ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
สัมผัส “เสียง” จากชีวิตผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ศิลปะการแสดงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในไต้หวัน
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2021-11-22

อู๋เจิ้นหนาน (คนที่สองจากขวา) และสมาชิกคนอื่นๆ ร่วมกันก่อตั้งคณะกลองตีมือ Tampo มาเลเซียขึ้น เจตนารมณ์เดิมในการก่อตั้งคือความเชื่อที่ว่าดนตรีสามารถก้าวข้ามความแตกต่างของภาษาและเชื้อชาติได้ และยังเป็นการแบ่งปันความงดงามของวัฒนธรรมบ้านเกิดให้แก่ผู้คนอีกด้วย (ภาพ: หลินเก๋อลี่)

อู๋เจิ้นหนาน (คนที่สองจากขวา) และสมาชิกคนอื่นๆ ร่วมกันก่อตั้งคณะกลองตีมือ Tampo มาเลเซียขึ้น เจตนารมณ์เดิมในการก่อตั้งคือความเชื่อที่ว่าดนตรีสามารถก้าวข้ามความแตกต่างของภาษาและเชื้อชาติได้ และยังเป็นการแบ่งปันความงดงามของวัฒนธรรมบ้านเกิดให้แก่ผู้คนอีกด้วย (ภาพ: หลินเก๋อลี่)
 

นับตั้งแต่ไต้หวันเริ่มดำเนิน “นโยบายมุ่งใต้ใหม่” ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มาอาศัยในไต้หวันได้รับโอกาสทางด้านการเงินและการงานที่ดียิ่งขึ้น แต่ในด้านการยกระดับคุณภาพชีวิตและจิตใจกลับไม่ชัดเจนเท่าไรนัก “สาเหตุเป็นเพราะเราไม่พยายามมากพอ และไม่ค่อยยินดีที่จะทำความเข้าใจด้านวัฒนธรรมทางชาติพันธุ์ของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่าไรนัก” ศาสตราจารย์ไช่จงเต๋อ (蔡宗德) อาจารย์ประจำสถาบันบัณฑิตศึกษา สาขามานุษยดนตรีวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปะไถหนาน เชื่อว่าไต้หวันเป็นประเทศที่ยอมรับและหลอมรวมวัฒนธรรมโลกเข้าไว้ด้วยกัน ชาวไต้หวันมีความอบอุ่นและเป็นมิตร แต่เบื้องหลังความรู้สึกยอมรับเช่นนี้ ที่จริงแล้วยังมีบางสิ่งที่กำลังรอการปรับปรุงและควรค่าแก่การใคร่ครวญซ่อนอยู่

 

ศิลปะคือชีวิต

“สถานะทางการเมืองและเศรษฐกิจของไต้หวันมีความคล้ายคลึงกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ในแง่ของดนตรี ศิลปะ และวัฒนธรรม แท้จริงแล้วมีความใกล้เคียงกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า” ไช่จงเต๋ออุทิศชีวิตทุ่มเทให้แก่การศึกษาวิจัยด้านมานุษยดนตรีวิทยาของแต่ละชาติพันธุ์ในโลก และเป็นกรรมการของคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของไต้หวัน ใน “โครงการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่” ที่ริเริ่มขึ้นโดยกรมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เขานำเสนอผลสรุปที่ได้จากการสำรวจภาคสนามเป็นเวลานานหลายปีว่า: “สำหรับชนชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ดนตรีและศิลปะการแสดงไม่สามารถแยกออกจากชีวิตพวกเขาได้ เพราะนั่นคืออาหารที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ และเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของพวกเขา” ไช่จงเต๋อซึ่งรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน กล่าวว่า “ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และแรงงานต่างชาติในไต้หวันส่วนใหญ่ถูกโลกแห่งความเป็นจริงและการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมลิดรอนสิทธิ์ในสิ่งที่ว่ามานี้”

“แม้ว่าผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และแรงงานต่างชาติจะไม่เคยได้รับการฝึกอบรมวิชาชีพจากบ้านเกิดของพวกเขามาก่อน แต่หลังจากมาไต้หวันแล้ว เกือบทุกคนเลือกที่จะใช้การแสดงดนตรีและการฟ้อนรำแบบดั้งเดิมของประเทศบ้านเกิดของตนเพื่อสื่อถึงความคิดถึงบ้านเกิด การอนุรักษ์วัฒนธรรม และความทรงจำเกี่ยวกับภาษา ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการสร้างการยอมรับตัวตนของตัวเองและปลดปล่อยอารมณ์ รวมถึงใช้สิ่งเหล่านี้ในการสื่อสารแลกเปลี่ยนและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอีกด้วย” ไช่จงเต๋อกล่าวว่า “หากปราศจากสิ่งเหล่านี้ คุณภาพชีวิตของพวกเขาจะตกต่ำลง ถึงขั้นรู้สึกว่าความเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมบ้านเกิดเดิมถูกตัดขาดไป” ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และแรงงานต่างชาติที่ขาดสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจมักจะหลงทางในชีวิตได้ง่ายๆ และก่อให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจ สิ่งนี้ทำให้ไช่จงเต๋อสังเกตเห็นถึงปัญหาที่แท้จริงที่อยู่เบื้องหลังศิลปะการแสดง

 

เศรษฐกิจและวัฒนธรรม

ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

ไช่จงเต๋อมองว่าปัญหาที่สะใภ้ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ต้องเผชิญ ส่วนใหญ่เป็นเพราะทุ่มเทเวลาให้กับครอบครัว และตนเองไม่มีอิสรภาพทางการเงินเป็นหลัก แม่สามีส่วนใหญ่ต้องการให้พวกเธอหลอมรวมเข้ากับวัฒนธรรมไต้หวันให้ได้โดยเร็ว มากกว่าที่จะทำความเข้าใจวัฒนธรรมบ้านเกิดของลูกสะใภ้ “เมื่อการทำงานหรือการเงินไม่สามารถมีอิสระได้ ยิ่งต้องแบ่งเวลาส่วนใหญ่ให้กับการดูแลครอบครัว แม้ว่าจะมีนโยบายผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ดีขึ้น แต่ “ศิลปะการแสดง” ก็ยังคงเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยสำหรับพวกเขา”

ส่วนสถานการณ์ของแรงงานต่างชาติรุนแรงกว่า ไม่ว่าพวกเขาจะมาไต้หวันด้วยวีซ่าทำงานเหมือนกันหรือไม่ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว ความคิดและภาพที่ฝังอยู่ในความทรงจำของชาวไต้หวันที่มีต่อแรงงานต่างชาติมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากลักษณะงานของแรงงานต่างชาติส่วนใหญ่ไม่ใช่อาชีพที่ต้องใช้ทักษะ ลักษณะงานเป็นการใช้แรงงานเสียส่วนมาก แรงงานต่างชาติที่มาทำงานในไต้หวันจึงเป็นผู้ที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวซึ่งมีสมรรถภาพทางกายที่ดีที่สุด “พวกเขาเต็มเปี่ยมด้วยอารมณ์ความรู้สึก และมีความกระตือรือร้นในการใช้ชีวิตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่นอกจากพวกเขาไม่มีเวลาหรือเงินมากนักแล้ว ยังถูกจำกัดสิทธิ์และได้รับอคติมากมาย รวมถึงทางด้านศาสนาด้วย” ไช่จงเต๋อกล่าวว่านโยบายในปัจจุบัน ไม่เพียงพอที่จะรองรับประชาชนกลุ่มนี้ซึ่งมีจำนวนกว่า 710,000 คน

อู่เหวยจวิ้น (武維俊) หรือ Vu Duy Tuan นักดนตรีขลุ่ยชาวเวียดนาม มาอยู่ไต้หวันประมาณ 5 ปีแล้ว ยังพูดภาษาจีนไม่เก่งมากนัก เขาทำงานในอุตสาหกรรมการผลิตแบบดั้งเดิม “แต่ในวันหยุด เราสามารถไปเจอเพื่อนได้” ตู้จินหยวน (杜金媛) หรือ Do Thi Kim Vien เป็นคู่หมั้นของอู่เหวยจวิ้น ทั้งคู่ทำงานกันคนละแห่ง การรวมตัวสังสรรค์ในกลุ่มชาวเวียดนามครั้งหนึ่งทำให้พวกเขาได้พบและทำความรู้จักกัน

ตู้จินหยวนมาอยู่ไต้หวันนานแล้ว เธอทำงานในภาคบริการอาหารและเครื่องดื่มวันละสองกะ การได้อยู่ร่วมกันกับชาวเวียดนามถือว่าเป็นช่วงเวลาที่มีค่ามากสำหรับเธอ “พวกเราไม่ได้ทำงานอยู่เมืองเดียวกัน เมื่อคำนึงถึงปัจจัยเรื่องการเดินทางและการเงินแล้ว พวกเราส่วนใหญ่มักจะรวมตัวกันในสถานที่สาธารณะใกล้กับสถานีรถไฟ แต่พอผู้คนได้ยินพวกเราพูดคุย ร้องเพลง หรือเต้นรำ ก็จะมาขับไล่พวกเราออกไป"

เมื่อถูกขับไล่บ่อยๆ นานวันเข้าอู่เหวยจวิ้นซึ่งนัดพบปะสังสรรค์น้อยลงก็อดคิดถึงบ้านเกิดไม่ได้ เขาจึงเริ่มหันมาฟังเพลงเวียดนาม และคบหาสมาคมกับ sao meo ซึ่งเล่นขลุ่ยเวียดนาม “ตอนอยู่ที่เวียดนาม ผมไม่เคยเรียนขลุ่ยมาก่อนเลย และอ่านโน้ตดนตรีไม่เป็นด้วย วันหนึ่งเห็นในยูทูปมีอาจารย์ชาวเวียดนามสอนเป่าขลุ่ยเวียดนาม ทำให้ผมรู้สึกซาบซึ้งมาก” อู่เหวยจวิ้นจึงเหมือนได้รู้จักกับวัฒนธรรมประจำชาติของตนใหม่ เขาตั้งใจฝึกฝนอย่างมาก จนกระทั่งปัจจุบันนี้วงดนตรีขลุ่ยเวียดนามของพวกเขามีสมาชิกเกือบ 20 คน “แต่ปกติจะรวมตัวกันได้ 5-6 คน ก็ถือว่ายากแล้ว”

 

เรื่องราวเหล่านั้นที่ผู้คนละเลย

“เมื่อ 2 ปีก่อน ขณะที่ศิลปะการแสดงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รุ่งเรืองเป็นพิเศษ ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และแรงงานต่างชาติจำนวนมากตื่นเต้นมากที่ได้รับเชิญจากรัฐบาลให้ทำการแสดง” ไช่จงเต๋อกล่าวว่า “พวกเขาฝึกฝนทักษะศิลปะดั้งเดิมของบ้านเกิดอย่างหนัก โดยหวังว่าจะได้ใกล้ชิดกับไต้หวันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่มีค่าตอบแทนให้ในการแสดง ไม่มีเวลาให้พวกเขาได้ฝึกซ้อม ไม่มีเงินเช่าสถานที่ฝึกซ้อม และยิ่งไม่ต้องพูดถึงเรื่องไม่มีข้อกฎหมายในการปกป้องสิทธิประโยชน์ของพวกเขา” ศิลปะการแสดงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับการบีบคั้นอย่างรุนแรงในสภาพความเป็นจริง ไช่จงเต๋อพูดด้วยความเสียใจว่า: “อีกไม่นาน คณะการแสดงจำนวนมากคงต้องยุบ บางส่วนอาจอยู่รอด ผู้ที่อยากก่อตั้งก็จัดตั้งไม่ได้ นโยบายที่ไม่สมบูรณ์ทำให้ศิลปะการแสดงอันล้ำค่าและวัฒนธรรมชาติพันธุ์มากมายไม่สามารถพัฒนาได้ และโอกาสความร่วมมือระหว่างไต้หวันกับพวกเขาก็ยิ่งลดน้อยลง”

หูหมิงเยว่ (胡明月) หรือโคมิง โสมาวาตี (Koming Somawati) ซึ่งเป็นนางรำระดับสากลของเกาะบาหลี ตระกูลของเธอหลายชั่วอายุคนประกอบอาชีพด้านศิลปะการแสดง เธอเรียนการนาฏศิลป์มาตั้งแต่เด็ก ก่อนมาไต้หวัน หูหมิงเยว่ได้เดินทางไปทั่วโลกตามหูหมิ่นเต๋อ (胡敏德) หรือเมด แมนเทิล ฮูด (Made Mantle Hood) สามีชาวอเมริกันซึ่งศึกษาวิจัยด้านดนตรีโลก สามีได้รับการว่าจ้างให้เข้ารับตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ควบคู่ผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตศึกษา สาขามานุษยดนตรีวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปะไถหนาน หูหมิงเยว่ซึ่งพูดได้แค่ภาษาอังกฤษกับภาษาบ้านเกิดก็ตามเขามาที่ไต้หวันด้วย หูหมิงเยว่มีทักษะด้านการฟ้อนรำและประสบการณ์อันน่าภาคภูมิใจ เธอจึงเปิดชั้นเรียนขึ้นในมหาวิทยาลัย เปิดอบรมเวิร์กชอปขึ้น โปรโมทละครการแสดงนาฏศิลป์บาหลีเป็นจำนวนมาก กระตือรือร้นในการพัฒนาศิลปะการแสดงนาฏศิลป์บาหลี คนสวยเช่นเธอเรียกตัวเองว่าเป็นคนที่ “มีใบหน้าแบบอินโดนีเซียมาก” แม้ว่าเธอจะพูดภาษาอังกฤษคล่องก็ตาม แต่แค่มองก็รู้แล้วว่ามาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เธอมักจะถูกคนไต้หวันส่วนมากเข้าใจผิดคิดว่าเป็นผู้อนุบาลต่างชาติ การถูกเหมารวมเช่นนี้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

อู๋เจิ้นหนาน (吳振南) หรือ งอเจียนนัม (Ngo Jian Nam) ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ซึ่งก่อตั้งคณะกลองตีมือมาเลเซียเป็นคณะแรกของไต้หวัน ปัจจุบันเป็นผู้จัดรายการของสถานีวิทยุเพื่อการศึกษาแห่งชาติ จากการที่เขาได้รับปริญญาเอก สาขาปรัชญา มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อ (National Chengchi University, NCCU) และมีความรู้ด้านศิลปะการแสดง เขาได้รับประโยชน์จากนโยบายมุ่งใต้ใหม่ แต่เขาเชื่อว่าในศิลปะการแสดง ที่จริงแล้วยังมีบางส่วนที่ควรค่าแก่การใคร่ครวญ “รูปแบบดนตรีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือรูปแบบกลุ่ม แต่เนื่องจากหน้าที่การงานและสถานะที่แตกต่างกัน ความเป็นกลุ่มจึงถูกตัดขาดกันไป”

 

ให้วัฒนธรรมอันหลากหลายผลิบานในไต้หวัน

การศึกษาวิจัยดนตรีจำเป็นต้องมีความเข้าใจส่วนที่ไม่ใช่ดนตรีอย่างถ่องแท้ด้วย “ไต้หวันยังไม่ได้เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเปิดรับคนจากประเทศทางใต้กลุ่มนี้ เราเตรียมพร้อมสำหรับพื้นที่อยู่อาศัยของพวกเขาหรือยัง? เราเตรียมพร้อมสำหรับความบันเทิงของพวกเขาหรือยัง? หรือแม้กระทั่งศาสนาของพวกเขา เราให้ความเคารพมากพอ และพยายามที่จะเข้าใจแล้วหรือยัง?” ไช่จงเต๋อเปรียบเทียบอุปมาอุปไมยว่า ศิลปะการแสดงเปรียบเสมือนส่วนหนึ่งของนโยบายมุ่งใต้ใหม่ที่แสงสปอตไลท์ส่องไม่ถึง แต่กลับส่งผล กระทบในเชิงลึกและวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับในความเป็นตัวตนของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่เอง การที่ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่รุ่นที่สองยอมรับวัฒนธรรมของพ่อแม่ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือว่าการแสดงออกถึงความต้องการในชีวิตของแรงงานต่างชาติ

“การจะทำลายวงจรที่ไม่พึงประสงค์เช่นนี้ได้นั้น ด้านนโยบายยังมีส่วนที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สามารถรองรับผู้คนที่มีความต้องการแตกต่างกันได้มากขึ้น เมื่อต้องเผชิญกับกลุ่มชาติพันธุ์ขนาดใหญ่อย่างผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และแรงงานต่างชาติเช่นนี้ เราต้องคำนึงจากด้านเศรษฐกิจไปสู่การดำเนินชีวิต” ไช่จงเต๋อเสนอวิธีที่จะไปสู่ความก้าวหน้าว่า “ต้องประชาสัมพันธ์ความรู้ในประเด็นที่เกี่ยวข้องและเปลี่ยนแปลงภาพที่ฝังอยู่ในความทรงจำของประชาชน จึงจะสามารถขจัดอคติได้ ก่อให้เกิดความกลมกลืนทางสังคมและความปรองดอง ทำให้ไต้หวันกลายเป็นดินแดนที่รองรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้อย่างแท้จริง”