กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 24 ม.ค. 65
นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ตอบรับคำเชิญของ “สถาบันวิจัยนโยบายทางยุทธศาสตร์ออสเตรเลีย” (ASPI) โดยได้ให้สัมภาษณ์ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แก่รายการ “The bigger picture” ของ สถาบัน ASPI ซึ่งออกอากาศในรูปแบบ podcast โดยมี Mr. Peter Jennings ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบัน ASPI ทำหน้าที่เป็นพิธีกรด้วยตนเอง โดยรมว.อู๋ฯ ได้ชี้แจงถึงเป้าหมายแรกของนโยบายการต่างประเทศของไต้หวัน ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ความท้าทายด้านความมั่นคงในภูมิภาค และความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - ออสเตรเลีย โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้รับการเผยแพร่เมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่ผ่านมา
พิธีกรได้ซักถามความคิดเห็นของรมว.อู๋ฯ ในประเด็นการลงนาม “ข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือแบบเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน” (Reciprocal Access Agreement, RAA) ระหว่างญี่ปุ่น - ออสเตรเลีย โดยรมว.อู๋ฯ แถลงว่า ไต้หวันยินดีที่เห็นการร่วมลงนามข้อตกลง RAA ระหว่างญี่ปุ่น – ออสเตรเลีย รวมถึง “ภาคีความมั่นคงแบบพหุภาคีระหว่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษและออสเตรเลีย” (AUKUS) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและให้การสนับสนุนด้านความมั่นคงทางกลาโหม ระหว่างกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เพื่อร่วมปกป้องภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง
รมว.อู๋ฯ ชี้แจงว่า การทำลายกรอบจำกัดที่จีนต้องการโดดเดี่ยวไต้หวันในเวทีสากล มีส่วนเกี่ยวพันกับการคงอยู่และการพัฒนาของไต้หวัน การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประเทศเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยและความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจให้แก่ไต้หวัน ตลอดจนแสดงให้ประชาคมโลกประจักษ์ว่า ไต้หวันเป็นพลังแห่งความดีที่ขาดไม่ได้ในประชาคมโลก นับเป็นเป้าหมายแรกของนโยบายการต่างประเทศของไต้หวัน
รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า หลายปีมานี้ รัฐบาลจีนได้เพิ่มความถี่ในการส่งเครื่องบินทหารรุกล้ำเส้นแบ่งเขตน่านฟ้ากึ่งกลางช่องแคบไต้หวัน พร้อมทั้งกีดกันไต้หวันไม่ให้เข้ามีส่วนร่วมในเวทีนานาชาติ นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังได้สร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจต่อสาธารณรัฐลิทัวเนีย แต่ถึงกระนั้น ไต้หวันกลับยังคงได้รับการสนับสนุนที่เพิ่มมากขึ้นจากออสเตรเลีย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น กลุ่มประเทศในยุโรปและประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน
รมว.อู๋ฯ ได้กล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลออสเตรเลีย ที่ได้ให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนไต้หวันในการเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศ การยื่นขอเข้าร่วม “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership, CPTPP) รวมถึงสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน นอกจากนี้ ไต้หวัน – ออสเตรเลีย ยังได้ร่วมเจรจาและประสานงานในภารกิจการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาแก่ประเทศที่เป็นหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยไต้หวันคาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นการสานต่อความสัมพันธ์เชิงลึกระหว่างไต้หวัน – ออสเตรเลีย เพื่อสร้างความร่วมมือฉันมิตรในทุกภาคส่วนต่อไป