ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ปธน.ไช่ฯ เข้าร่วม “งานเลี้ยงทางการทูตในราตรีแห่งพลังสตรี”
2022-03-10
New Southbound Policy。ปธน.ไช่ฯ เข้าร่วม “งานเลี้ยงทางการทูตในราตรีแห่งพลังสตรี” (ภาพจากทำเนียบปธน.)
ปธน.ไช่ฯ เข้าร่วม “งานเลี้ยงทางการทูตในราตรีแห่งพลังสตรี” (ภาพจากทำเนียบปธน.)

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 8 มี.ค. 65

เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 8 มี.ค. ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วม “งานเลี้ยงทางการทูตในราตรีแห่งพลังสตรี” พร้อมกล่าวว่า ไต้หวันอยู่ในแนวหน้าของผลักดันความเสมอภาคทางเพศและการส่งเสริมสิทธิสตรีมาโดยตลอด พร้อมทั้งแสวงหาโอกาสในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันและองค์การระหว่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งเสริมสิทธิสตรีด้วย โดยปธน.ไช่ฯ หวังว่าความช่วยเหลือและการร่วมเป็นกระบอกเสียงของทุกคน จะมีส่วนช่วยให้ให้กลุ่มสตรีมีโอกาสได้เข้าร่วมในกิจการสาธารณะเพิ่มมากขึ้น เพื่อมุ่งสู่การสรรค์สร้างสังคมที่มีความเท่าเทียมอย่างยั่งยืน
 
ปธน.ไช่ฯ กล่าวปราศรัยเป็นภาษาอังกฤษว่า ก่อนอื่นข้าพเจ้าต้องขอแสดงความเสียใจกับประชาชนชาวออสเตรเลียที่สูญเสียสมาชิกในครอบครัวเนื่องด้วยเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ในรัฐควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย ที่มีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน โดยปธน.ไช่ฯ หวังว่าเหล่าผู้ประสบภัยจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติในเร็ววัน ซึ่งไต้หวันได้เตรียมพร้อมสำหรับการส่งมอบความช่วยเหลือแล้ว
 
ปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่มีโอกาสได้พบกับกลุ่มสตรีผู้มีความโดดเด่นจำนวนมากที่มารวมตัวกันในวันนี้ โดยนอกจากจะต้องขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ที่จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองเนื่องใน “วันสตรีสากล” แล้ว ยังต้องขอบคุณมูลนิธิส่งเสริมสิทธิสตรี และกต.ไต้หวัน ที่ร่วมจัด “สัปดาห์แห่งความเสมอภาคทางเพศของไต้หวัน” ขึ้นในปีนี้
 
ปธน.ไช่ฯ ชี้ว่า กิจกรรมตลอดทั้งสัปดาห์นี้ จะเน้นในด้านพลังสตรีกับแผนปฎิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อตอบสนองตามมติของที่ประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี (Commission on the Status of Women, CSW) ครั้งที่ 66 เพื่อให้พวกเรามีโอกาสในการแบ่งปันผลสัมฤทธิ์ล่าสุดที่ได้จากการผลักดันความเสมอภาคทางเพศและความยุติธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ โดยกิจกรรมเหล่านี้ได้ยกย่องเชิดชูความสำเร็จและการสร้างคุณประโยชน์ของกลุ่มสตรีทั่วโลก จึงขอใช้โอกาสนี้ขอบคุณกลุ่มสตรีจากทั่วไต้หวัน ที่มาเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ และมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมในไต้หวันและทั่วโลกที่เราพำนักอาศัยอยู่
 
ปธน.ไช่ฯ เห็นว่า ในฐานะที่ตนเป็นประธานาธิบดี จึงมีหน้าที่รับผิดชอบในการผลักดันการส่งเสริมสิทธิสตรีทั้งในและต่างประเทศ พร้อมหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะไม่ต้องเห็นคำว่า “ประธานาธิบดีหญิง” อีก โดยปธน.ไช่ฯ กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า ไต้หวันอยู่ในแนวหน้าของการเป็นผู้นำในการผลักดันความเสมอภาคทางเพศและสิทธิสตรี ซึ่งมีการพัฒนาที่รุดหน้าเป็นอย่างมาก ตามรายงานภาพลักษณ์ทางเพศประจำปี 2022 ที่ประกาศโดยสภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) อันดับความเสมอภาคทางเพศของไต้หวันถูกจัดให้อยู่อันดับที่ 6 จาก 163 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย โดยจำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติที่เป็นสตรีของไต้หวัน ก็มีสัดส่วนร้อยละ 42 ซึ่งสูงกว่าประเทศอื่นๆ
 
ปธน.ไช่ฯ ชี้อีกว่า ไต้หวันได้แสวงหาแนวทางในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน รวมถึงองค์การระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้สังคมโลกให้ความสำคัญต่อสิทธิสตรี โดยพวกเราได้เข้าร่วมแผนริเริ่มการสร้างภูมิภาคที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรม ตามที่พันธมิตรในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกและการส่งเสริมเศรษฐกิจของกลุ่มสตรีจัดตั้งขึ้น นอกจากนี้ องค์กรเอกชนของไต้หวันก็ได้เข้าร่วมการประชุมนอกรอบของการประชุม CSW ซึ่งเป็นองค์การนอกภาครัฐ เนื่องด้วยความมุ่งมั่นพยายามของหน่วยงานเอกชน พวกเราจึงได้มีโอกาสร่วมแบ่งปันประสบการณ์ของไต้หวันเพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาคมโลก โดยเฉพาะความคืบหน้าในการพัฒนาความเสมอภาคทางเพศและการส่งเสริมสิทธิสตรีอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันก็เป็นการเสริมสร้างความเชื่อมโยงกับหุ้นส่วนทางความร่วมมือทั่วโลกด้วยเช่นกัน
 
ปธน.ไช่ฯ เห็นว่า การประสานสามัคคีเช่นนี้ มีความสำคัญต่อประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เช่น การรับมือกับความท้าทายทางสภาพภูมิอากาศ โดย 80% ของผู้พลัดถิ่นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นผู้หญิง ซึ่งพวกเขาต้องเป็นผู้แบกรับผลกระทบส่วนมาก และนี่เป็นปัญหาที่ไต้หวันต้องการจะเร่งแก้ไขตามหลักนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีวิสัยทัศน์ ในความเป็นจริงแล้ว ในระหว่างการแสวงหาแนวทางในการแก้ไขกฎหมายเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ พวกเราก็ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศและสิทธิกลุ่มผู้ด้อยโอกาสด้วยเช่นกัน
 
ปธน.ไช่ฯ ยังเห็นว่า ด้วยความคิดสร้างสรรค์และความยืดหยุ่นของพวกเรา ผู้หญิงก็สามารถเป็นพลังอันเข้มแข็งในการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีเพียงการเข้าร่วมของกลุ่มสตรี จึงจะสามารถแสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และบรรลุความยุติธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนสร้างหลักประกันด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เชื่อว่าภายใต้การประสานความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐบาล พวกเราจะสามารถก้าวไปสู่เป้าหมายได้ตามความคาดหวังไว้
 
ในตอนท้าย ปธน.ไช่ฯ ยังได้ร่วมกับแขกผู้มีเกียรติในงานในการทำพิธีเปิด “กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงการด้านการทูตพลังสตรี ปี 2022” พร้อมร่วมรับฟังสถานการณ์โลกภายใต้แนวคิด “ความยุติธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ” แนวโน้มระหว่างประเทศและแผนปฏิบัติการของไต้หวัน ร่วมกับนายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และกลุ่มผู้แทนทางการทูตจากนานาประเทศ ที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้