ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
เผยรายงานภาพลักษณ์ทางเพศประจำปี 2022 อัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของกลุ่มสตรีวัยกลางคน ทุบสถิติใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 10 ปี
2022-01-24
New Southbound Policy。เผยรายงานภาพลักษณ์ทางเพศประจำปี 2022 อัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของกลุ่มสตรีวัยกลางคน ทุบสถิติใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 10 ปี (ภาพจากสำนักงานความเสมอภาคทางเพศ)
เผยรายงานภาพลักษณ์ทางเพศประจำปี 2022 อัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของกลุ่มสตรีวัยกลางคน ทุบสถิติใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 10 ปี (ภาพจากสำนักงานความเสมอภาคทางเพศ)

สภาบริหาร วันที่ 22 ม.ค. 65
 
เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานความเสมอภาคทางเพศ สภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ประกาศ  “รายงานภาพลักษณ์ทางเพศ ประจำปี 2022” (2022 Gender at a Glance in R.O.C. (Taiwan)) โดยในแง่ของการเข้าร่วมในตลาดแรงงานในปี 2020 อัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้หญิงที่มีอายุในช่วงระหว่าง 45 – 64 ปี  คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.3 ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โดยในจำนวนนี้ ประชากรผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 45 – 49, 50 – 54, 55 - 59 และ 60 – 64 ปี ต่างมีอัตราการเข้าร่วมเพิ่มสูงขึ้น แสดงให้เห็นว่า ไต้หวันประสบความสำเร็จในการส่งเสริมให้ประชากรหญิงกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานหลังมีบุตร พร้อมทั้งช่วยยกระดับศักยภาพด้านการประกอบอาชีพให้กับกลุ่มวัยกลางคน รวมถึงสร้างเสถียรภาพในการว่าจ้างงาน
 
สนง.ความเสมอภาคทางเพศ แถลงว่า รายงานภาพลักษณ์ทางเพศนำเสนอให้เห็นถึงความแตกต่างทางเพศสถานะในภาคส่วนต่างๆ รวมถึงสถานการณ์ล่าสุดที่เกิดจากการพัฒนา เพื่อช่วยให้ประชาชน “มองเห็นความแตกต่างทางเพศสถานะ” รายงานภาพลักษณ์ทางเพศประจำปี 2022 แสดงให้เห็นว่า การพัฒนาความเสมอภาคทางเพศในด้านต่างๆ มีการยกระดับไปในทิศทางที่ดีขึ้น ในจำนวนนี้ ดัชนีความไม่เสมอภาคทางเพศ (Gender Inequality Index, GII) ในปี 2019 อยู่ที่ระดับ 0.045 โดยอันดับความเสมอภาคทางเพศของไต้หวันถูกจัดให้อยู่อันดับที่ 6 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย
 
ในด้านการประกอบอาชีพ เศรษฐกิจและสวัสดิการ ในปี 2020 ค่าตอบแทนระหว่างชาย – หญิงยังคงมีช่องว่างความเหลื่อมล้ำอยู่ที่ร้อยละ 14.8 ลดลงร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับปี 2019 ถือเป็นสัดส่วนความเหลื่อมล้ำที่ดีกว่าสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยในปี 2020 การเข้าร่วมในตลาดแรงงานของกลุ่มประชากรหญิงที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป ครองสัดส่วนร้อยละ 51.4 ซึ่งยังคงรักษามาตรฐานไว้ได้เช่นเดียวกับในปี 2019 ในจำนวนนี้ การเข้าร่วมตลาดแรงงานของกลุ่มประชากรหญิงที่มีความบกพร่องทางร่างกาย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.7
 
สนง.ความเสมอภาคทางเพศ ระบุว่า เพื่อขจัดปัญหาความแตกต่างทางเพศสถานะในทุกภาคส่วน สภาบริหารได้ยึด “แผนโครงสร้างนโยบายความเสมอภาคทางเพศ” เป็นแนวทางในการสร้างหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนทางเพศที่แตกต่าง ผ่านการผลักดันภารกิจว่าด้วยการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศในด้านต่างๆ และคุ้มครองสิทธิของผู้ที่มีเพศสภาพต่างๆ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบาก เพื่อสร้างสังคมที่มีความปลอดภัย เป็นมิตรต่อทุกเพศสภาพ และมีความสงบสุขต่อไป