สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง วันที่ 3 พ.ย. 64
เพื่อบูรณาการทรัพยากรในพื้นที่พร้อมส่งมอบเครือข่ายการให้บริการแก่กลุ่มผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ หน่วยบริการประจำเมืองหยุนหลิน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) สาขาภาคใต้ ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงมหาดไทย สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จึงได้มีการจัด “การประชุมว่าด้วยเครือข่ายการให้บริการแก่กลุ่มผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ปี 2021” ขึ้นเมื่อวันที่ 3 พ.ย. โดยได้เชิญหน่วยงานรัฐบาล สมาคมกฎหมายและภาคการศึกษา รวมถึงองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ เข้าร่วมการประชุม
โดยอันดับแรก หน่วยบริการประจำเมืองหยุนหลินได้ประชาสัมพันธ์ให้คณะทำงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบถึงเงื่อนไขและวิธีการยื่นขอคูปองกระตุ้นเศรษฐกิจ 5 เท่า พร้อมเรียกร้องให้ประชาชนตระหนักเห็นถึงความสำคัญของการป้องกันการนำเข้าเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) นอกจากนี้ ยังได้ประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงความคืบหน้าของโครงการที่สตม. ได้ทำการเร่งผลักดันเมื่อช่วงที่ผ่านมา อาทิ “โครงการสานฝันสำหรับกลุ่มผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และบุตรธิดา ครั้งที่ 8” “กลไกการยืมอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารเพื่อสร้างหลักประกันในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสำหรับกลุ่มผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่” และกิจกรรมทางวัฒนธรรมในเทศกาลผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ภายใต้หัวข้อ “ประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ประสานความร่วมมือก้าวไปข้างหน้า” ที่เตรียมจะเปิดฉากขึ้นในวันที่ 12 ธ.ค. นี้ ซึ่งหน่วยงานเจ้าภาพได้เชิญชวนให้ทุกคนเข้ามีส่วนร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ นอกจากนี้ ยังได้เชิญเจ้าหน้าที่มูลนิธิ Legal Aid Foundation เข้าร่วมแบ่งปันทิศทางและภารกิจหลักของมูลนิธิ ซึ่งนอกจากจะส่งมอบทรัพยากรด้านการแปลภาษา และหลักสูตรบ่มเพาะล่ามแล้ว ยังเสนอความช่วยเหลือในการเขียนคำร้องทางกฎหมาย หรือยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาล ให้แก่กลุ่มผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่เป็นกลุ่มด้อยโอกาสหรือไม่มีกำลังทรัพย์ในการดำเนินคดีความทางกฎหมายอีกด้วย
หน่วยบริการประจำเมืองหยุนหลิน ระบุว่า เนื่องจากในปีนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ยังค่อนข้างรุนแรง ส่งผลให้เศรษฐกิจของครอบครัวผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ได้รับผลกระทบอย่างมิสามารถเลี่ยงได้ การประชุมเครือข่ายการให้บริการแก่ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ จึงได้จัดตั้งแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานรัฐบาลและองค์การนอกภาครัฐ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจและเห็นพ้องตรงกัน ขณะเดียวกัน ก็เป็นการบูรณาการทรัพยากรและกลไกการให้ความช่วยเหลือเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อส่งมอบการบริการที่ครอบคลุมให้กับกลุ่มผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ประสบกับปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินชีวิตในไต้หวันต่อไป