ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ไต้หวัน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อังกฤษและสโลวัก ร่วมกันจัดการประชุมนานาชาติแบบออนไลน์ ภายใต้กรอบความร่วมมือ GCTF ในประเด็น “ปลูกฝังทักษะการรู้เท่าทันสื่อของพลเมืองเพื่อปกป้องประชาธิปไตย ครั้งที่ 3”
2021-11-10
New Southbound Policy。ไต้หวัน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อังกฤษและสโลวัก ร่วมกันจัดการประชุมนานาชาติแบบออนไลน์ ภายใต้กรอบความร่วมมือ GCTF ในประเด็น “ปลูกฝังทักษะการรู้เท่าทันสื่อของพลเมืองเพื่อปกป้องประชาธิปไตย ครั้งที่ 3” (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
ไต้หวัน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อังกฤษและสโลวัก ร่วมกันจัดการประชุมนานาชาติแบบออนไลน์ ภายใต้กรอบความร่วมมือ GCTF ในประเด็น “ปลูกฝังทักษะการรู้เท่าทันสื่อของพลเมืองเพื่อปกป้องประชาธิปไตย ครั้งที่ 3” (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 9 พ.ย. 64
 
เพื่อปลูกฝังทักษะการรู้เท่าทันสื่อของพลเมือง พร้อมขยายความร่วมมือกับประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ตลอดจนร่วมต่อต้านข่าวปลอม เพื่อปกป้องค่านิยมประชาธิปไตย กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) มูลนิธิส่งเสริมประชาธิปไตยของไต้หวัน สถาบันอเมริกาในไต้หวัน สำนักงานไทเป (AIT/T) สมาคมแลกเปลี่ยนระหว่างญี่ปุ่น – ไต้หวัน สำนักงานตัวแทนอังกฤษในไทเป และสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมสโลวักในไทเป จึงร่วมกันจัดการประชุมนานาชาติแบบออนไลน์ ภายใต้กรอบความร่วมมือ Global Cooperation and Training Framework (GCTF) ในประเด็น “ปลูกฝังทักษะการรู้เท่าทันสื่อของพลเมืองเพื่อปกป้องประชาธิปไตย ครั้งที่ 3” (2021 GCTF Virtual Conference on Defending Democracy Through Media Literacy III) ระหว่างวันที่ 9 -10 พ.ย.ซึ่งนี่เป็นครั้งที่ 3 ที่ได้มีการจัดการประชุมในประเด็นข้างต้น นับตั้งแต่ที่มีการจัดตั้งกรอบ GCTF เป็นต้นมา
 
โดยในระหว่างการประชุม นายหยิวสีคุน ประธานสภานิติบัญญัติและประธานมูลนิธิส่งเสริมประชาธิปไตยของไต้หวัน นายเจิงโห้วเหริน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไต้หวัน Ms. Sandra OUDKIRK ผู้อำนวยการใหญ่สถาบันอเมริกาในไต้หวัน สำนักงานไทเป Mr. IZUMI Hiroyasu ตัวแทนสมาคมแลกเปลี่ยนระหว่างญี่ปุ่น – ไต้หวัน Mr.John DENNIS ผู้แทนรัฐบาลอังกฤษประจำไต้หวัน และ Mr. Martin PODSTAVEK ผู้แทนรัฐบาลสาธารณรัฐสโลวักประจำไต้หวัน  ต่างได้เข้าร่วมกล่าวปราศรัย ผ่านการบันทึกวิดีทัศน์ล่วงหน้า
 
นายหยิวฯ เน้นย้ำขณะกล่าวปราศรัยว่า ไต้หวันคาดหวังที่จะร่วมแลกเปลี่ยนกับนานาประเทศทั่วโลก เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการรับมือกับสงครามไซเบอร์ร่วมกับประชาคมโลก ทั้งนี้ เพื่อร่วมธำรงรักษาประชาธิปไตยให้คงอยู่อย่างยั่งยืน
 
รมช.เจิงฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า ข่าวปลอมเป็นประเด็นความท้าทายที่ซับซ้อนที่กลุ่มประเทศประชาธิปไตยต่างต้องเผชิญหน้าในปัจจุบัน เมื่อเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากการแพร่กระจายข่าวปลอมรวมถึงสงครามไซเบอร์ ประชาชนชาวไต้หวันยังคงเชื่อมั่นอย่างหนักแน่นว่าการเปิดกว้าง ความโปร่งใสและความร่วมมือระหว่างประเทศ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างความยืดหยุ่นของระบอบประชาธิปไตย
 
การประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ภาครัฐและผู้เชี่ยวชาญนับร้อยคนจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและยุโรปเข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์