สภาบริหาร วันที่ 24 พ.ย. 64
เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมา ไต้หวันและแคนาดาได้ร่วมจัด “การประชุมว่าด้วยการวิเคราะห์เพศสภาพ” โดยได้เชิญเจ้าหน้าที่ภาครัฐจาก 5 สภาหลักและรัฐบาลท้องถิ่นทั่วไต้หวัน รวมถึงพันธมิตรในองค์การนอกภาครัฐ (NGO) ที่ให้ความสนใจในประเด็นที่เกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นในรูปแบบไฮบริด ทั้งการประชุมในสถานที่จริงและแบบออนไลน์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประชุมกว่าร้อยคน โดยในการประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างเจ้าหน้าที่ภาครัฐของไต้หวัน- แคนาดา ภายใต้ประเด็นแนวทางการวิเคราะห์เพศสภาพ ซึ่งเป็นการเปิดฉากความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนด้านความเสมอภาคทางเพศระหว่างไต้หวัน – แคนาดาอย่างเต็มตัว
การประชุมในครั้งนี้ มีนางอู๋ซิ่วเจิน ผู้อำนวยการสำนักงานความเสมอภาคทางเพศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และ Mr. Jordan Reeves ผู้อำนวยการสำนักงานการค้าแคนาดาในกรุงไทเป (CTOT) ร่วมทำหน้าที่เป็นประธาน โดยผอ.อู๋ฯ ระบุว่า รัฐบาลแคนาดาและไต้หวันต่างยึดมั่นในค่านิยมด้านสิทธิมนุษยชนของสังคมที่เปี่ยมด้วยเสรีภาพและประชาธิปไตย รวมถึงแนวคิดด้านความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งทั้งไต้หวันและแคนาดาล้วนมีบทบาทในการเป็นผู้นำด้านการส่งเสริมการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองของกลุ่มสตรี และสร้างหลักประกันความเสมอภาคทางเพศที่มีความหลากหลาย ในภูมิภาคเอเชียและอเมริกาเหนือ การประชุมว่าด้วยการวิเคราะห์เพศสภาพของไต้หวันและที่แคนาดาเรียกขานว่า GBA+ (Gender-based Analysis Plus) ได้ย้ำให้เห็นถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเพศสภาพเป็นหลัก โดยได้ทำการวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพศและชนชาติ ชาติพันธุ์ อายุ ชนชั้น อัตลักษณ์ทางเพศ รสนิยมทางเพศ การแสดงออกทางเพศ และสังเกตการณ์ถึงผลลัพธ์ที่เกิดจากการหลอมรวมของปัจจัยต่างๆ นอกจากนี้ Mr. Reeves ยังได้ยกประสบการณ์ของแคนาดามาทำการชี้แจงเพิ่มเติมว่า สัญญลักษณ์ “+” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในองค์ประกอบของ GBA+ ที่ได้ทำการประกาศไปเมื่อปี 2011เป็นการยกระดับของการวิเคราะห์เพศสภาพต่อเนื่องจากในปี 1995 ที่รัฐบาลแคนาดาริเริ่มดำเนินการเป็นต้นมา โดยได้เน้นย้ำถึงการตระหนักเห็นถึงองค์ประกอบที่หลากหลายของเพศสภาพ และความสำคัญของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเหล่านี้ โดยไต้หวัน – แคนาดาต่างเน้นย้ำว่า เราจะสามารถส่งเสริมให้สังคมก้าวไปสู่ทิศทางการยอมรับซึ่งกันและกัน อย่างมีความเท่าเทียมได้ ด้วยการดำเนินการวิจัยประเด็นด้านเพศสภาพตามความเป็นจริง เพศสภาพทางสังคม และปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบเกี่ยวพันซึ่งกันและกัน และการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ตลอดจนติดตามและเร่งแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ
สนง.ความเสมอภาคทางเพศไต้หวันระบุว่า วัตถุประสงค์ของการผลักดันการวิเคราะห์เพศสภาพของหน่วยงานภาครัฐ ก็เพื่อต้องการที่จะคำนึงถึงสิทธิและผลประโยชน์ของกลุ่มคนต่างๆ เพื่อให้สามารถออกแบบนโยบายซึ่งตอบสนองต่อความต้องการของเพศสภาพที่แตกต่างกันและไม่มีผู้ใดที่ถูกละทิ้งไว้ข้างหลัง