ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 11 ต.ค. 64
เมื่อช่วงบ่ายเวลา 16:00 น. ของวันที่ 11 ต.ค. ตามเวลาในกรุงไทเป ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ตอบรับคำเชิญของมูลนิธิ Forum 2000 Foundation เข้าร่วมกล่าวสุนทรพจน์ผ่านการบันทึกวิดีทัศน์ล่วงหน้าในการประชุม “25 th Forum 2000 Conference” ของสาธารณรัฐเช็ก ที่จัดขึ้นในรูปแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
ปธน.ไช่ฯ ชี้ว่า ในยุคหลังโควิด – 19 ยังคงมีประเด็นที่สำคัญและความท้าทายหลายประการ ที่รอให้ประชาคมโลกร่วมแสดงความห่วงใยและมุ่งมั่นพยายามในการผนึกกำลังแก้ไขปัญหา ซึ่งไต้หวันพร้อมแล้ว ที่จะประสานความร่วมมือกับมิตรประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันในการปกป้องรักษาความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศ ที่เปี่ยมด้วยเสรีภาพและประชาธิปไตย พร้อมคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ไต้หวัน – สหภาพยุโรป (EU) จะเร่งลงนามความตกลงทวิภาคีด้านการลงทุน (BIA) ระหว่างกันโดยเร็ว เพื่อเสริมสร้างผลประโยชน์และบูรณาการค่านิยมร่วมเข้าไว้ด้วยกัน
สุนทรพจน์ของปธน.ไช่ฯ มีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
ก่อนอื่น ข้าพเจ้าต้องขอขอบคุณมูลนิธิ Forum 2000 Foundation ที่ได้เชิญให้ข้าพเจ้าเข้ามีส่วนร่วมในการประชุมที่สำคัญในครั้งนี้ โดยข้าพเจ้าขอใช้โอกาสนี้ร่วมแสดงความยินดีกับ Mr. Carl Gershman อดีตประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National Endowment for Democracy, NED) แห่งสหรัฐฯ ที่ได้รับมอบ “รางวัลความกล้าหาญในหน้าที่ความรับผิดชอบระดับนานาชาติ” (The Courage to Take Responsibility) ที่จัดทำโดยการประชุม Forum 2000 Conference ขึ้นเป็นครั้งแรก
หลังจากที่เผชิญหน้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ระบอบเผด็จการยิ่งเกิดความเชื่อมั่นว่ารูปแบบที่พวกเขานำมาใช้สามารถรับมือกับความต้องการตามยุคสมัยได้ครอบคลุมกว่าระบอบประชาธิปไตย โดยระบอบเผด็จการต้องการที่จะทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อระบอบประชาธิปไตย ผ่านการดำเนินภารกิจต่างๆ ในพื้นที่สีเทา การข่มขู่ทางกำลังทหาร และการควบคุมระบบสารสนเทศ
ไต้หวันเป็นประเทศแนวหน้าที่ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายเหล่านี้อย่างไม่ทันตั้งตัว พวกเรามิได้หวั่นเกรง แต่กลับมุ่งมั่นในการสกัดกั้นภัยคุกคามเหล่านี้อย่างแข็งขัน
ไต้หวันพร้อมแล้วที่จะก้าวสู่การเป็นหุ้นส่วนที่ขาดไม่ได้ของภูมิภาคยุโรปในทุกภาคส่วน อาทิ การปฏิรูปด้านประชาธิปไตย เทคโนโลยีชีวภาพ พลังงานหมุนเวียน การคุ้มครองข้อมูล การจัดการกิจการทางทะเลและอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น
หลายปีมานี้ พวกเราได้กระตุ้นให้ EU และไต้หวัน เร่งลงนามความตกลงทวิภาคีด้านการลงทุน (BIA) ระหว่างกันโดยเร็ว เพื่อเสริมสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนบูรณาการค่านิยมร่วมเข้าไว้ด้วยกัน
ท้ายนี้ ข้าพเจ้าขอใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อมิตรสหายที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันที่มาจากทั่วทุกพื้นที่ในยุโรป โดยเฉพาะขอขอบคุณสาธารณรัฐลิทัวเนีย สาธารณรัฐโปแลนด์ สาธารณรัฐสโลวัก และสาธารณรัฐเช็ก ที่ได้ส่งมอบความช่วยเหลือให้ไต้หวันในยามที่พวกเราต้องการมากที่สุด
การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงทั่วโลก แม้ว่าจะยังมีความท้าทายรออยู่อีกมากมาย แต่ข้าพเจ้าประจักษ์เห็นถึงกลุ่มประเทศประชาธิปไตยที่ประสานความร่วมมือระหว่างกัน เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ตลอดจนรักษาค่านิยมร่วมของพวกเรา เพื่อเสริมสร้างความผาสุกให้เกิดแก่ประชาคมโลก
การประชุม “25 th Forum 2000 Conference” เป็นแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระดับโลกที่มีการจัดขึ้นเป็นประจำ ซึ่งร่วมจัดตั้งขึ้นโดย Mr. Václav Havel อดีตประธานาธิบดีของสาธารณรัฐเช็ก Mr. Elie Wiesel ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ และ Mr. Sasakawa Yohei ผู้มีจิตกุศลชาวญี่ปุ่น ในปี 1996 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือในประเด็นโอกาสและความท้าทายของระบอบประชาธิปไตย รวมถึงการปกป้องสิทธิมนุษยชนและกระตุ้นการพัฒนาประชาสังคมให้ก้าวไปข้างหน้า
การประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “สถานการณ์ปัจจุบันเป็นเช่นไร ฟื้นฟูประชาธิปไตย” (What Now? Building Back Democratically) โดยบุคคลสำคัญที่เข้าร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย Ms. Maia Sandu ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐมอลโดวา Mr. Miloš Vystrčil ประธานวุฒิสภาเช็ก เป็นต้น