วิธีการประชุมของแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษาจวินอีจะไม่นั่งหารือกันในห้องประชุม แต่จะมายืนล้อมระดมความคิดอยู่หน้ากระดานไวท์บอร์ด และนำกระดาษโน้ตมาใช้ในการแสดงความคิดเห็นและถกเถียงกัน
หลังจากเปิดตัวตั้งแต่ปี 2012 จนถึงปัจจุบัน แพลตฟอร์มเพื่อการศึกษาจวินอีได้นำเสนอวีดิทัศน์ฟรีเพื่อการเรียนการสอนแล้วมากกว่า 10,000 คลิป มีการออกแบบทดสอบที่สามารถโต้ตอบได้ 40,000 กว่าข้อ มีผู้ลงทะเบียนใช้งานมากกว่า 1.5 ล้านคน ในแต่ละเดือนมีผู้ล็อกอินเข้าใช้งานเพื่อทำการเรียนรู้อีกกว่า 200,000 ราย จากโรงเรียนระดับแนวหน้าไปจนถึงห้องเรียนในชนบทห่างไกล จากโรงเรียนกวดวิชาของเอกชนไปจนถึงห้องเรียนเสริมสำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคม การเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีไม่เพียงแต่จะพาเราเดินออกไปจากห้องเรียนและหนังสือเรียนเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อแนวทางและวิธีการเรียนการสอน เพราะสามารถส่งเสริมคนเรียนเก่งและช่วยเหลือคนเรียนอ่อนไปพร้อมๆ กันได้
เมื่อมาถึงโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นจื้อหมิน ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลย่วนหลี่ของเมืองเหมียวลี่ แม้จะเป็นห้องเรียนที่อยู่ในชนบทห่างไกล แต่ในมือของเด็กนักเรียนทุกคน ต่างก็มีแท็บเล็ตอยู่ในมือคนละเครื่อง ล็อกอินเข้าไปเรียนการสอนของจวินอี (Junyi Academy) พร้อมกับจดบันทึกไปด้วย
นี่คือแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษาจวินอีที่ร่วมมือกับกองการศึกษา เมืองเหมียวลี่ ในการสอนวิชาคณิตศาสตร์ด้วยรูปแบบ “เรียนพิเศษในชั้นเรียน” ตั้งแต่ปีค.ศ.2018 อาจารย์จางสูผิง (張淑萍) ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการของโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นจื้อหมินอธิบายว่า “การเรียนพิเศษในชั้นเรียน” หมายถึง ทางโรงเรียนจะทำการคัดเลือกนักเรียนใหม่จากชั้นม.1 ที่อ่อนวิชาคณิตศาสตร์ ให้มาเรียนในชั้นเรียนพิเศษ ในคาบวิชาคณิตศาสตร์ สิ่งที่แตกต่างจากห้องเรียนทั่วไปคือ ห้องเรียนห้องนี้จะมีบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตเป็นของตัวเอง ทำให้นักเรียนสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ เพื่อเรียนรู้จากแพลตฟอร์มของจวินอี ทำให้ห้องเรียนนี้ถูกเรียกว่าเป็น “ห้องเรียนจวินอี”
คาน อะคาเดมีแห่งไต้หวัน
แพลตฟอร์มเพื่อการศึกษาจวินอีถือกำเนิดขึ้นมาตามกระแสความนิยมในด้านการศึกษาผ่านช่องทางออนไลน์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเมื่อเปิดใช้งานเป็นครั้งแรกในปีค.ศ.2012 ผู้ก่อตั้งคือ คุณฟางซินโจว (方新舟) ประธานมูลนิธิเพื่อการศึกษาเฉิงจื้อ (Chengzhi Education Foundation) ซึ่งมีความคิดว่า “อยากจะทำอะไรที่สามารถช่วยเหลือภาคการศึกษาของไต้หวัน” จึงได้ขอลิขสิทธิ์จากแพลตฟอร์ม “คาน อะเคเดมี่” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษาออนไลน์ฟรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในการนำเนื้อหามาปรับเปลี่ยนเป็นภาษาจีน เพื่อเป็นแหล่งทรัพยากรทางการศึกษาแบบฟรีชั้นยอดสำหรับเหล่าอินเทอร์เน็ตเจเนอเรชัน
จวินอีได้กลายมาเป็นแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดสำหรับเหล่านักเรียนชั้นประถมและมัธยมต้นในไต้หวัน โดยผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ก็คือ หลวี่ก้วนเหว่ย (呂冠緯) ประธานและ CEO ของแพลตฟอร์มจวินอี ซึ่งได้รับฉายาว่าเป็น “คานแห่งไต้หวัน”
ตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยมปลาย เขาสอบได้ที่ 1 มาโดยตลอด และเข้าศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ด้วยคะแนนสอบที่สูงเป็นอันดับ 7 ของประเทศ ในปีค.ศ.2012 ขณะนั้นคุณหลวี่ก้วนเหว่ยกำลังเป็นแพทย์ฝึกหัด มีอยู่วันหนึ่ง ระหว่างที่นั่งรับประทานน้ำเต้าหู้พร้อมอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ในร้านน้ำเต้าหู้แห่งหนึ่ง ได้อ่านบทความที่ว่า “ครูสอนพิเศษตามบ้านที่บิล เกตส์ชื่นชอบที่สุด” ซึ่งก็คือเรื่องราวของซัลมาน คาน นักวิเคราะห์ของกองทุนบริหารความเสี่ยง และเป็นผู้ก่อตั้งคาน อะคาเดมี
เมื่อครั้งที่หลวี่ก้วนเหว่ยทำงานเป็นครูสอนพิเศษตามบ้านก็เคยพบว่า เมื่อนักเรียนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่รู้จะถามใคร หาอ่านจากหนังสือเรียนหรือหนังสือคู่มือก็ยังไม่เข้าใจ ทำให้การเรียนรู้ต้องหยุดชะงัก หลังได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของคาน จึงได้เริ่มใช้เวลาว่างจากการเรียนมาอัดคลิปสอนภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ก่อนจะอัปโหลดไว้บน Youtube ด้วยความหวังว่า นักเรียนที่มีความใฝ่รู้จะสามารถศึกษาด้วยตัวเองผ่านวีดิทัศน์ของเขาซ้ำแล้วซ้ำอีก ส่งผลให้สิ่งที่ได้เรียนรู้กลายเป็นความทรงจำในระยะยาว และถือเป็นการลดช่องว่างของความไม่เสมอภาคทางทรัพยากรด้านการศึกษา
การแบ่งปันด้วยจิตกุศลในครั้งนี้ทำให้คุณฟางซินโจว ประธานของจวินอี มีความสนใจเป็นอย่างมาก ในปีค.ศ.2013 คุณฟางซินโจว จึงชักชวนคุณหลวี่ก้วนเหว่ย ที่ขณะนั้นเพิ่งได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแพทย์ ให้มาเป็นอาจารย์ประจำของมูลนิธิ และหลังจากที่เขาได้เปรียบเทียบระหว่างความใฝ่ฝันกับโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว ในที่สุดคุณหลวี่ก้วนเหว่ย ก็เลือกที่จะเป็นคนล่าฝัน ค่อยๆ ทำให้ความฝันในการ “จัดเตรียมทรัพยากรทางการศึกษาให้ฟรีสำหรับทุกคน” กลายเป็นความจริง
@ใช้เทคโนโลยีทำลายกำแพงของห้องเรียน
หลังจากที่คุณหลวี่ก้วนเหว่ย ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานและ CEO ของมูลนิธิแพลตฟอร์มการศึกษาจวินอี ในเดือนธันวาคม ค.ศ.2017 ขณะที่คุณหลวี่ก้วนเหว่ยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของจวินอี ก็ยังคงทำตัวเหมือนเป็นคุณครู ด้วยการเขียนบนกระดานไวท์บอร์ดเป็นภาษาอังกฤษว่า “1. Smart Assistant 2. Training Coach 3. Policy Advocacy” ทำให้บรรยากาศในการสัมภาษณ์เหมือนกับกำลังชมวิดีโอการสอนเลยทีเดียว
คุณหลวี่ก้วนเหว่ยอธิบายเพิ่มเติมว่า “จวินอีได้ใช้เทคโนโลยี AI, Big Data และ Smart Software เพื่อสร้าง Smart Assistant (ผู้ช่วยอัจฉริยะ) มาเป็นเครื่องมือสำหรับช่วยในการเรียนการสอนของทั้งครูและนักเรียน ส่งผลให้ความรู้ที่อยู่บนกระดานดำในห้องเรียนจะยังคงอยู่และไม่หายไปหลังจากเลิกเรียน”
วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษของระดับประถมไปจนถึงมัธยมปลาย โดยมีเหล่าครูอาสาสมัครมาช่วยสอนและอัดเป็นวีดิทัศน์นับหมื่นคลิปและเปิดให้เรียนฟรี รวมถึงแบบฝึกหัดหลังจากดูคลิปจนจบแล้วด้วย
เมื่อมีครูสอนพิเศษฟรีออนไลน์แล้ว คุณหลวี่ก้วนเหว่ยยกตัวอย่างว่า เดิมทีมีเด็กนักเรียนชั้นป. 5 ในเถาหยวนคนหนึ่งสอบได้คะแนนไม่ค่อยดีจนถูกครูสงสัยว่าจะเป็นเด็กสมาธิสั้น จึงถูกคุณครูส่งไปเข้าเรียนกับแพลตฟอร์มจวินอี หลังจากนั้น 1 ปี นักเรียนคนนี้สามารถสอบวิชาคณิตศาสตร์ได้คะแนนสูงเป็นอันดับ 5 ของห้อง ทำให้ผู้ปกครองถึงกับต้องมาขอบคุณคุณครูถึงที่โรงเรียน พร้อมทั้งสอบถามว่า คุณครูเสกคาถาอะไร? แต่ที่จริงแล้วเป็นเพราะว่า เด็กรู้สึกว่าเนื้อหาของวิชาคณิตศาสตร์ระดับประถมศึกษาในห้องเรียนมันง่ายเกินไปจนรู้สึกเบื่อและไม่อยากทำความเข้าใจ แต่การเรียนกับแพลตฟอร์มจวินอีด้วยตนเองทำให้สามารถเรียนล่วงหน้าไปได้เรื่อยๆ ตามความต้องการ
“เทคโนโลยีช่วยเปิดโอกาสอย่างเต็มที่ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ไปตามจังหวะและความเร็วของตัวเอง ส่งผลให้ครูผู้สอนสามารถให้ความรู้แก่ผู้เรียนได้อย่างเหมาะสม” คุณหลวี่ก้วนเหว่ยย้ำ
เมื่อมีเทคโนโลยีอยู่เคียงข้าง พัฒนาจากจุด เป็นเส้น สู่ทั้งหมด
นอกจากนักเรียนจะสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองที่บ้านแล้ว ยังสนับสนุนให้ครูใช้เนื้อหาของจวินอีมาทำการสอนในโรงเรียนด้วย
“ดั่งที่หานอวี๋ (韓愈) กล่าวไว้ในบท “คุณครูสอนไว้” หรือ “ซือซัว” ว่า ผู้เป็นครู คือ ผู้ถ่ายทอดธรรม ให้ความรู้ แก้ข้อสงสัย ที่ผ่านมา คุณครูส่วนใหญ่จะเน้นที่การให้ความรู้ แพลตฟอร์มจวินอีจึงหวังว่าจะสามารถเข้ามาแทนที่บทบาทของคุณครูในด้านการให้ความรู้ เพื่อเปลี่ยนให้คุณครูกลายเป็นเทรนเนอร์ที่คอยให้คำชี้แนะอยู่เคียงข้าง ทำให้คุณครูมีเวลามากขึ้นที่จะถ่ายทอดธรรม ถ่ายทอดทัศนคติและวิธีการเรียนรู้ให้นักเรียน รวมทั้งช่วยแก้ข้อสงสัย คอยช่วยนักเรียนเมื่อพบกับปัญหาหรือมีอุปสรรคเกิดขึ้น”
หลวี่ก้วนเหว่ยไม่เคยลืมสิ่งที่ถูกสอนระหว่างที่ศึกษาในวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เขาบอกว่าคุณครูก็เหมือนคุณหมอ ที่สามารถวินิจฉัยและกำหนดแนวทางในชั้นเรียนได้ โดยสามารถนำข้อมูลจากจวินอีมาใช้ในการวิเคราะห์ เพื่อหาจุดอ่อนหรือสิ่งที่ขาดไปของนักเรียน ช่วยให้มีเวลามากขึ้นที่จะทำการแก้ไขหรือสร้างความแตกต่างในการเรียนการสอน รวมถึงจัดให้มีกิจกรรมสร้างเสริมประสบการณ์ เช่น เปิดโอกาสให้นักเรียนได้หารือกันตามหัวข้อต่างๆ หรือเปิดให้เรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL) โดยนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับการศึกษา และนี่ก็คือสิ่งที่เทคโนโลยีกับการเรียนรู้ได้เปลี่ยนแปลงภาพของห้องเรียนจากที่เคยเห็นในแบบดั้งเดิม ที่มิใช่ว่าครูจะเป็นผู้พูด และนักเรียนเป็นผู้ฟังเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป
ได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก Google
ในปี 2014 คุณหลวี่ก้วนเหว่ยที่ได้รับแรงบันดาลใจจากคาน อะคาเดมี ได้เดินทางไปสหรัฐฯ เพื่อพบกับซัลมาน คาน ไอดอลในดวงใจ โดยในการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศของแพลตฟอร์มจวินอี ได้เชิญ Mr. John Bergmann หนึ่งในผู้ก่อตั้งของ America’s Flipped Learning Network (FLN) และ Mr. Brian Greenberg ซึ่งเป็น CEO ของ Silicon Schools Fund ให้เดินทางมาเยือนไต้หวัน โดยหลังจากที่ผู้บุกเบิกการศึกษายุคใหม่ทั้ง 2 ท่านได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมการใช้งานแพลตฟอร์มจวินอีของโรงเรียนในชนบทห่างไกล และได้เห็นบรรยากาศการเรียนการสอนสำหรับกลุ่มนักเรียนที่มีแรงจูงใจในการเรียนต่ำแล้ว ต่างก็ยอมรับว่าไต้หวันถือเป็นผู้นำในด้านนวัตกรรมการศึกษาแห่งเอเชียเลยทีเดียว
ในปี 2018 แพลตฟอร์มจวินอีได้รับเลือกให้เป็นทีมงานชุดแรกของไต้หวันที่ Google.org ให้การสนับสนุนด้วยเงินสนับสนุนจำนวน 1 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ส่งผลให้แพลตฟอร์มจวินอีสามารถเร่งให้ความช่วยเหลือในด้านการเรียนการสอนแก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาสได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันได้มีการเลือกหน่วยงานด้านการเรียนการสอนขององค์กรการกุศลเอกชนมาเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กนักเรียนได้มากขึ้น โดยใช้การเรียนรู้ด้วยตัวเองของจวินอี
ยุคแห่งดิจิทัลของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง
สำหรับนักเรียนประถมจำนวนมากที่ใช้งานแพลตฟอร์มจวินอีแล้ว จวินอีก็คือซูเปอร์คอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่ง ที่สามารถให้ความรู้ ออกข้อสอบ คิดคะแนน หรือให้ตราประทับสะสม ซึ่งเบื้องหลังของ “คอมพิวเตอร์” ที่ว่านี้ จริงๆ แล้วเป็นผลสำเร็จที่มาจากกลุ่มคนหนุ่มสาวที่จบการศึกษาด้านวิศวกรในสาขาต่างๆ เช่น ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ซึ่งต่างก็ยอมละทิ้งเงินเดือนสูงๆ ในการทำงานกับบริษัทไฮเทค หันมาใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญของตัวเองมาทำงานในองค์กรไม่แสวงผลกำไร
นอกจากจะมีวีดิทัศน์การเรียนการสอนแล้ว การที่เว็บไซต์สามารถใช้งานและดำเนินการต่อไปได้ ก็ต้องมีวิศวกรซอฟต์แวร์จำนวนมากคอยทำงานอยู่เบื้องหลัง หลวี่ก้วนเหว่ยชี้ว่า วิศวกรผู้ออกแบบอินเตอร์เฟสในการนำข้อมูลของจวินอีมาใช้งาน ต้องมีความเชี่ยวชาญทางเทคนิคเป็นอย่างมาก และยังต้องให้ความสำคัญกับการศึกษา โดยจะต้องพยายามเต็มที่ในการเก็บรักษาและจัดการข้อมูล เพื่อให้ผู้ที่ไม่ใช่วิศวกรก็สามารถจะนำเอา Big Data มาวิเคราะห์ จึงทำให้จวินอีเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มจำนวนไม่มากที่สามารถให้คำแนะนำด้านนโยบายแก่ผู้บริหารของเมืองต่างๆ อย่างมีเสถียรภาพ จวินอีได้อาศัยเทคโนโลยี AI โดยหวังว่าในอนาคต จะสามารถช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถประเมินผลการเรียนของตนได้ล่วงหน้า ตามระดับความสามารถที่แตกต่างกัน สามารถแนะนำเป้าหมายที่เหมาะสมในการเรียนรู้ได้โดยอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอน
พิมพ์เขียวของจวินอีคือ “นำเทคโนโลยีมาหลอมรวมเข้ากับการเรียนรู้ส่วนบุคคล” ซึ่งคุณหลวี่ก้วนเหว่ยได้กล่าวถึงภาพแห่งอนาคตว่า “เด็กทุกคนจะกลายเป็นผู้ที่รักการเรียนรู้ไปตลอดชีวิต รวมถึงเด็กจากกลุ่มด้อยโอกาสและเด็กที่มีผลการเรียนระดับปานกลางถึงต่ำ ก็มีโอกาสได้เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต เพื่ออนาคตที่ดีต่อไป”