ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
การรถไฟไต้หวันกำลังปรับภูมิทัศน์ ก้าวสู่ความเป็นเส้นทางแห่งการฟื้นฟูสุนทรียศาสตร์
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2021-10-25

สถานีรถไฟซินเฉิงสร้างขึ้นราวกับพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ภายในจัดแสดงผลงานกระจกสีซึ่งมีต้นแบบมาจากภาพวาดหมึกจีนที่มีชื่อว่า The Beauty of Taroko National Park กับผลงานของ Labay Eyong ศิลปินผ้าทอชนพื้นเมือง ที่มีชื่อว่า Woven Path

สถานีรถไฟซินเฉิงสร้างขึ้นราวกับพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ภายในจัดแสดงผลงานกระจกสีซึ่งมีต้นแบบมาจากภาพวาดหมึกจีนที่มีชื่อว่า The Beauty of Taroko National Park กับผลงานของ Labay Eyong ศิลปินผ้าทอชนพื้นเมือง ที่มีชื่อว่า Woven Pathน
 

ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวขบวนรถไฟเพื่อการท่องเที่ยวเมื่อปีค.ศ.2019 หรือการเร่งซ่อมแซมและปรับปรุงภูมิทัศน์สถานีรถไฟตลอดเส้นทางสายฮัวเหลียน-ไถตง ตามโครงการ “สถานีรถไฟสายฮัวเหลียน-ไถตงรูปลักษณ์ใหม่” ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จลงเมื่อหลายปีก่อน ท่านจะพบว่า ภูมิทัศน์ของการรถไฟไต้หวัน (Taiwan Railways Administration : TRA) ที่อยู่เคียงข้างผู้โดยสารจำนวนมากมาย ทั้งคนทำงานแบบไปเช้า-เย็นกลับ และผู้ที่เดินทางออกจากภูมิลำเนาเดิม ตลอดจนนักท่องเที่ยว กำลังถูกปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง

 

รถไฟเคยเป็นยานพาหนะสำคัญสำหรับการเดินทางของผู้คนบนเกาะไต้หวัน ในขณะที่สถานีรถไฟซึ่งกระจายอยู่ตามหมู่บ้านและตำบลต่างๆ คือภูมิทัศน์ในภูมิลำเนาเดิมและเป็นแหล่งพักพิงทางจิตใจของผู้ที่ต้องจากบ้านเกิด มีคำกล่าวว่า จังหวะชีวิตที่ช้าลงอาจหมายถึงโอกาสที่เพิ่มขึ้น ขอเชิญทุกท่านมาชมทัศนียภาพบนเส้นทางรถไฟด้วยการท่องเที่ยวแบบ Slow travel และสัมผัสกับเรื่องราวใกล้ตัวที่ประสบพบเจอในระหว่างการเดินทางกัน

 

สถานีซินเฉิง : สถานีรถไฟที่สร้างขึ้นราวกับพิพิธภัณฑ์ศิลปะ

เจียงเล่อจิ้ง (姜樂靜) สถาปนิกหญิงซึ่งเกิดที่นครไทจง เป็นผู้ออกแบบสถานีรถไฟซินเฉิงที่ตั้งตระหง่านอยู่บนเส้นทางรถไฟสายฮัวเหลียน-ไถตง โดยสถานีรถไฟแห่งนี้ถือเป็นประตูสำคัญที่เปิดเข้าสู่พื้นที่ทางตอนเหนือของเมืองฮัวเหลียน เจียงเล่อจิ้งจึงใช้ “ประตู” มาเป็นธีมการออกแบบผลงานที่ส่งเข้าร่วมการประกวดแบบ เธอกล่าวว่า “นี่คือประตูที่ชาวตำบลซินเฉิงต้องผ่านเข้าออก ไม่ว่าจะเป็นคนที่จากบ้านไปหรือกลับบ้านมา และเป็นประตูที่นักเดินทางต้องผ่านก่อนที่จะเข้าสู่เขตแดนของเมืองฮัวเหลียน อีกทั้งยังเป็นประตูทางเข้าอุทยานแห่งชาติทาโรโกะ (Taroko National Park) อีกด้วย”

ขุนเขาและแม่น้ำลำธาร เป็นทิวทัศน์ตามธรรมชาติในเมืองฮัวเหลียนและไถตงที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งกำเนิดของงานศิลปะ เจียงเล่อจิ้งใฝ่ฝันที่จะสร้างสถานีรถไฟที่สวยงามราวกับพิพิธภัณฑ์ศิลปะบนดินแดนแห่งนี้ เธอนำเอาทัศนียภาพของดินดอนรูปตัว V ที่ปากแม่น้ำลี่อู้ กับหุบเขาทาโรโกะมาประกอบการออกแบบ และใช้โครงเหล็กขนาดใหญ่มาดัดให้คดงอเพื่อทำเป็นซุ้มประตูทางเข้าสถานีรถไฟ ซึ่งสอดรับกับทัศนียภาพของเทือกเขาจงยางที่อยู่เบื้องหลังได้อย่างเหมาะเจาะ ในยามที่อากาศแจ่มใสและท้องฟ้าเป็นสีคราม ภาพของซุ้มประตูทางเข้าสถานีรถไฟซินเฉิงจะแลดูยิ่งใหญ่อลังการ ปานประหนึ่งผลงานศิลปะที่ผุดขึ้นมาตั้งตระหง่านบนพื้นพิภพ

หากพิจารณาจากมโนภาพของสถานีรถไฟในยุโรปและสหรัฐอเมริกา เจียงเล่อจิ้งมีความเห็นเกี่ยวกับสถานีรถไฟว่า มีบริบทของ “ความเป็นแลนด์มาร์ก ความศักดิ์สิทธิ์ และความสำคัญ” การจะสร้างสถานีรถไฟให้สวยงามราวกับพิพิธภัณฑ์ศิลปะ เธอเสนอแนะว่า การรถไฟไต้หวันต้องเพิ่มความสำคัญกับศิลปะสาธารณะให้มากยิ่งขึ้น อันเป็นที่มาของการนำเอาภาพวาดหมึกจีนที่มีชื่อว่า ความงดงามของทาโรโกะ (The Beauty of Taroko National Park) ซึ่งเป็นผลงานในช่วงบั้นปลายชีวิตของหม่าไป๋สุ่ย (馬白水) จิตรกรภาพวาดหมึกจีนผู้ล่วงลับไปแล้ว มาเป็นต้นแบบให้แก่ศิลปินในการถ่ายทอดออกมาเป็นงานกระจกสี  แล้วนำไปแขวนไว้ในห้องโถงของสถานีรถไฟ ในยามที่แสงจากธรรมชาติสาดส่องเข้ามา ปานประหนึ่งธรรมชาติได้ร่วมขับกล่อมหุบเขาทาโรโกะแห่งนี้ทุกทิวาราตรี ตลอดปีทั้งสี่ฤดูกาล

นอกจากนี้ บนเพดานห้องโถงยังแขวนผลงานศิลปะของ Labay Eyong  ศิลปินผ้าทอ ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองเผ่าทาโรโกะที่ได้เชิญบรรดาหญิงทอผ้าที่เป็นชนพื้นเมืองของไต้หวันมาร่วมกันรังสรรค์ผลงานที่มีชื่อว่า Woven Path (織路) โดยใช้เส้นไหมพรมที่ได้จากการรื้อเสื้อไหมพรมตัวเก่าๆ แล้วม้วนไหมพรมเป็นก้อนๆ จากนั้นนำไปทอเป็นผ้าผืนใหม่ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการสานทอความรู้สึกผูกพันที่มีต่อถิ่นกำเนิดของพวกเธอ ผลงานศิลปะชิ้นนี้สะท้อนถึงความมีชีวิตชีวาและความคิดที่สร้างสรรค์ ซึ่งทำให้ผู้คนที่ผ่านไปมาต้องหยุดชะงักฝีเท้าเพื่อชื่นชมด้วยความตื่นตะลึง

 

สถานีฟู่หลี่ : สถาปัตยกรรมสีเขียวที่ผ่านเข้าสู่สายตาในแวบที่ 2

จางควงอี้ (張匡逸) และจางเจิ้งอวี๋ (張正瑜) สถาปนิกสองสามีภรรยาที่ปักหลักสร้างฐานอยู่ในเมืองอี๋หลาน ได้ร่วมกันออกแบบสถานีรถไฟฟู่หลี่ด้วยรูปทรงที่เรียบง่าย มีลักษณะคล้ายยุ้งข้าว ฝาผนังด้านนอกใช้สีเหลืองอ่อน ซึ่งได้กลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของฟู่หลี่

“ธรรมชาติในเมืองฮัวเหลียนและไถตงคือสิ่งที่ดึงดูดผู้คนมากที่สุด ดังนั้นเราจึงรู้สึกเสมอว่า สิ่งที่ผ่านเข้าสู่สายตาของคุณในแวบแรก ควรจะเป็นทัศนียภาพที่สวยงามในท้องถิ่น ส่วนในแวบที่ 2 จึงจะสังเกตเห็นสถาปัตยกรรมที่มีอยู่” ด้วยเหตุนี้เอง จางเจิ้งอวี๋จึงมักพูดแบบติดตลกอยู่เสมอว่า ผลงานการออกแบบของพวกเขาคือ “สถาปัตยกรรมที่ผ่านเข้าสู่สายตาในแวบที่ 2”

อันดับแรก สถาปนิกสองสามีภรรยาได้กำหนด “โทนสี” ที่จะใช้กับสถานีรถไฟแห่งนี้ จางเจิ้งอวี๋เล่าว่า “ในจินตนาการของเรา เราต้องการใช้โทนสีเหลืองเพื่อสะท้อนถึงความรู้สึกที่มีต่อผืนแผ่นดิน” และเพื่อให้สอดรับกับสีเหลืองอร่ามของรวงข้าวและดอกไม้จีนซึ่งเป็นผลผลิตเลื่องชื่อประจำถิ่น จึงใช้หินแกรนิตสีเหลืองมาทำเป็นผนังด้านนอกของตัวอาคาร เนื่องจากหินแกรนิตเป็นวัสดุจากธรรมชาติที่ระบายอากาศได้ดี และที่น่าอัศจรรย์คือ โทนสีจะเข้มขึ้นและอ่อนลงตามสภาพอากาศที่แปรเปลี่ยนไป

สิ่งที่บ่งบอกถึงแนวคิดในการออกแบบอันดับที่ 2 คือ “ความเรียบง่าย” เนื่องจากเข้าใจถึงปัญหาขาดแคลนแรงงานและสถานการณ์ในภาคการก่อสร้างของพื้นที่ในชนบทอย่างลึกซึ้ง จางควงอี้จึงเฝ้าครุ่นคิดว่า จะบริหารจัดการเรื่องการซ่อมบำรุงและความฟุ่มเฟือยพลังงานของสถานีรถไฟขนาดเล็กอย่างไร จึงจะสามารถลดรายจ่ายไม่ให้สูงเกินกว่ารายรับ การเลือกใช้โครง RC มาทำเป็นโครงสร้างอาคาร เพราะคำนึงถึงต้นทุน ความปลอดภัย และเทคนิคในการก่อสร้างควบคู่กันไป ด้านนอกฉาบเคลือบด้วยวัสดุหินโดยใช้กรรมวิธี Dry stone (การก่อหินขึ้นทีละก้อนและเข้าล็อกกันอย่างแน่นหนาตามธรรมชาติโดยไม่ต้องอาศัยปูนซีเมนต์) ระหว่างโครง RC กับวัสดุหินจะเหลือช่องอากาศเอาไว้ ทำให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันความร้อนอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและช่วยประหยัดพลังงาน นอกจากนี้ ยังได้สร้างความรู้สึกที่หลากหลายให้แก่ตัวอาคารโดยผ่านวิธีการเปิด หมุนและพลิก และนี่คือคำอธิบายเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายในการออกแบบของจางควงอี้
 

สถานีรถไฟฟู่หลี่ที่สวยคลาสสิกและเล็กกะทัดรัด เป็นที่ชื่นชอบของคนในท้องถิ่น และเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของตำบลฟู่หลี่อีกด้วย

สถานีรถไฟฟู่หลี่ที่สวยคลาสสิกและเล็กกะทัดรัด เป็นที่ชื่นชอบของคนในท้องถิ่น และเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของตำบลฟู่หลี่อีกด้วย
 

สถานีฉือซ่าง : สถานีรถไฟ ภายใต้คอนเซ็ปต์ ยุ้งข้าวแห่งแสง

ก้าวเข้าสู่เมืองไถตงเพื่อเดินทางไปยังตำบลฉือซ่าง สถานีรถไฟฉือซ่างถือเป็นจุดแวะพักกลางทางที่ใกล้ที่สุดสำหรับนักปีนเขาที่จะเดินทางต่อไปยังทะเลสาบเจียหมิง และสำหรับบรรดานักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปร่วมงานเทศกาลศิลปะการเก็บเกี่ยวข้าวในฤดูใบไม้ผลิแห่งฉือซ่าง (Chishang Autumn Harvest Festival) ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ก็จะต้องผ่านเข้าออกสถานีรถไฟแห่งนี้ ดังนั้น นอกจากเป็นประตูทางเข้าของผู้โดยสารแล้ว สถานีรถไฟยังเป็นความทรงจำที่มีต่อถิ่นกำเนิดของคนในท้องถิ่นอีกด้วย

กานหมิงหยวน (甘銘源) สถาปนิกประจำ D.Z. Architects and Associates ซึ่งรับผิดชอบในการออกแบบสถานีรถไฟฉือซ่างกล่าวว่า สถานีรถไฟนอกจากมีภารกิจในด้านการขนส่งแล้ว ยังเป็นสถานที่ที่ช่วยปลดปล่อยความรู้สึกที่เกิดจากการต้องบอกลาหรือแยกจากคนในครอบครัวอีกด้วย

เพราะเข้าใจถึงความต้องการของคนในท้องถิ่น กานหมิงหยวนจึงเลือกใช้บริบทที่เรียบง่ายแต่เข้าถึงความต้องการในชีวิตประจำวัน “ผมเสนอให้ใช้ “ยุ้งข้าว” มาเป็นคอนเซ็ปต์ในการออกแบบสถานีรถไฟ”

เนื่องจากไม่สามารถย้ายโรงซ่อมบำรุงรถไฟออกไปได้ ทำให้สถานีรถไฟฉือซ่างแห่งเดิมมีพื้นที่ใช้งานคับแคบเกินไป จากข้อจำกัดที่มีมาตั้งแต่แรกเริ่มนี้ ทำให้การรถไฟไต้หวันวางแผนจะย้ายสถานีรถไฟขึ้นไปทางตอนเหนือ แต่กานหมิงหยวนทราบดีว่า ไม่ควรเปลี่ยนแปลงศูนย์รวมแห่งวิถีชีวิตของผู้คนในตำบลเล็กๆ แห่งนี้ โดยไม่ได้ผ่านการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ มิฉะนั้นอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง เขาจึงได้เจรจาหารือกับการรถไฟไต้หวันและชาวบ้านในท้องถิ่น ซึ่งทุกฝ่ายต่างเข้าใจและเห็นพ้องกันว่า ควรสร้างสถานีรถไฟแห่งใหม่ขึ้นบนทำเลเดิม แต่ให้แก้ปัญหาข้อจำกัดเกี่ยวกับพื้นที่ใช้งานผ่านการออกแบบ กานหมิงหยวนจึงออกแบบให้ตัวสถานีล้อมรอบโรงซ่อมบำรุงเอาไว้ แต่เนื่องจากสถานที่ตั้งของโรงซ่อมบำรุง ทำให้ต้องต่อขยายชานชาลาให้ทอดยาวออกไปตามสภาพพื้นที่ นอกจากนี้ กานหมิงหยวนยังได้แก้ไขปัญหาระดับความสูงของชานชาลากับตัวอาคารสถานีรถไฟที่ต่างกันเกือบ 2 เมตร ด้วยการออกแบบทางเดินให้มีความลาดเอียงและต่อขยายให้ยาวขึ้น 

“โครงสร้างอาคารที่ทำจากไม้จะถ่ายทอดบรรยากาศที่อบอุ่นและกลิ่นอายแห่งวัฒนธรรมได้ง่ายกว่า” แต่กานหมิงหยวนเลือกวิธีการนำเสนอที่ต่างออกไป เสาและคานภายในตัวอาคารใช้โครงไม้มาประกอบเข้าด้วยกันเป็นรูปทรงโค้งประทุนคว่ำ คานไม้ที่พาดสลับกันไปมาในพื้นที่ว่างภายใต้กรอบโค้งมน เสมือนเป็นการเสริมสร้างลีลาแห่งท่วงทำนอง และเนื่องจากฝาผนังทำจากกระจก แสงและเงาภายในสถานีรถไฟแห่งนี้จึงหักเหไปมาตามตำแหน่งและการเคลื่อนตัวของดวงอาทิตย์

ในรัตติกาลที่ดึกสงัด รูปทรงภายนอกของสถานีรถไฟฉือซ่างท่ามกลางแสงไฟที่สะท้อนมาจากแหล่งอื่น แฝงไว้ด้วยกลิ่นอายแห่งเวทมนตร์ราวกับเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งโลกนิทานให้แก่ตำบลเล็กๆ ที่เป็นแหล่งผลิตข้าวคุณภาพดี และเป็นสถานที่ที่มีมนต์เสน่ห์ทุกเช้าค่ำ ไม่ว่าจะในที่ยามอากาศแจ่มใสหรือยามท้องฟ้ามืดครึ้มก็ตาม

 

ขบวนรถไฟเพื่อการท่องเที่ยว : สร้างคุณภาพให้แก่การท่องเที่ยวแบบ Slow travel

สถานีรถไฟเป็นทัศนียภาพที่หยุดนิ่ง แต่ขบวนรถไฟจะดึงทัศนียภาพที่กำลังเคลื่อนไหวเข้าสู่ภายในตู้โดยสาร

ชิวป๋อเหวิน (邱柏文) ผู้ก่อตั้ง J.C. Architecture เคยคว้ารางวัลใหญ่ๆ ในด้านการออกแบบทั้งจากในและต่างประเทศจำนวนมาก และกลับมาจากต่างประเทศได้สิบกว่าปีแล้ว เขาเล่าว่า การออกแบบสถานีรถไฟคือความฝันในวัยเด็กของเขา แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ การออกแบบและสุนทรียศาสตร์ของการรถไฟไต้หวันที่ย้อนแย้งกับยุคสมัยก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากทุกวงการ ในฐานะที่เป็นนักออกแบบ ชิวป๋อเหวินเฝ้าครุ่นคิดว่าเขาจะใช้ความรู้ความสามารถในด้านการออกแบบของตนเองมาช่วยการรถไฟไต้หวันเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง แต่เนื่องจากไม่รู้จักบุคคลสำคัญในการรถไฟไต้หวัน เขาจึงเขียนจดหมายแสดงเจตจำนง โดยระบุว่า วงการนักออกแบบยินดีให้ความช่วยเหลือ ซึ่งก็มีจดหมายตอบกลับมาจากอู๋ฮั่นจง (吳漢中) หนึ่งในสมาชิกของทีมที่ปรึกษาด้านสุนทรียศาสตร์ของการรถไฟไต้หวัน ซึ่งมีฉายาว่า CEO แห่งสุนทรียศาสตร์ สองสัปดาห์ถัดมา ชิวป๋อเหวินถูกเชิญให้ไปที่สำนักงานของการรถไฟไต้หวัน เพื่อเสนอโครงการขบวนรถไฟรอบเกาะ

ปลายปี 2019 ได้มีการเปิดตัวขบวนรถไฟเพื่อการท่องเที่ยวในรูปโฉมใหม่ โดยในการเปิดตัวครั้งใหม่นี้ ด้านนอกของตัวรถไฟใช้ 2 สี คือ สีดำกับสีส้ม โดยสีดำให้ความรู้สึกที่ลึกลับและทรงเกียรติ  อีกทั้งยังช่วยเสริมให้สีส้มซึ่งเป็นสีของขบวนรถไฟด่วนจวี๋กวงที่ชาวไต้หวันทุกคนจดจำได้ดี มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น

ชิวป๋อเหวินเปิดคอมพิวเตอร์เพื่อโชว์แบบร่างแผ่นหนึ่ง พร้อมอธิบายว่า “ผมได้รับแรงบันดาลใจมาจากความทรงจำที่เกี่ยวกับสีสันของไต้หวันที่ผมสัมผัสได้ในระหว่างที่อยู่บนรถไฟสายอาลีซาน เปรียบเสมือนสายลมในฤดูใบไม้ร่วงที่พัดโชยเข้าสู่ภายในตู้โดยสาร แล้วเวลาก็หยุดชะงักลงชั่วคราว ทุกอย่างหยุดนิ่งอยู่ภายในตู้รถไฟ ดังนั้นจึงเรียกว่า สายลมแห่งฤดูใบไม้ร่วง (Autumn Breeze)”

การตกแต่งภายในขบวนรถไฟสอดรับกับทัศนียภาพนอกหน้าต่าง ม่านหน้าต่างใช้ผ้าทอที่มีลวดลายรูปทรงเรขาคณิตทับซ้อนกันกลายเป็นภาพของเทือกเขา ซึ่งมีต้นแบบมาจากผลงานของ Yuma Taru ช่างหัตถศิลป์ที่เป็นชนพื้นเมือง ส่วนสีของเก้าอี้ใช้สีน้ำเงินและสีเทาซึ่งเป็นสีคนละเฉดกัน แต่สอดรับกับสีของท้องทะเลและโขดหิน “ผมพูดเสมอว่า ความจริงเราไม่ได้ทำอะไรเลย ผมแค่ดึงทัศนียภาพภายนอกเข้ามา แล้วก็จับทิวทัศน์ในฤดูกาลทั้งสี่เข้ามาด้วยเท่านั้นเอง”

ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างประสบการณ์อันละเอียดอ่อนให้กับประสาทสัมผัสทั้ง 5 และเป็นการทบทวนรูปแบบของการเดินทางท่องเที่ยว ชิวป๋อเหวินกล่าวว่า “กรณีนี้ก็คือ ใช้การออกแบบเพื่อก้าวข้ามกรอบจำกัดเดิม ทำให้รู้สึกเหมือนกับเป็นการทบทวนรูปแบบการท่องเที่ยวแบบ Slow travel กันใหม่”

จากพลังแห่งการออกแบบทำให้การรถไฟไต้หวันที่มีประวัติเก่าแก่ 133 ปี กำลังเร่งปรับปรุงแก้ไขและสร้างโอกาสใหม่ๆ รถไฟทุกขบวนและสถานีรถไฟทุกแห่ง ต่างบอกเล่าเรื่องราวของไต้หวันที่ล้วนสัมผัสได้ถึงความจริงและความงดงามของไต้หวัน ขอให้รีบค้นหาคนที่ใช่ แล้วก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน พร้อมๆ กับภูมิทัศน์ของการรถไฟไต้หวันที่กำลังแปรเปลี่ยนไป