ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าของแรงงานต่างชาติ นิทรรศการพิเศษ สิทธิมนุษยชนของผู้ย้ายถิ่น
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2022-01-10

(ที่มาภาพ: กระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน)

(ที่มาภาพ: กระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน)
 

มีประชาชนจำนวนมากที่ไม่เข้าใจสถานะความเป็นอยู่ของแรงงานต่างชาติในไต้หวัน ราวกับมองไม่เห็นว่ามีพวกเขาอยู่ในสังคม ในปี 2021 พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เชิญองค์กรไม่แสวงผลกำไร (กลุ่ม NGO) ภายในประเทศ 15 แห่ง มาร่วมกันจัดนิทรรศการพิเศษสิทธิมนุษยชนของผู้ย้ายถิ่น เพื่อบอกเล่าเรื่องราวสถานะของแรงงานต่างชาติในไต้หวันให้แก่ประชาชน มีเพียงการยกระดับความรับรู้ของสังคมในด้านสิทธิมนุษยชน จึงจะมีโอกาสช่วยให้ภารกิจด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของแรงงานต่างชาติค่อยๆ คืบหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง

 

ในปี 2019 สหพันธ์พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนนานาชาติ สาขาเอเชีย-แปซิฟิก (Federation of International Human Rights Museums: FIHRM-AP) จัดตั้งขึ้นที่พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไต้หวัน (ต่อไปเรียกย่อว่า พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนฯ) แสดงให้เห็นถึงความพยายามในด้านการพัฒนาสิทธิมนุษยชนในไต้หวันให้ได้รับการยอมรับ และทำให้ไต้หวันกลายเป็นเวทีสำคัญในการพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชน และด้วยภารกิจในการให้ความสำคัญต่อประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนฯ จึงวางแผนที่จะเชื่อมโยงพิพิธภัณฑ์ทั้งในและต่างประเทศ, กลุ่ม NGO และคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเข้าไว้ด้วยกัน ผ่านการจัดนิทรรศการ, งานเสวนา และการขับเคลื่อนทางด้านศิลปะ เพื่อสร้างภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมด้านสิทธิมนุษยชน

เพื่อให้เข้ากับธีมหลักของวันพิพิธภัณฑ์นานาชาติประจำปี 2020 “พิพิธภัณฑ์แห่งความเสมอภาค: ความหลากหลายและการมีส่วนร่วม” (Museums for Equality: Diversity and Inclusion) เนื่องจากการโยกย้ายถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ขึ้น “สิทธิมนุษยชนของผู้ย้ายถิ่น” จึงกลายเป็นประเด็นแรกที่พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนฯ ให้ความสนใจภายใต้กรอบการทำงานของ FIHRM-AP โดยพิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนฯ มุ่งเน้นความสำคัญไปที่แรงงานต่างชาติ ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไต้หวันแต่มักถูกผู้คนมองข้าม และพิจารณาว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถใช้บทบาทของพิพิธภัณฑ์ในการนำประชาชนไปสู่การค้นพบอคติและลบล้างอคติเหล่านั้นออกไป

 

ร่วมกันร่างภาพของแรงงานต่างชาติ

เมื่อปี 2020 พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนฯ ได้เชิญพิพิธภัณฑ์ภายในประเทศ 15 แห่ง และกลุ่ม NGO ที่ช่วยเป็นกระบอกเสียงให้แก่แรงงานต่างชาติมาเป็นเวลายาวนานอีก 15 แห่ง เช่น สมาคมแรงงานนานาชาติไต้หวัน (Taiwan International Workers' Association: TIWA 台灣國際勞工協會), สมาคมบริการมวลชนนครเถาหยวน (桃園市群眾服務協會), กลุ่มวัฒนธรรมชาวเวียดนามเมืองเจียอี้ (越在嘉文化棧), สตูดิโอประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม 1095 (1095文史工作室) เป็นต้น มาร่วมแบ่งปันแลกเปลี่ยนมุมมองต่างๆ เกี่ยวกับแรงงานต่างชาติที่พวกเขาให้ความสนใจ เพื่อร่วมกันค้นหาแนวทางปฏิบัติ และเริ่มต้นการเดินทางเพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน โดยในปีนี้ได้จัดนิทรรศการพิเศษเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของผู้ย้ายถิ่น ร่วมกันร่างความเป็นไปได้ในการสื่อสารกับสังคม ที่จะทำให้เสียงของแรงงานต่างชาติมีผู้คนได้ยินมากยิ่งขึ้น

ด้วยจิตวิญญาณแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนฯ จึงได้ละทิ้งแนวทางการปฏิบัติตามปกติที่ให้นักวิจัยหรือภัณฑารักษ์ทำการวิจัยภาคสนาม ก่อนจะมอบหมายให้ทีมงานฝ่ายผลิตทำการออกแบบให้เป็นไปตามแผนงานของภัณฑารักษ์ ทำให้ความเข้าใจต่อเนื้อหาของข้อมูลและภาพรวมทั้งหมดขึ้นอยู่กับการโน้มนำของภัณฑารักษ์ทั้งสิ้น ขณะที่การจัดนิทรรศการพิเศษสิทธิมนุษยชนของผู้ย้ายถิ่นในครั้งนี้ ใช้รูปแบบ “การจัดเวิร์กช็อปเชิงภัณฑารักษ์” เพื่อให้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นแก่กลุ่ม NGO โดยการออกแบบนิทรรศการมีบริษัท Hide and Seek Audiovisual Art (害喜影音綜藝) เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งจะไปเข้าพบและสัมภาษณ์กลุ่ม NGO แต่ละแห่งก่อน จากนั้นจึงทำการรวบรวมคีย์เวิร์ดทั้งหมดมากกว่า 100 คำ มาใช้ในการออกแบบการจัดเวิร์กช็อป เพื่อเปิดโอกาสให้บรรดากลุ่ม NGO ได้พูดคุยหารือกันอย่างเต็มที่ จากการที่ต่างฝ่ายต่างก็เป็นกลุ่ม NGO ซึ่งทำงานด้านสิทธิประโยชน์ของแรงงานต่างชาติมาเป็นเวลายาวนานหลายปี ทำให้มีวัตถุดิบในการอภิปรายกันอย่างเต็มที่ในการประชุมเวิร์กช็อปแต่ละครั้ง จากนั้นรวบรวมทั้งหมดโดย หลินเจิ้งเว่ย (林正尉) ภัณฑารักษ์ และทีมงานของ Hide and Seek จะทำการสรุปในขั้นสุดท้าย และหลังผ่านการหารือในเวิร์กช็อปหลายครั้ง ในที่สุด แผนการจัดนิทรรศการดังกล่าวคือการแสดงให้เห็นภาพความยากลำบากที่แรงงานต่างชาติต้องเผชิญในหัวข้อต่างๆ  เช่น ความต้องการในชีวิตประจำวันของประชาชนไต้หวัน, ย่างก้าวสู่สถานที่ใช้แรงงานของแรงงานต่างชาติ, ความต้องการขั้นพื้นฐานของแรงงานต่างชาติในฐานะมนุษย์, การจ้างงานและกลไกการบริหารจัดการแรงงานต่างชาติ, บทบาทในการ “ช่วยเสริม” ของกลุ่ม NGO เป็นต้น

ทีมงาน Hide and Seek ระบุว่า แนวทางการออกแบบเดิมคือการรวมฉากต่างๆ จากชีวิตแรงงานต่างชาติ แต่จากการความคืบหน้าในการประชุมหารือจัดนิทรรศการ “การทำให้ชาวไต้หวันเห็นภาพของแรงงานต่างชาติอยู่ในชีวิตประจำวัน” ยิ่งใกล้เคียงกับวิสัยทัศน์ของการจัดนิทรรรศการมากขึ้น ภายในบ้าน, ในบ้านพักคนชรา, บนภูเขา, ในโรงงาน, บนมหาสมุทรที่ห่างไกล…ทุกที่ในไต้หวันล้วนมีภาพของแรงงานต่างชาติปรากฏอยู่ด้วย อาหารทะเลสดบนโต๊ะอาหาร, ไมโครชิปของโทรศัพท์มือถือ, ตึกสูง, รถไฟฟ้า ฯลฯ เกิดจากความทุ่มเทของแรงงานต่างชาติทั้งสิ้น ช่วยเสริมส่วนที่ไต้หวันขาดแคลนทรัพยากรบุคคลในอุตสาหกรรมที่เป็นงานหนัก สกปรก และอันตราย (ไต้หวันเรียกว่า อุตสาหกรรม 3K) ทำให้ประชาชนไต้หวันได้ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย ดังนั้น ทีมงาน Hide and Seek จึงวางแผนใช้รูปแบบของกราฟฟิกแผนที่ขนาดใหญ่ภายในพื้นที่จัดนิทรรศการ ชี้ให้เห็นว่ามีแรงงานต่างชาติอยู่ทุกหนทุกแห่งในชีวิตประจำวันของชาวไต้หวัน เมื่อเดินไปตามพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ จะมีเนื้อหาเริ่มตั้งแต่ความต้องการในชีวิต, สภาพแวดล้อมการทำงาน ไปจนถึงกลไกและนโยบายของรัฐเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติ และหมวดหมู่อื่นๆ นำเสนอเรื่องราวชีวิตของแรงงานต่างชาติในไต้หวันทั้งมุมมองระยะใกล้และไกล ทำให้การจัดนิทรรศการพิเศษใกล้เคียงกับแกนหลักของการจัดนิทรรศการมากขึ้น “ทำให้ภาพของแรงงานต่างชาติที่เคยเลือนรางค่อยๆ มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น” หลินเจิ้งเว่ยกล่าว

 

เชื่อมโยงกันและกัน จุดประกายแห่งความหวัง

การปลุกจิตสำนึกให้ชาวไต้หวันทบทวนความคิดของตัวเอง คือเป้าหมายของนิทรรศการพิเศษครั้งนี้ ทีมงานภัณฑารักษ์วางแผนที่จะใช้รูปแบบของอารมณ์และความรู้สึกมาสื่อสารให้ประชาชนมีความเข้าใจต่อประเด็นที่แข็งกระด้างเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของแรงงานต่างชาติ จางเหวินซิน (張文馨) กล่าวอย่างติดตลกว่า กลุ่ม NGO ทุกกลุ่มมีวรยุทธ์แก่กล้า ทุกคนสามารถจัดนิทรรศการตามที่จินตนาการโดยนำเสนอวิธีที่จะให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย เข้าใจถึงประเด็นความเสี่ยงภัยที่อาจเผชิญในการทำงานของแรงงานต่างชาติ หรือใช้กล่องใส่ของที่อัดแน่นไปด้วยของเล่น, เสื้อผ้า มาใช้ถ่ายทอดถึงความรู้สึกคิดถึงของแรงงานต่างชาติที่มีต่อคนในครอบครัว ตั้งใจใช้วัตถุต่างๆ ในนิทรรศการ เพื่อเชื่อมโยงระหว่างประชาชนไต้หวันกับแรงงานต่างชาติ ทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นว่า แรงงานต่างชาติก็เป็นมนุษย์เช่นกัน พวกเขาควรมีสิทธิมนุษยชนเฉกเช่นเดียวกับชาวไต้หวัน

เมื่อมีความสนใจ ก็อาจกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนและนำไปสู่โอกาสในการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับหลี่ลี่หัว (李麗華) ที่ลาออกจากตำแหน่งเจ้าหน้าที่ในกองแรงงานเพื่อมาเข้าร่วมสหภาพแรงงานชาวประมงที่ไม่มีตำแหน่งและเงินเดือน เพียงเพราะเธอเห็นความเสียเปรียบของแรงงานต่างชาติในข้อพิพาทแรงงานและปราศจากความช่วยเหลือ เธอย้ายจากเถาหยวนไปยังอี๋หลาน และก่อตั้งสหภาพแรงงานที่ประกอบด้วยแรงงานประมงต่างชาติเป็นแห่งแรกในไต้หวัน โดยไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพลท้องถิ่น คอยช่วยเหลือแรงงานต่างชาติที่ต้องต่อสู้เพื่อสิทธิประโยชน์ด้านแรงงานของพวกเขา เกาเยี่ยนตี๋ (高燕迪) นักศึกษาปริญญาเอก สาขาอุตสาหกรรมและแรงงานสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เห็นเรื่องราวการอุทิศตนของหลี่ลี่หัวผ่านทางอินเทอร์เน็ต จึงได้ลงมือสมัครมาฝึกงานที่ไต้หวัน และได้ไปเรียนภาษาอินโดนีเซียก่อนเดินทางมาไต้หวันด้วย นอกจากให้ความช่วยเหลือภารกิจของสหภาพแรงงานในเมืองอี๋หลานแล้ว เขายังไปที่ท่าเรือเมืองจีหลง เพื่อใช้ชีวิตกินอยู่ร่วมกับแรงงานต่างชาติ และให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้งสหภาพแรงงานประมงเมืองจีหลง เนื่องจากการก่อตั้งสหภาพแรงงานแห่งที่สอง ทำให้สหภาพแรงงานประมงเมืองอี๋หลานมีความหวังที่จะได้เข้าร่วมสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ และได้รับการสนับสนุนในระดับนานาชาติมากขึ้นในประเด็นเรื่องแรงงานต่างชาติด้วย

หลินเจิ้งเว่ยแบ่งปันประสบการณ์ของเขาในการไปประจำการที่หมู่บ้านในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งที่นั่นมีบริษัทจัดหางานตั้งอยู่มากมายตามท้องถนน เมื่อคนขับรถแท็กซี่ได้ยินว่าเขามาจากไต้หวัน ก็บอกว่าญาติมิตรของตนทำงานในไต้หวันด้วย โรงงานในไทจง, จีหลง และที่อื่นๆ กลายเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงระหว่างเขากับคนขับรถ มุมมองของหลินเจิ้งเว่ยเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ถูกแบ่งโครงสร้างใหม่อีกครั้ง สำหรับผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไต้หวันเป็นสถานที่อันห่างไกลที่คุ้นเคยมาช้านาน แต่ทำให้เขาได้ขบคิดว่าทำไมชาวไต้หวันจึงรู้จักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงน้อยนิด

นิทรรศการพิเศษสิทธิมนุษยชนของผู้ย้ายถิ่นที่จัดแสดงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ นอกจากจัดแสดงในไต้หวันแล้ว ทางพิพิธภัณฑ์ยังหวังว่าบทบาทของ FIHRM-AP จะช่วยส่งเสริมให้นิทรรศการนี้สามารถเจรจากับองค์กรในต่างประเทศได้ ในอดีต การที่แรงงานต่างชาติเลือกที่จะเดินทางมาทำงานที่ไต้หวัน เป็นไปได้ว่าเพราะเห็นคนในบ้านเกิดไปทำงานที่ไต้หวันแล้วช่วยให้ฐานะทางการเงินดีขึ้น ประกอบกับแรงงานต่างชาติมักจะเคยชินกับการพูดถึงแต่เรื่องดีๆ โดยไม่เล่าเรื่องที่ทำให้เกิดทุกข์ พวกเขาจึงไม่ค่อยเล่าถึงความทุกข์ยากต่างๆ นานาที่ต้องเผชิญในระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่ในไต้หวัน จึงทำให้มีข้อมูลเพียงด้านเดียวและไม่สมบูรณ์ พวกเขาไม่รู้ว่ามีความจริงอะไรที่กำลังรออยู่ข้างหน้าบ้างหลังจากที่เดินทางมาถึงไต้หวัน ดังนั้น พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนฯ จึงหวังที่จะนำนิทรรศการนี้ไปจัดแสดงที่ภูมิลำเนาเดิมของแรงงานต่างชาติ และเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าใจถึงประเด็นเรื่องแรงงานต่างชาติ และร่วมกันขบคิดถึงความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น