กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 24 ก.ย. 64
เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นด้านการป้องกันภัยพิบัติระดับประเทศและระดับโลก พร้อมทั้งรำลึกวาระครบรอบ 22 ปีของเหตุแผ่นดินไหว 921 ของไต้หวัน ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2542 ทางกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) สถาบันอเมริกาในไต้หวัน สำนักงานไทเป (AIT/T) สมาคมแลกเปลี่ยนระหว่างญี่ปุ่น – ไต้หวัน (JTEA) สำนักงานตัวแทนรัฐบาลออสเตรเลียประจำกรุงไทเป สำนักงานตัวแทนรัฐบาลอังกฤษประจำกรุงไทเป และศูนย์เทคโนโลยีป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติของไต้หวัน (National Science and Technology Center for Disaster Reduction, NCDR) จึงได้ร่วมจัดการประชุมนานาชาติออนไลน์ในหัวข้อ “การเสริมสร้างความยืดหยุ่นด้านการป้องกันภัยพิบัติระดับประเทศและระดับโลก” ภายใต้กรอบความร่วมมือและฝึกอบรมนานาชาติ GCTF (2021 GCTF Virtual Conference on Building Disaster Resilience at Global and National Levels)
กิจกรรมในครั้งนี้เป็นการประชุมนานาชาติครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นในประเด็นการลดและบรรเทาภัยพิบัติ ภายใต้กรอบความร่วมมือ GCTF และเป็นหนึ่งในกิจกรรมตามแถลงการณ์ร่วมว่าด้วย “แผนปฏิบัติการด้านการบรรเทาภัยพิบัติ” ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ
นายเจิงโห้วเหริน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน กล่าวขณะปราศรัยว่า ขณะนี้ที่ทั่วโลกเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรงและการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 การยกระดับศักยภาพในการลดและบรรเทาภัยพิบัติ จึงนับว่าเป็นประเด็นที่ควรได้รับการแก้ไขปรับปรุงอย่างเร่งด่วน โดยไต้หวันจะประสานความร่วมมือกับพันธมิตรทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง เพื่อสรรค์สร้างโลกที่เปี่ยมด้วยความยืดหยุ่นและความมั่นคงปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
การประชุมในครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ภาครัฐและผู้เชี่ยวชาญ ที่มีหน้าที่ดูแลและควบคุมการบรรเทาภัยพิบัติ และหน่วยงานประสานความร่วมมือด้านการพัฒนาในระดับนานาชาติ รวม 135 คนจาก 34 ประเทศและพื้นที่ใน 6 ทวีป ประกอบด้วย เอเชีย - แปซิฟิก ตะวันออกกลาง แอฟริกา อเมริกาเหนือ ลาตินอเมริกาและพื้นที่แถบทะเลแคริบเบียน เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ผ่านช่องทางออนไลน์ พร้อมนี้ ยังได้ติดต่อเชิญเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development, USAID) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินของสหราชอาณาจักร สำนักงานการฟื้นฟูหลังภัยพิบัติและการรับมือกับภัยพิบัติด้วยความยืดหยุ่นของออสเตรเลีย รวมถึงผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้อง มาเป็นผู้บรรยายในการประชุมครั้งนี้ด้วย