กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 30 ต.ค. 64
เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตอบรับคำเชิญของสหภาพรัฐสภาของกลุ่มพันธมิตรจีน (Inter-Parliamentary Alliance on China, IPAC) ในการเข้าร่วมการประชุมประจำปีที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกของ IPAC ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
รมว.อู๋ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐสภายุโรปได้มีมติเห็นชอบต่อ “รายงานความร่วมมือและความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างไต้หวัน - EU” (EU-Taiwan Political Relations and Cooperation) ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุนที่สูงเป็นเอกฉันท์ โดยรายงานฉบับนี้ได้เสนอให้ EU เสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านการเมืองระหว่างไต้หวัน – EU รวมถึงสร้างความร่วมมือกับประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เพื่อร่วมกันกระตุ้นให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพในพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน พร้อมทั้งให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมในกิจการระหว่างประเทศ โดยสมาชิกของ IPAC จำนวนหลายรายที่ร่วมลงคะแนนเห็นชอบในญัตติข้างต้นนี้ด้วย เห็นได้ชัดว่า IPAC เป็นหนึ่งในองค์กรที่ทำให้สังคมโลกมีความตื่นตัวมากขึ้นต่อความท้าทายที่เกิดจากการแผ่ขยายอำนาจของระบอบเผด็จการ
รมว.อู๋ฯ ชี้ว่า การที่ไต้หวันอยู่ในแนวหน้าของการเผชิญหน้ากับความท้าทายดังกล่วา ทำให้รู้สึกได้อย่างลึกซึ้ง เฉพาะในเดือนตุลาคม มีเครื่องบินทหารของจีนรุกล้ำเข้าสู่เขตน่านฟ้าของไต้หวัน 4 วันติดต่อกันคิดเป็นจำนวนรวมมากถึง 149 ลำ และพร้อมทำสถิติใหม่ที่เครื่องบินรบจีนรุกล้ำเขตน่านฟ้าไต้หวัน รวม 56 ลำภายในวันเดียว
เมื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายข้างต้น ไต้หวันไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป เนื่องจากประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ เช่น สาธารณรัฐลิทัวเนีย และสาธารณรัฐเช็ก ต่างก็เผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากจีน โดยรัฐบาลจีนยั่วยุให้เกิดความขัดแย้งกับกลุ่มประเทศประชาธิปไตยซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อหันเหความสนใจของประชาคมโลกไปจากประเด็นเกี่ยวกับแหล่งที่มาของการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 หรือแม้กระทั่งการโฆษณาชวนเชื่อว่า ระบอบเผด็จการดีกว่าระบอบประชาธิปไตย
รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า ประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกควรสามัคคีกัน เฉกเช่นที่ Mr. Gabrielius Landsbergis รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐลิทัวเนีย ได้กล่าวไว้ว่า “ประเทศที่ยึดมั่นในค่านิยมด้านเสรีภาพ ควรให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” ไต้หวันจึงขอใช้โอกาสนี้ขอบคุณสหรัฐฯ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐสโลวัก สาธารณรัฐเช็ก สาธารณรัฐลิทัวเนียและสาธารณรัฐโปแลนด์ ที่ต่างทยอยบริจาควัคซีนให้กับไต้หวัน โดยไต้หวันจะยึดมั่นในจิตวิญญาณแห่งความสามัคคี ในการให้การสนับสนุนกลุ่มประเทศในภูมิภาคยุโรป และมิตรประเทศแห่งประชาธิปไตยทั่วโลกต่อไป
ในระหว่างการประชุม สมาชิกสำคัญของกลุ่ม IPAC ร่วมพูดคุยหารือกับรมว.อู๋ฯ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในประเด็นต่างๆ อาทิ การคุกคามจากจีน ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน รวมทั้งสันติภาพและเสถียรภาพในพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน พร้อมนี้ ยังได้แสดงความห่วงใยต่อความท้าทายที่รัฐบาลจีนสร้างแรงกดดันต่อกลุ่มประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก และเรียกร้องให้ประเทศประชาธิปไตยที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ร่วมให้การสนับสนุนไต้หวัน ซึ่งรวมไปถึงการเข้ามีส่วนร่วมในองค์การอนามัยโลก (WHO) ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ IPAC เป็นกลุ่มพันธมิตรที่เกิดจากการรวมตัวกันระหว่างสมาชิกรัฐสภาใน 5 ทวีปทั่วโลก โดยได้ร่วมแสดงความห่วงใยต่อความท้าทายที่รัฐบาลจีนกระทำต่อประชาธิปไตยและเสรีภาพทั่วโลก ซึ่งตั้งแต่ถูกก่อตั้งขึ้น IPAC ได้ให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างเป็นรูปธรรมมาแล้วหลายครั้งด้วยกัน