ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ปธน.ไช่ฯ เข้าร่วมการประชุมอธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ หวังให้ภาคการศึกษาร่วมกันสร้างศักยภาพในการแข่งขันระดับนานาชาติให้บุคลากรไต้หวันต่อไป
2022-01-14
New Southbound Policy。ปธน.ไช่ฯ เข้าร่วมการประชุมอธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ หวังให้ภาคการศึกษาร่วมกันสร้างศักยภาพในการแข่งขันระดับนานาชาติให้บุคลากรไต้หวันต่อไป (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
ปธน.ไช่ฯ เข้าร่วมการประชุมอธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ หวังให้ภาคการศึกษาร่วมกันสร้างศักยภาพในการแข่งขันระดับนานาชาติให้บุคลากรไต้หวันต่อไป (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 13 ม.ค. 65
 
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 13 ม.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วม “พิธีเปิดการประชุมอธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ประจำปี 2022” โดยชี้ว่า หลายปีมานี้ รัฐบาลไต้หวันได้เร่งส่งเสริมให้สถาบันการศึกษา สร้างเอกลักษณ์ประจำสถาบัน และให้จัดตั้งสถาบันการศึกษาที่ “เชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาควิชาการ” พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนาอาชีวศึกษา รวมถึงเร่งผลักดัน “นโยบายประเทศสองภาษา ปี 2030” อย่างเต็มที่ โดยหวังว่าภาควิชาการและรัฐบาล จะร่วมมุ่งมั่นในการสร้างศักยภาพทางการแข่งขันระดับนานาชาติให้กับบุคลากรไต้หวันอย่างต่อเนื่องต่อไป
 
โดยหัวข้อของการประชุมในปีนี้คือ “ยกระดับสู่สถาบันอุดมศึกษาที่มีเอกลักษณ์ ที่สอดคล้องกับสมัยใหม่ หน้าที่ใหม่ และบุคลากรรุ่นใหม่” ซึ่งถือเป็นทิศทางการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาของไต้หวันในอนาคตต่อไป
 
ปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า ในปัจจุบัน เราต้องเผชิญกับวิกฤตในยุคเด็กเกิดน้อย ท่ามกลางสถานการณ์แนวโน้มจำนวนเด็กเกิดใหม่ที่ลดน้อยลงทุกปี ส่งผลให้ทั้งส่วนของมหาวิทยาลัยและสถาบันอาชีวศึกษา จำเป็นต้องบูรณาการศักยภาพและทรัพยากรของภาคอุตสาหกรรมและวิชาการเข้าด้วยกัน พร้อมทั้งร่วมมือกันอย่างมีประสิทธภาพ
 
หลายปีมานี้ รัฐบาลได้ผลักดันนโยบายด้านการศึกษาหลายรายการ ประการแรก ส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาเร่งสร้างเอกลักษณ์ประจำสถาบัน
 
ประการที่สอง จัดตั้งรูปแบบสถาบันการศึกษาที่ “เชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาควิชาการ” โดยจะเห็นได้ว่า ในปีที่แล้ว สถาบันวิจัยเซมิคอนดักเตอร์ทั้ง 4 แห่งได้ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยปธน.ไช่ฯ คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รูปแบบการผนวกรวมภาคอุตสาหกรรมและภาควิชาการเข้าไว้ด้วยกัน จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ ต่อไป อาทิ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” “เทคโนโลยี AI” “การผลิตรูปแบบอัจฉริยะ” และ “การเงิน” เป็นต้น
 
ทั้งนี้ การส่งเสริมการพัฒนาอาชีวศึกษาเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลไต้หวัน โดยในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้มุ่งมั่นผลักดันการพัฒนา “ยุทธศาสตร์ 6 อุตสาหกรรมหลัก”โดยเตรียมจะจัดสรรงบประมาณรวม 2,400 ล้านเหรียญไต้หวันมาใช้ในการจัดตั้ง “ฐานการผลิตในเขตพื้นที่” รวม 20 แห่ง เพื่อสร้างบุคลากรที่ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมต่อไป
 
ประการที่สี่คือ รัฐบาลเร่งมุ่งมั่นผลักดัน “นโยบายประเทศสองภาษา ปี 2030” อย่างเต็มที่ โดยความสามารถด้านภาษาอังกฤษถือเป็นศักยภาพทางการแข่งขันที่สำคัญของนักเรียนและนักศึกษาในการก้าวสู่เวทีโลก ปธน.ไช่ฯ จึงขอเรียกร้องให้อธิการบดีของทุกสถาบันอุดมศึกษา ร่วมผลักดันการเรียนการสอนรูปแบบสองภาษาอย่างเต็มที่ต่อไป