กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 12 ก.พ. 65
เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แก่ Mr. Anand Narasimhan ผู้สื่อข่าวรายการ News18 ของสถานีโทรทัศน์ CNN ภาคภาษาอังกฤษในอินเดีย โดยได้ชี้แจงถึงประเด็นการแผ่ขยายลัทธิอำนาจนิยมของจีน การพัฒนาของ “การรวมกลุ่มเจรจาด้านความมั่นคงปลอดภัยระหว่างภาคี 4 ประเทศ” (QUAD) สถานการณ์ความคืบหน้าในยูเครน และความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - อินเดีย เป็นต้น โดยรมว.อู๋ฯ ย้ำว่ากลุ่มประเทศประชาธิปไตยควรสามัคคีกันเพื่อต่อต้านการแผ่ขยายลัทธิอำนาจนิยมของจีน
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า นอกจากไต้หวันจะเร่งยกระดับแสนยานุภาพทางการทหารโดยรวม และพัฒนาขีดความสามารถในการรับมือกับสงครามที่ขาดความสมดุลแล้ว ยังจะร่วมเป็นกระบอกเสียงให้กับประชาคมโลก ในการชี้แจงถึงภัยคุกคามจากจีนที่ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อไต้หวัน แต่ยังส่งผลกระทบต่อกลุ่มประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกอีกด้วย เห็นได้จากของการประชุมสุดยอดผู้นำระหว่างสหรัฐฯ - ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ – ยุโรป ที่ต่างก็ได้แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน
สำหรับสถานการณ์ในยูเครน ไต้หวันได้จับตาความคืบหน้าของสถานการณ์ความตึงเครียดในพื้นที่ภาคตะวันออกของยูเครน ซึ่งเป็นพื้นที่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยเฉพาะในส่วนของความเป็นไปได้ที่จีนจะฉวยโอกาสรุกรานไต้หวัน ในระหว่างที่มิตรประเทศในซีกโลกตะวันตกหันเหความสนใจไปยังสถานการณ์ในยูเครน
สำหรับสถานะของไต้หวัน รมว.อู๋ฯ ย้ำว่า “นโยบายจีนเดียว”ของหลายประเทศ และ “หลักการจีนเดียว” ของจีน มีนัยยะที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง หลายประเทศในประชาคมโลกต่างตระหนักเห็นแล้วว่า ไต้หวันไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของจีน รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่าไต้หวันมีความเป็นประชาธิปไตย และแบ่งแยกการปกครองออกจากจีนซึ่งรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง นอกจากนี้ ไต้หวัน - อินเดียยังจะร่วมแลกเปลี่ยนและประสานความร่วมมือระหว่างกัน ภายใต้พื้นฐานที่มีอยู่เดิม การธำรงรักษาสถานภาพในพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน สอดคล้องกับผลประโยชน์สูงสุดของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงอินเดียด้วย
ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – อินเดีย รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า หลายปีมานี้ ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนับวันยิ่งมีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น รัฐบาลและประชาชนอินเดียต่างส่งมอบความเป็นมิตรให้กับไต้หวันด้วยความจริงใจ โดยข้อตกลงว่าด้วยหลักประกันด้านการลงทุนที่ร่วมลงนามโดยไต้หวัน - อินเดีย ได้วางรากฐานที่มั่นคงให้กับความร่วมมือแบบทวิภาคีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยทั้งสองฝ่ายจะมุ่งมั่นในการประสานความร่วมมือในภาคส่วนต่างๆ ต่อไป อาทิ การเกษตร การรับมือกับโรคระบาด การแพทย์ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และการศึกษา เป็นต้น