กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 24 พ.ย. 64
กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) สภานิติบัญญัติของไต้หวัน และ “สถาบันส่งเสริมประชาธิปไตย” (National Democratic Institute, NDI) ของสหรัฐอเมริกา มีกำหนดการจัด “การประชุมรัฐสภาแบบเปิด ประจำปี 2021” (2021 Open Parliament Forum) ณ กรุงไทเป ระหว่างวันที่ 2 – 3 ธ.ค. 64 คาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนอย่างยืดหยุ่นร่วมกับมิตรประเทศ ตลอดจนร่วมแสวงหาสันติภาพแห่งการพัฒนาอันยั่งยืนต่อไป
โดยประเด็นของการประชุมในครั้งนี้ คือ “รัฐสภาแบบเปิดในยุคหลังโควิด – 19 : กรณีศึกษาระดับโลกด้านความยืดหยุ่นและการวางแผนหลังปี 2022” โดยการประชุมครั้งนี้ จะมีสมาชิกรัฐสภาจากภูมิภาคยุโรปและลาตินอเมริกาเดินทางมาเข้าร่วมด้วยตนเอง ประกอบด้วย Ms. Valerie Woods ประธานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเบลีซ Mr. Matas Maldeikis ประธานกลุ่มพันธมิตรไต้หวันในสาธารณรัฐลิทัวเนีย Mr. Jānis Vucāns ประธานกลุ่มพันธมิตรไต้หวันในสาธารณรัฐลัตเวีย Mr. Jüri Jaanson ประธานกลุ่มพันธมิตรไต้หวันในรัฐสภาสาธารณรัฐเอสโตเนีย เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีนักการเมือง เจ้าหน้าที่องค์การนอกภาครัฐ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ จากออสเตรเลีย อาร์เจนตินา เช็กเกีย เยอรมนี ญี่ปุ่น ศรีลังกา สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ที่เตรียมจะเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อร่วมหารือกับสมาชิกสภานิติบัญญัติ เจ้าหน้าที่ภาครัฐและนักวิชาการของไต้หวัน
กต.ไต้หวันแถลงว่า ประเด็นหลักของการประชุมครั้งนี้จะครอบคลุมถึง “ความโปร่งใส ความเชื่อมั่นและการมีส่วนร่วมที่หลากหลายของรัฐสภา” “การตอบสนองต่อสถานการณ์โรคโควิด - 19 และการเปิดกว้างของรัฐสภา” “คำชี้แนะของรัฐสภาในการรับมือกับข่าวปลอม” และ “แนวโน้ม โอกาสและความท้าทายของรัฐสภาแบบเปิดกว้าง” เป็นต้น พร้อมนี้ ยังจะจัดให้มีการลงนามแถลงการณ์ร่วม (Joint Statement) ว่าด้วย “รัฐสภาแบบเปิดกว้าง” เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นของไต้หวันในการส่งเสริมหลักประชาธิปไตย และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมและผลักดันรัฐสภาแบบเปิดต่อไป
ไต้หวันในฐานะที่เป็นสมาชิกสำคัญของประชาคมโลก คาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมส่งเสริมความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนอย่างยืดหยุ่นกับมิตรประเทศ ซึ่งพวกเราจะรับมือกับความท้าทายนานารูปแบบที่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพด้านความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการประสานความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนทางรัฐสภาแบบเปิด เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นของระบอบประชาธิปไตยในเชิงลึก ตลอดจนร่วมแสวงหาสันติภาพการพัฒนาอย่างยั่งยืนสืบไป