ยนไปทำวิถีเกษตรอินทรีย์ เริ่มจากช่วงแรกที่เกษตรกรมีท่าทีลองทำดู จึงเข้าไปมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหลังจากความพยายามมาเป็นเวลา 4 ปี ในที่สุดก็ได้รับการสนับสนุนจากที่ทำการตำบลและสหกรณ์การเกษตร เปิดตัวตรามาตรฐานระบบรับรองแหล่งผลิตอย่างเป็นทางการ
ตั้งแต่นั้นมา มีเพียงข้าวที่เพาะปลูกในพื้นที่ตำบลฉือซ่างเท่านั้นจึงจะมีตรารับรอง “ข้าวฉือซ่าง” หลังจากเครื่องหมายนี้ถูกสร้างขึ้น เกษตรกรก็มีหลักประกันด้านชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และยังเป็นการบ่มเพาะความรู้สึกผูกพันที่เกิดจากการได้ร่วมกันฝ่าฟันอุปสรรคและจิตสำนึกที่มีต่อชุมชน
รากเหง้าวัฒนธรรมของฉือซ่าง
หลังจากการร่วมแรงร่วมใจของเกษตรกรในการต่อสู้จนสามารถสร้างเครื่องหมายรับรองแหล่งผลิตได้ตามที่มุ่งมั่นแล้ว ก็ยังทำให้ผืนแผ่นดินบ้านเกิดแห่งนี้กลายเป็นที่รักหวงแหนและได้รับการดูแลใส่ใจเป็นพิเศษด้วย ในปีค.ศ.2003 เดิมทีบริษัทการไฟฟ้าไต้หวัน (Taiwan Power Company) วางแผนจะก่อสร้างเสาไฟฟ้าแรงสูงไว้บริเวณรอบทุ่งนา แต่กลับถูกเกษตรกรต่อต้านเนื่องจากกระทบต่อภาพลักษณ์โดยรวมของทุ่งนาและการเจริญเติบโตของต้นข้าว จากการยืนหยัดของเกษตรกรในตอนนั้น จึงทำให้ผืนนาที่สวยงามหลงเหลือมารังสรรค์เป็นเวทีการแสดงขนาดใหญ่ในปัจจุบัน
สำหรับด้านศิลปะก็เช่นกัน เกษตรกรจะใช้ช่วงเวลาที่ว่างจากการทำนา เข้าร่วมชมรมการเขียนพู่กันจีน ชมรมวาดภาพ หรือชมรมอ่านหนังสือ เป็นอีกรูปแบบหนึ่งในวิถีชีวิตของเกษตรกรของที่นั่น โดยเฉพาะการเขียนพู่กันจีนที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน จากวัฒนธรรมเกษตรกรรมของชาวฮากกากับหมิ่นหนานและวิถีชีวิตหลังเกษียณของทหารผ่านศึก ตัวอย่างเช่น คุณเซียวชุนเซิง (蕭春生) ที่ได้ก่อตั้งชมรม The Kuroshio Calligraphy Society ที่มีประวัติยาวนานกว่า 20 ปี ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานให้คนฉือซ่างรักในการเขียนพู่กันจีน
วัฒนธรรมดังกล่าวเปิดโอกาสให้ฉือซ่างกลายเป็นศูนย์กลางแห่งศิลปะวัฒนธรรม และยังทำให้มูลนิธิ The Lovely Taiwan Foundation ที่ได้มาเยือนฉือซ่างในปีค.ศ.2008 แสวงหาวิธีการร่วมมือกับชาวบ้านได้อย่างรวดเร็ว
ให้ความเคารพท้องถิ่น วางแผนร่วมกัน
มูลนิธิ The Lovely Taiwan Foundation หวังว่าจะใช้รากฐานของวัฒนธรรมในท้องถิ่น ทำให้ทุกคนได้สัมผัสกับทัศนียภาพที่งดงามของไต้หวัน ไมตรีจิตของผู้คน และแก่นแท้ของวัฒนธรรม คุณหลี่อิงผิง (李應平) ประธานกรรมการบริหาร เน้นย้ำว่า สำหรับกลุ่มคนที่มาจากนอกพื้นที่ พวกเขามีแนวคิดที่เรียบง่ายมาก คือให้ความเคารพในวิถีชีวิตที่ชาวบ้านเลือก “พวกเราไม่เคยคิดว่าจะนำเอาอะไรเข้ามา เมื่อเราได้ทำความรู้จักกับชาวบ้านในพื้นที่จนกลายเป็นเพื่อนกันแล้ว เราก็จะค่อยๆ เรียนรู้ได้ว่าพวกเขาต้องการอะไร และพวกเราจะสามารถให้ความช่วยเหลืออะไรได้บ้าง”
มูลนิธิ The Lovely Taiwan Foundation ตัดสินใจเริ่มต้นจากกิจกรรมขนาดเล็ก คือเริ่มด้วยงาน The Picnic & Music Festival โดยเชิญชวนชาวบ้านมาปิกนิกและชมการแสดงที่ริมทะเลสาบต้าโป ซึ่งเทศกาลปิกนิกดังกล่าวได้รับการตอบรับจากชาวบ้านเป็นอย่างดี แนวคิดดังกล่าวยังทำให้เราได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านด้วย อาหารมื้อนั้นทำให้ชาวบ้านเกิดความคิดว่า “ทุ่งนาของพวกเราช่างสวยงามมากจริงๆ หากมีการแสดงดนตรีประกอบจะต้องเป็นอะไรที่ยอดเยี่ยมมากๆ” คุณเคอเหวินชาง (柯文昌) ประธานมูลนิธิ The Lovely Taiwan Foundation ได้ตอบกลับไปโดยทันทีว่า “พวกเราจะรับผิดชอบการแสดงดนตรี ส่วนทุ่งนาให้พวกคุณเป็นคนจัดการ”
ในปีค.ศ.2019 เทศกาลศิลปะเก็บเกี่ยวข้าวในฤดูใบไม้ร่วงที่ฉือซ่างก็ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรก ภาพถ่าย Eric Chen หรือเฉินก้วนอวี่ (陳冠宇) นักเปียโนที่กำลังบรรเลงบทเพลงอยู่ท่ามกลางทุ่งนาถูกนำไปลงในเว็บไซต์ของนิตยสาร Time magazine และทำให้ทั่วโลกได้เห็นถึงความงดงามของฉือซ่าง ถัดจากนั้นไม่กี่ปี การแสดงตีกลองโบราณของคณะ U Theatre 1988, การแสดงจินตลีลาของคณะ Cloud Gate Dance Theater และการแสดงคอนเสิร์ตของอาเมย หรือจางฮุ่ยเม่ย (張惠妹) กับอู๋ป่าย (伍佰) ก็ทยอยปรากฏขึ้นบนเวทีการแสดงของฉือซ่าง ดึงดูดให้ผู้คนจำนวนมากเดินทางไปเยือนฉือซ่าง เพื่อรับฟังเรื่องราวของฉือซ่าง และสัมผัสวิถีชีวิตในแบบฉบับของฉือซ่าง
สืบสานความเป็นมืออาชีพ หยั่งรากลึกในท้องถิ่น
เพื่อให้ฉือซ่างมีพัฒนาการอย่างยั่งยืน คุณเคอเหวินชางจึงหวังให้ชาวฉือซ่างจัดตั้งสมาคมศิลปะของตนเองขึ้นมา สำหรับเป็นเจ้าภาพจัดงานเทศกาลศิลปะเก็บเกี่ยวข้าวในฤดูใบไม้ร่วงที่ฉือซ่าง ขณะที่มูลนิธิฯ จะค่อยๆ ถอยออกมาคอยเป็นผู้ให้ความช่วยเหลืออยู่เบื้องหลัง
ในช่วงเริ่มต้น ชาวฉือซ่างไม่มีความมั่นใจว่าจะสามารถจัดงานเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ได้ แต่มูลนิธิ The Lovely Taiwan Foundation ได้พยายามให้กำลังใจช่วยสนับสนุนชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการจัดตั้งองค์กรในท้องถิ่นซึ่งถือเป็นก้าวแรก
มูลนิธิทยอยถ่ายโอนทรัพยากร ช่องทางการติดต่อประสานงาน และความเป็นมืออาชีพในด้านต่างๆ ให้กับทางสมาคมศิลปะฉือซ่าง ซึ่งการคืนเวทีทั้งหมดให้กับคนท้องถิ่นได้แล้วเสร็จในปีค.ศ.2018 โดยปีนั้นสมาคมศิลปะฉือซ่างเป็นเจ้าภาพจัดงานเทศกาลศิลปะเก็บเกี่ยวข้าวในฤดูใบไม้ร่วงที่ฉือซ่างอย่างเต็มตัว
คุณหลี่อิงผิงนึกย้อนไปถึงช่วงเริ่มแรกของการส่งมอบงาน ปฏิกิริยาตอบกลับของชาวบ้านในขณะนั้นยังฝังลึกในความทรงจำ เธอพูดพลางยิ้มไปว่า “ชาวบ้านคิดว่าพวกเราจะจากไปแล้ว” แต่มูลนิธิ The Lovely Taiwan Foundation ได้อธิบายให้ทุกคนเข้าใจว่า ภารกิจของพวกเขาไม่ใช่ “การมาจุดพลุ” ที่สว่างไสวสวยงามแป๊บเดียวก็จบ แต่มาเพื่อบ่มเพาะให้รากหยั่งลึกลงไปในดินต่างหาก นอกจากการคืนสิทธิ์ของการเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมให้กับท้องถิ่นแล้ว ถัดจากนั้นยังต้องสร้างฐาน สร้างศักยภาพ และสร้างการเชื่อมโยงให้เกิดขึ้นภายในพื้นที่ ดังนั้นในปีค.ศ.2014 โครงการหมู่บ้านศิลปะฉือซ่างจึงถือกำเนิดขึ้น และปีค.ศ.2016 ก็ได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ยุ้งข้าวฉือซ่าง (Chishang Barn Art Museum) ตามมา
มูลนิธิ The Lovely Taiwan Foundation ได้เริ่มเชิญศิลปินมาเยือนที่หมู่บ้านศิลปะ เพื่อทำ Workshop กับจัดแสดงนิทรรศการ รวมถึงทำการแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านในท้องที่ ศิลปินได้เข้าไปตามโรงเรียนเพื่อทำการสอนศิลปะ ทำให้เด็กนักเรียนได้สัมผัสถึงรูปแบบของความคิดสร้างสรรค์ที่มีความแตกต่างกัน อันจะนำไปสู่การขยายขอบเขตของวิสัยทัศน์
บูรณะบ้านเก่า บันทึกความทรงจำของฉือซ่าง
นอกจากเทศกาลศิลปะเก็บเกี่ยวข้าวในฤดูใบไม้ร่วงที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีแล้ว ที่ฉือซ่างยังมีร้านค้าที่มีเรื่องราวน่าสนใจอีกเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นคนหนุ่มสาวที่สำนึกรักษ์บ้านเกิด คนที่อพยพย้ายถิ่นมาอยู่เพราะชื่นชอบฉือซ่าง แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามที่ทำให้ทั้งหมดตัดสินใจลงหลักปักฐานบนผืนดินแห่งนี้ พวกเขามีเป้าหมายเดียวกันที่ต้องพยายามร่วมกัน คือเก็บรักษาเรื่องราวของฉือซ่างให้คงอยู่ต่อไป
คุณเว่ยเหวินเซวียน (魏文軒) เจ้าของกิจการโฮมสเตย์ Good Harvest B&B ได้กลับมาอาศัยอยู่ที่ฉือซ่างเป็นเวลา 16 ปีแล้ว ถือได้ว่าเป็นกลุ่มคนหนุ่มสาวรุ่นแรกๆ ที่กลับมาสำนึกรักษ์บ้านเกิด เขากับเพื่อนสนิทได้ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มอัศวินดำ (Black Knights) โดยจะทำการปั่นจักรยานเหล็กโบราณไปตามพื้นที่ต่างๆ และเริ่มต้นการเจรจาหารือกับชาวฉือซ่าง เพื่อทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กลับมากับคนที่อพยพย้ายถิ่นเข้ามาอาศัยอยู่ที่ฉือซ่างเข้าใจในบริบทของการพัฒนาท้องถิ่น ขณะเดียวกันคนในท้องถิ่นก็จะได้ทำความรู้จักกับเหล่าสมาชิกหน้าใหม่ เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับมิตรภาพที่ดีต่อกัน
คุณเว่ยเหวินเซวียนนึกย้อนไปถึงช่วงแรกๆ ของการรีโนเวทบ้านเก่าให้กับคนอื่นว่ามีหลายคนไม่เข้าใจ แต่คุณเว่ยเหวินเซวียนกลับเห็นว่า โมเดลธุรกิจในปัจจุบันไม่ใช่อาศัยการแข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่อความอยู่รอด แต่เป็นการสร้างโอกาสทางการตลาดให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เขายังเชื่อว่า “พวกเราไม่ต้องการสร้างสิ่งใหม่มาครอบแผ่นดินผืนนี้ แต่ต้องดูแลรักษาบ้านเก่าแก่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวจากรุ่นสู่รุ่นให้คงอยู่” ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบฉือซ่างกับตำบลที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง จะเห็นว่าข้อดีคือการได้ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางบรรยากาศแห่งศิลปะ โดยมีเรื่องราวของบ้านเก่าแก่เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างบรรยากาศ
การรีโนเวทบ้านเก่าและการแบ่งปันประสบการณ์กับกลุ่มลูกค้าทำให้ปัญหาการดำรงชีวิตของวัยรุ่นในฉือซ่างได้รับการผ่อนคลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อกลุ่มคนรุ่นใหม่ตั้งหลักปักฐาน ปัญหาการดูแลผู้สูงอายุกับการศึกษาของเด็กจึงจะได้รับการแก้ไข และสามารถดำเนินเรื่องราวของฉือซ่างให้คงอยู่ต่อไปได้