ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
กระท่อมดิน DoGood House สถานศึกษานอกกรอบของเหอจวิ้นเสียน
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2021-11-08

DoGood House

 

ริมทางหลวงต้านจิน ซึ่งเป็นทางหลวงเชื่อมระหว่างต้านสุ่ยกับจินซาน ในนครนิวไทเป มีรถราวิ่งผ่านฉลุยบริเวณชายหาดเที่ยวสือ มีกระท่อมดินสีทะเลทรายคล้ายรังมด ตั้งเด่นสะดุดตาผู้คน ไม่ใช่ร้านกาแฟ และไม่ใช่เกสต์เฮาส์ หากมองจากด้านบน ก็คล้ายกับเต่าทะเลที่ยืนอยู่บนชายหาด เจ้าของกระท่อมดินหลังนี้ก็คือคุณเหอจวิ้นเสียน (何俊賢) ตั้งชื่อกระท่อมหลังนี้ว่า “ตู้กูอู” (度咕屋) หรือ กระท่อมดินตู้กู (DoGoodHouse)

เสียงคล้ายในภาษาไต้หวัน “ตู้กู” ที่แปลว่า “สัปหงก” ทำให้ผู้คนผ่อนคลาย สบายใจ และเหมือนเสียงในภาษาอังกฤษคำว่า “DoGoodHouse” จึงถูกมอบหมายภารกิจให้ต้องทำดี หรือ do something good

 

ไม่เหมือนสิ่งปลูกสร้างทั่วไปที่มีมุมเหลี่ยมค่อนข้างชัดเจนหรือเกลี้ยงเกลาเป็นเงา ตู้กูอูมีโครงสร้างเป็นรูปโค้ง หน้าต่างเป็นรูปพัด สร้างความรู้สึกตื่นตาตื่นใจเมื่อได้สัมผัสกับความขรุขระบนพื้นผิวผนังกำแพงของกระท่อมดิน 

ในปีค.ศ.2008 เหอจวิ้นเสียน (何俊賢) เจ้าของกระท่อมดินได้นำนักเรียนจากโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายเจี้ยนจง และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ร่วมกับพี่น้องเกษตรกรในบริเวณนั้นสร้างกระท่อมดินแห่งนี้ขึ้น ใช้เวลาประมาณ 3 เดือนก็แล้วเสร็จ ไม่มีเครื่องปรับอากาศ แต่ภายในกระท่อมเย็นสบายในยามหน้าร้อน และอุ่นในยามหนาว จนคว้ารางวัลสิ่งปลูกสร้างสีเขียวอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอันดับ 1 ของไต้หวัน ในฐานะชาวบ้านธรรมดาๆ คนหนึ่งเท่านั้น

 

สื่อสารกับเทพยดาฟ้าดิน

เหอจวิ้นเสียนเกิดในครอบครัวยากจน ต้องต่อสู้ร่ำเรียนด้วยความยากลำบากมาตั้งแต่วัยเด็ก และประสบความสำเร็จจนจบปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมศาสตร์และสมุทรศาสตร์ (Engineering Science and Ocean Engineering) จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน หลังจบการศึกษาก็เข้าสู่วงการกวดวิชา มีบุตรสาว 2 คน ก้าวสู่ความสำเร็จในชีวิตที่ผู้คนทั่วไปจำนวนไม่น้อยฝันใฝ่

“ชีวิตของคนเรามีเพียงการหาเงิน แล้วก็หาเงินอยู่ตลอดเวลาอย่างไม่หยุดหย่อนกระนั้นหรือ?” ตอนนั้น เขาควรที่จะก้าวเข้าสู่ “วัยกลางคน” โดยไม่มีอะไรที่ต้องพะวักพะวนก่อนวัยที่เรียกว่า “วิกฤตวัยกลางคน” จะมาถึง

จนกระทั่งเพื่อนของเขาได้มาปรับทุกข์กับเขาว่า “ทำไมต้องใช้เวลามากมายไปหาเงินที่ตัวเองก็ไม่ได้ใช้ด้วยเล่า?” ทำให้เขาฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า “หากเราเหลือชีวิตอีกเพียง 1 ปีเท่านั้น มีอะไรที่สำคัญที่สุดในชีวิต?”

“สุขภาพของครอบครัว” นี่คือคำตอบที่ผุดขึ้นมา

เพราะฉะนั้น เขาซึ่งชอบบรรยากาศชายฝั่งทะเลภาคเหนือของไต้หวัน จึงซื้อที่ดินไว้ผืนหนึ่งและตัดสินใจลงแรงเพาะปลูกเพื่อเป็นอาหารสุขภาพให้แก่ครอบครัว แต่ก็ไม่คาดคิดว่าจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่ง “การสื่อสารไร้เสียงกับเทพยดาฟ้าดิน”

 

เปลี่ยนมูลทะเลให้เป็น “สิ่งที่ใช้ประโยชน์ได้”

ในฐานะผู้ไร้ความรู้เกี่ยวกับเกษตรกรรม เหอจวิ้นเสียนเล่าให้ฟังอย่างตรงไปตรงมาว่า ตอนแรกเขาก็ปลูกไปตามเรื่องตามราวโดยไม่มีความรู้อะไร ต่อมาจึงเปลี่ยนมาใช้วิธีการเพาะปลูกแบบ “แซนด์วิช” ซึ่งก็คือชั้นที่หนึ่งจะเป็นดินอินทรีย์ ชั้นที่ 2 เป็นพวกเปลือกข้าวหรือเปลือกเมล็ดต่างๆ กับเศษอาหาร และอีกชั้นเป็นดินอินทรีย์ โดยใช้เศษอาหารเป็นปุ๋ยหมักแถมยังไม่มีกลิ่นด้วย เหมาะที่จะเป็นสวนผักในเมืองอย่างมาก

นอกจากนี้ เขายังสังเกตเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของขยะที่ริมชายหาด ในระยะแรกเป็นขยะที่เกิดจากในไต้หวันเอง แต่ต่อมาก็เป็นขยะที่ถูกพัดมาจากมณฑลชายฝั่งของจีนแผ่นดินใหญ่ ในฐานะที่เขามีภูมิหลังของวิศวกร ทุกอย่างต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เมื่อเจอปัญหาก็ยิ่งต้องหาทางแก้ปัญหา ขยะมันก็คือขยะ “ควรที่จะทำให้ขยะที่ทำลายโลกกลายเป็นสิ่งที่สร้างคุณประโยชน์ให้แก่โลก” เหอจวิ้นเสียนปิ๊งไอเดียนี้ขึ้น โดยเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นสิ่งที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ จึงจะเป็นสิ่งที่ยั่งยืน ขยะใหญ่น้อยลอยอยู่ริมชายฝั่ง มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ เมื่อเอามาแปรรูปสักหน่อย ตกแต่งให้เป็นโคมไฟรูปร่างสวยหรู หรือกล่องลำโพง ที่ดึงดูดเจ้าของแกลเลอรีให้สนใจที่จะร่วมมือกับเขาในการนำสิ่งของแปรรูปเหล่านี้ไปวางจำหน่าย

ขยะโฟมจำนวนมหาศาล ทำให้เขาเกิดไอเดียขึ้นมาอีก เขานำเอากล่องโฟมขยะเหล่านี้มาออกแบบเป็นลังใส่ผัก ชั้นล่างใส่น้ำไว้หล่อเลี้ยงผักที่ปลูกไว้ด้านบน วางสลับกันไป แล้วใช้เชือกพลาสติกมัดเข้าไว้ด้วยกัน อาศัยรูเล็กๆ ของโฟมเป็นตัวปรับการรับน้ำ ให้พืชผักที่ปลูกเติบโตขึ้นเหมือนกับเติบโตในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ และใช้ “น้ำธรรมชาติ” หล่อเลี้ยงได้โดยไม่ต้องรดน้ำอีก

 

ใช้ความรู้จากตำรา ประยุกต์สร้างบ้านธรรมชาติ

เพราะต้องทำงานใช้แรงงานในสวนเป็นเวลานาน ทำให้เหอจวิ้นเสียนคิดที่จะสร้างกระท่อมกลางไร่ขึ้นสักหลัง “เรียนหนังสือไปมีประโยชน์อะไร?” สิ่งที่โรงเรียนไม่มีคำตอบให้ ก็ใช้กระท่อมหลังนี้มาอธิบายให้แจ่มแจ้งก็แล้วกัน

เขาตัดสินใจสร้างกระท่อมหลังคารูปโค้งขึ้น จนดูเหมือนเป็นเส้นกราฟของสมการกำลังสองในวิชาคณิตศาสตร์ชั้นมัธยม รูปร่างสิ่งปลูกสร้างแบบดั้งเดิมนี้ ก็คล้ายกับบ้านน้ำแข็งของชาวเอสกิโม ทนลมพายุไต้ฝุ่นถึงระดับ 17 และยังทนขนาดแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้ถึงระดับ 8 ทีเดียว

ในวันเดียวกับที่พวกเราไปเยี่ยมชม อากาศภายนอกร้อนมาก อุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส สมาชิกที่ไปด้วยกันต่างรีบเข้าไปหลบร้อนในอาคาร

ความลับแห่งการประหยัดพลังงานของกระท่อมหลังนี้ ก็คือใช้หลักทฤษฎีฟิสิกส์ระดับมัธยมต้นก็สามารถอธิบายให้เข้าใจได้อย่างชัดเจนแล้ว เหอจวิ้นเสียนเล่าให้ฟังว่า ประการแรกก็คือไม่ได้ใช้คอนกรีตเสริมเหล็กเหมือนสิ่งปลูกสร้างทั่วไป แต่ใช้ดินรีไซเคิลที่มีส่วนผสมของทรายซึ่งมีประสิทธิภาพในการกันความร้อนได้ดี นอกจากนี้ ส่วนบนกับส่วนล่างของอาคารได้เพิ่มช่องให้อากาศถ่ายเทเป็นจำนวนมาก ลมที่พัดผ่านต้นหญ้านอกอาคารซึ่งช่วยระบายความร้อนไหลเวียนเข้าสู่ในอาคาร อากาศร้อนจะลอยตัวขึ้นด้านบน ก่อนจะระบายออกสู่ภายนอก ขณะเดียวกัน ช่องลมทางตะวันตกเฉียงใต้ยังสามารถรับลมฤดูร้อนจากทิศตะวันตกเฉียงใต้เข้ามาและกั้นลมหนาวจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือได้อีกด้วย

ในแง่ของเทคนิคการปลูกสร้าง เขาเลือกใช้รูปแบบการก่อสร้างโดยก่อขึ้นไปเป็นชั้นๆ เป็นรูปโค้ง แล้วทาสีนาโนที่มีคุณสมบัติเป็นน้ำและมีรูพรุนจำนวนมาก เพื่อให้ไอน้ำและอากาศร้อนสามารถระบายออกได้ง่าย ส่วนชั้นนอกสุดเคลือบด้วยวัสดุเงาอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นน้ำมันและมูลสัตว์ที่สามารถสลายตัวได้ตามธรรมชาติ ทำให้แม้เวลาจะผ่านไปนานถึง 12 ปี แต่ก็ยังดูใหม่อยู่เสมอ

 

ประยุกต์ทฤษฎีคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี
สู่ชีวิตจริง

ห้วงเวลาแห่งการทำความสะอาดชายหาดได้ช่วยให้ เหอจวิ้นเสียนฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจได้ด้วยตนเอง แม้จะทำความสะอาดชายหาดซ้ำๆ วันแล้ววันเล่า เหมือนกับเป็นเครื่องจักร แต่ก็ใช้ช่วงเวลาดังกล่าวปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง จิตใจแข็งกระด้างของเขาจึงเริ่มเปิดกว้างรับวิธีคิดใหม่ๆ ทำให้แนวคิดใหม่ๆ กระฉูดออกมาอย่างต่อเนื่อง

“หากผมคิดถึงแต่ตัวเอง ก็เท่ากับว่าผมก็คือโลกใบนี้ทั้งใบ 100% แต่เมื่อผมไปทำในสิ่งที่ไม่ใช่เพื่อตัวผมเพียงคนเดียวแล้ว แม้ผมจะไม่พอใจนัก ซึ่งอาจมีเพียง 1% เท่านั้น แต่ถ้ามันทำให้คนที่ผมห่วงใยพอใจ ผมก็จะรู้สึกมีความสุขเพราะพวกเขามีความสุข”

กระท่อมดิน “DoGoodHouse” ในวันนี้ มิได้เป็นเพียง “กระท่อมปลายนา” เท่านั้น แต่เป็นเสมือนดินแดนแห่งความฝันในอุดมการณ์ “อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อาคารเขียว เกษตรกรรมยุคใหม่” เมื่อ 6 ปีก่อน เขาเกลี้ยกล่อมสมาชิกในครอบครัวให้ขายบริษัท แล้วทุ่มเทให้กับอนาคตใหม่แห่งชีวิตของตนในปัจจุบันอย่างสุดตัว

แม้จะอำลาจากวงการการศึกษามาแล้ว แต่ในฐานะความเป็นครู การเอาใจใส่ต่อนักเรียนของเขาไม่เคยลดน้อยลงแม้แต่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเขาเห็นว่าในสังคมเห็นแต่ผลประโยชน์เป็นสำคัญ แม้จะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยวัตถุ แต่จิตใจของผู้คนกลับป่วยยากจนด้วยน้ำใจ ดังนั้น เขาจึงเริ่มอาศัยงานในปัจจุบันของเขามาสอนนักเรียนในห้องเรียน สอนในสิ่งที่ครูในโรงเรียนไม่ได้สอน ไม่ใช่วิชาภาษาจีน ภาษาอังกฤษ หรือวิชาคณิตศาสตร์ แต่เป็นการให้การศึกษาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมใกล้ตัว และปรัชญาในการใช้ชีวิต

เมื่อออกจากห้องเรียน ก้าวออกจากหน้าชั้นเรียน เขาก็เสมือนกับที่โบราณว่าไว้ “ครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ ขจัดข้อสงสัยทุกประการ”

 

การเรียนนอกกรอบนอกห้องเรียน

หลังบ่ายของอีกวัน เราตามคุณเหอจวิ้นเสียนไปยังโรงเรียนประถมศึกษาป๋ออ้ายที่ตั้งอยู่ข้างอาคารไทเป 101 ในย่านธุรกิจชื่อดังกลางกรุงไทเป ปิดเทอมภาคฤดูร้อนปีนี้เขามีภารกิจมาก อาศัยช่วงที่เด็กๆ ปิดเทอม ทำกิจกรรมขนาดย่อมพร้อมๆ กันใน 3 โรงเรียน

เมื่อพวกเราขึ้นไปบนชั้น 3 ก็พบพื้นที่สีเขียว เป็นระเบียงเชื่อมต่ออาคาร 2 อาคารเข้าด้วยกัน เดิมเป็นที่ว่างที่ถูกแสงแดดแผดเผาจนร้อนระอุ แต่ตอนนี้เขาได้ออกแบบเป็นสวนหย่อมลอยฟ้าที่สวยงามร่มรื่น 

ด้านหนึ่งปูด้วยหญ้าเหนือพื้นเล็กน้อย ความเขียวขจีของหญ้าทำให้มีความรู้สึกเสมือนเขาที่อยู่ข้างๆ ส่วนอีกด้านเรียงรายไปด้วยลังปลูกพืชผัก 3 ลัง ลังไม้เรียงสูงๆ ต่ำๆ เสมือนอาคารใหญ่น้อยเรียงราย พืชผักที่ปลูกอยู่ภายในก็จะเปลี่ยนไปตามฤดูกาล เติบใหญ่ขึ้น โดยใช้ลังที่ออกแบบไว้ อาศัยแต่น้ำฝนอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องให้คนไปรดน้ำ

ส่วนโรงเรียนประถมศึกษาเหอผิงที่ตั้งอยู่อีกมุมเมืองหนึ่ง ในเขตสือติ้ง ชานเมืองไทเป แหล่งน้ำในโรงเรียนก็มีการออกแบบด้วยทฤษฎีใหม่ น้ำแร่ธรรมชาติกับน้ำเสียจากการล้างมือของเด็กนักเรียนถูกปล่อยให้ไหลลงไปในบ่อนิเวศที่ผ่านการกรองด้วยพืชน้ำและอากาศ กลายเป็นแหล่งน้ำสะอาด นอกจากใช้เป็นน้ำให้เด็กๆ ได้เล่นน้ำแล้ว ยังเอามาเป็นน้ำในระบบชลประทานของนาขั้นบันไดได้อีกด้วย

การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อาหารเกษตร และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ถูกนำมาผสมผสานในรายละเอียดของการออกแบบทั้งหมด เหอจวิ้นเสียนเล่าให้ฟังว่า “วิธีนี้สามารถถ่ายทอดแนวความคิดให้แก่เด็กๆ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องอธิบายเหตุผลอะไรมากมายนัก”

แม้ในปัจจุบัน เหอจวิ้นเสียนจะเกษียณอายุแล้ว แต่ก็ไม่หยุดทำงาน เขาอาศัยโรงเรียนเป็นจุดขับเคลื่อนแนวความคิดตามอุดมการณ์ของตน แม้จะต้องตระเวนไปตามที่ต่างๆ ด้วยความเหน็ดเหนื่อยก็ตาม แต่เมื่อได้พูดถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กๆ แล้ว ก็จะมีชีวิตชีวาขึ้นมาทันที ในตอนนี้ เขาได้ค้นพบความสุขภายในใจตามที่ต้องการแล้ว