กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 19 มี.ค. 65
เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แก่ Ms. Peta Credlin พิธีกรของรายการ Credlin เป็นรายการที่นำเสนอเรื่องราวทางการเมืองของสถานีโทรทัศน์ The Sky News Australia โดยรมว.อู๋ฯ กล่าวชี้แจงในเชิงลึกถึงความสำคัญของความมั่นคงในพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวันที่มีต่อภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก การเสริมสร้างแสนยานุภาพด้านกลาโหมของไต้หวัน เพื่อรับมือกับการคุกคามด้วยกำลังทหารจากจีน รวมถึงประเด็นการขอเข้าร่วม “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership, CPTPP) ของไต้หวัน โดยบทสัมภาษณ์ได้รับการเผยแพร่ในวันเดียวกัน และได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างแพร่หลาย
ในตอนแรก รมว.อู๋ฯ ได้พูดถึงความสำคัญของความมั่นคงและเจริญรุ่งเรืองของไต้หวันที่มีต่อภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก โดยไต้หวันและออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน และยึดมั่นในค่านิยมสากลด้านประชาธิปไตย เสรีภาพ และธำรงรักษาซึ่งสิทธิมนุษยชนร่วมกัน แต่จีนกลับต้องการระเบียบระหว่างประเทศใหม่ โดยนำเอาแนวคิดแบบเผด็จการมายัดเยียดให้กับไต้หวัน รวมถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ซึ่งหากไต้หวันล่มสลาย ทั่วโลกก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้ ไต้หวันจึงมุ่งมั่นในการธำรงรักษาไว้ซึ่งอธิปไตยและวิถีชีวิตแห่งประชาธิปไตยและเสรีภาพ
ในแง่ของภูมิรัฐศาสตร์ จีนและรัสเซียซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ยึดมั่นในลัทธิอำนาจนิยม กำลังแผ่ขยายอำนาจไปทั่วทุกพื้นที่บนโลก ซึ่งสงครามระหว่างรัสเซีย – ยูเครนถือเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดสถานการณ์เช่นนี้ขึ้นในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก กลุ่มประเทศประชาธิปไตยจำเป็นต้องให้ความสำคัญ และขัดขวางการแผ่ขยายอำนาจของลัทธิอำนาจนิยม ในแง่ของเศรษฐกิจ ไต้หวันครองบทบาทที่สำคัญในห่วงโซ่อุปทานด้านเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก การบุกโจมตีไต้หวันไม่ว่าในกรณีใดๆ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงจำเป็นต้องอาศัยสันติวิธีในการแก้ไขปัญหาสองฝั่งช่องแคบไต้หวันหรือปัญหาระหว่างแต่ละประเทศ
รมว.อู๋ฯ ชี้ว่า จีนไม่เคยล้มเลิกความคิดที่จะเข้ายึดครองไต้หวันด้วยกำลังทหาร ไต้หวันจึงจำเป็นต้องเตรียมการให้พร้อมอยู่ตลอดเวลาเพื่อรับมือกับสงครามที่อาจเกิดขึ้น นอกจากจีนจะจ้องโจมตีไต้หวันด้วยขีปนาวุธแล้ว ยังส่งเครื่องบินทหารและเรือรบเข้าก่อกวนไต้หวันอยู่บ่อยครั้ง เฉพาะในปี 2021 จีนได้ส่งเครื่องบินทหารเข้าก่อกวนไต้หวันเกือบพันลำ หลายปีมานี้ ไต้หวันเร่งยกระดับแสนยานุภาพของตนเอง ร่วมเจรจาความมั่นคงทางยุทธศาสตร์กับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันอย่างสหรัฐอเมริกา การปกป้องอำนาจอธิปไตยเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของพวกเรา การปกป้องรูปวิถีชีวิตแห่งประชาธิปไตยของไต้หวัน มีความหมายในเชิงสัญญลักษณ์ต่อทั่วโลกเป็นอย่างมาก โดยพวกเราต่างก็มีความมุ่งมั่นและแน่วแน่ในการปกป้องดินแดนของตนเอง
รมว.อู๋ฯ ยังเห็นว่า สหรัฐฯ กลุ่มประเทศในทวีปยุโรปและกลุ่มประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ ต่างรับไม่ได้กับเหตุการณ์การบุกโจมตียูเครนของรัสเซีย ด้วยเหตุนี้ จึงได้ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียกันถ้วนหน้า และให้การสนับสนุนแก่ยูเครนอย่างเต็มกำลัง ซึ่งไต้หวันก็ได้ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่แก่ผู้ลี้ภัยที่ต้องการอพยพลี้ภัยไปยังประเทศรายรอบ รมว.อู๋ฯ ย้ำว่า หากพิจารณาจากการประชุมหารือระหว่างจีน - สหรัฐฯ รัฐบาลสหรัฐฯ คัดค้านต่อพฤติกรรมการข่มขู่ไต้หวันของรัฐบาลจีน ไต้หวันได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ แบบข้ามพรรค ในระหว่างการเจรจาระดับสูงระหว่างสหรัฐฯ และประเทศอื่น ความมั่นคงระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวันเป็นประเด็นที่ประชาคมโลกจับตาให้ความสำคัญ EU ฝรั่งเศสและเยอรมนีรวมถึงกลุ่มประเทศในยุโรป ต่างก็เริ่มดำเนินการตามยุทธศาสตร์อินโด - แปซิฟิก ในการสร้างความร่วมมือกับไต้หวัน เชื่อว่า กลุ่มประเทศประชาธิปไตยจะให้การสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือไต้หวันต่อไป
โดยรมว.อู๋ฯ ได้กล่าวขอบคุณออสเตรเลีย สำหรับการให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมกลุ่ม CPTPP เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาของออสเตรเลีย “คณะกรรมการร่วมด้านการต่างประเทศ กลาโหมและเศรษฐกิจการค้า” ได้ประกาศรายงานการสำรวจ “การขยายสมาชิก CPTPP” ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ แบบข้ามพรรคได้เรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลียให้ความช่วยเหลือไต้หวันได้เข้าร่วมกลุ่ม CPTPP พร้อมเร่งเปิดการลงนาม “ความตกลงการค้าเสรี (FTA)” ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ รมว.อู๋ฯ ย้ำอีกว่า การเข้าร่วมกลุ่ม CPTPP ไม่เพียงแต่เป็นประเด็นด้านเศรษฐกิจการค้าเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยในการรวมกลุ่มประเทศประชาธิปไตยเพื่อต่อต้านลัทธิอำนาจนิยม ไต้หวันคาดหวังที่จะเห็นประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันอย่างออสเตรเลียและญี่ปุ่น ให้การสนับสนุนไต้หวันต่อไป โดยไต้หวันนับเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของตลาดส่งออกของออสเตรเลียในปี 2021 แต่ไต้หวันยังคงเป็นเพียงหุ้นส่วนทางการค้าเพียงประเทศเดียวที่ไม่ได้ร่วมลงนาม FTA กับออสเตรเลีย จึงคาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นไต้หวัน - ออสเตรเลีย สร้างความสัมพันธ์แบบทวิภาคี ผ่านการร่วมลงนาม FTA เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่าย และกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคลากร ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันได้มากยิ่งขึ้น