ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ปธน.ไช่ฯ เข้าร่วม “งานเลี้ยงประจำปี 2022 ของหอการค้าสหรัฐฯ ในไต้หวัน”
2022-03-31
New Southbound Policy。ปธน.ไช่ฯ เข้าร่วม “งานเลี้ยงประจำปี 2022 ของหอการค้าสหรัฐฯ ในไต้หวัน” (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
ปธน.ไช่ฯ เข้าร่วม “งานเลี้ยงประจำปี 2022 ของหอการค้าสหรัฐฯ ในไต้หวัน” (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 30 มี.ค. 65
 
เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 30 มี.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วม “งานเลี้ยงประจำปี 2022 ของหอการค้าสหรัฐฯ ในไต้หวัน” (AmCham Taiwan) โดยปธน.ไช่ฯ แสดงความคาดหวังที่จะสร้างความร่วมมือกับหอการค้าสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนทางการค้าและการลงทุนแบบทวิภาคีระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์อย่างเป็นรูปธรรม จะขับเคลื่อนให้เกิดความคืบหน้าในการร่วมลงนามข้อตกลงทางการค้าแบบเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ต่อไป
 
ทั้งนี้ ปธน.ไช่ฯ ได้กล่าวปราศรัยเป็นภาษาอังกฤษ โดยมีใจความสำคัญดังนี้:

ข้าพเจ้าขอแสดงความยินดีกับ Mr. Vincent Shih ที่เข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าสหรัฐฯ ในไต้หวัน เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา พร้อมเชื่อว่า ภายใต้การนำของ Mr. Shih หอการค้าสหรัฐฯ ในไต้หวันจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ให้เป็นไปในเชิงลึกได้อย่างแน่นอน
 
อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไต้หวันเมื่อปีที่แล้ว อยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 6.45 ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี โดยในช่วงที่ผ่านมา หอการค้าสหรัฐฯ ได้ประกาศ “รายงานการสำรวจแนวโน้มการเติบโตทางการค้าในอนาคต ปี 2022” ซึ่งชี้ว่า กว่าร้อยละ 80 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ต่างเห็นว่าเศรษฐกิจของไต้หวันมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปีนี้ และตลอด 3 ปีข้างหน้า
 
พื้นฐานด้านเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด คือ บุคลากร ด้วยเหตุนี้ เราจึงมุ่งมั่นในการบ่มเพาะบุคลากรยุคใหม่ ผ่านการประสานความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาควิชาการ นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา เรายังได้จัดตั้งสถาบันวิจัยเซมิคอนดักเตอร์ (College of Semiconductor Research, CoSR) ขึ้น ในสถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงในไต้หวัน รวม 4 แห่ง
 
โดยรัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการในการยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมและศักยภาพในการแข่งขัน นับตั้งแต่ด้านเทคโนโลยีเกิดใหม่ไปจนถึงเศรษฐกิจดิจิทัล จากการแพทย์ไปจนถึงเทคโนโลยีชีวภาพและภาคการผลิต ทั้งนี้ เพื่อสร้างหลักประกันด้านการขยายตัวและการพัฒนาในอนาคตต่อไป
 
ในการนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจถึงความสำคัญในความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ประกอบการที่มีต่อรัฐบาลในด้านการส่งจ่ายพลังงานอย่างมีเสถียรภาพและมีความยืดหยุ่น ขอให้คำมั่นว่า เราจะรักษาเสถียรภาพในอุปทานของระบบไฟฟ้าอย่างเต็มกำลัง นอกจากนี้ บนเส้นทางแห่งการก้าวสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน เราจะเร่งเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
 
ข้าพเจ้าทราบดีว่า นับวัน กลุ่มผู้ประกอบการจากไต้หวันและทั่วโลก ต่างก็ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางไซเบอร์ รัฐบาลจึงได้ประสานความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรและมิตรประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อร่วมปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล เครือข่ายองค์กรธุรกิจ ระบบสื่อสารและโทรคมนาคม ไม่ให้ได้ถูกคุกคามจากภัยทางไซเบอร์ที่อุบัติขึ้นใหม่
 
ขณะเดียวกัน พวกเราก็จะมุ่งมั่นในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมด้านการลงทุน โดยในส่วนนี้ต้องขอบคุณคำแนะนำและชี้แนะจากหอการค้าสหรัฐฯ เป็นอย่างยิ่ง
 
การลงประชามติเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่า ไต้หวันมีความประสงค์ที่จะเข้าร่วม “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership, CPTPP) พร้อมทั้งต้องการจะมีส่วนร่วมในการค้าทั่วโลก ซึ่งพวกเราได้เตรียมตัวจนพร้อมแล้ว ด้วยการกำหนดให้นโยบายและข้อกฎหมายของไต้หวัน สอดคล้องกับมาตรฐานสูงสุดของประเทศสมาชิกในกลุ่ม CPTPP
 
ในระหว่างที่ไต้หวันเร่งยกระดับศักยภาพทางการแข่งขัน เรายังได้ตระหนักเห็นถึงความท้าทายทั่วโลกในปัจจุบัน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสถานการณ์ระหว่างประเทศ การประสานความร่วมมือระหว่างกัน จึงมีความสำคัญต่อความมั่นคงโดยรวมของนานาประเทศมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม การคุกคามทางเศรษฐกิจของประเทศเผด็จการและการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ถือเป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้ทั่วโลกเห็นว่า ความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศด้านการเมืองและเศรษฐกิจ กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
 
ไต้หวันพร้อมแล้ว และมีความยินดีที่จะสวมบทบาทอย่างมีนัยยะสำคัญในการรับมือกับวิกฤตของประชาคมโลกเหล่านี้ โดยเราจะเร่งประสานความร่วมมือกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานเพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ เพื่อส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย และรักษาความมั่นคงในระดับภูมิภาค ตลอดจนกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจร่วมกันในระดับภูมิภาคต่อไป
 
ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า ความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนอย่างยั่งยืนระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ จะเป็นกำลังสำคัญในการเอาชนะความท้าทายในปัจจุบัน  ยุทธศาสตร์อินโด – แปซิฟิกของสหรัฐฯ เป็นกรอบความร่วมมือที่สำคัญสำหรับกลุ่มพันธมิตรในภูมิภาค เพื่อยกระดับความร่วมมือและการพัฒนาด้านความมั่นคง
 
ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา นอกจากไต้หวัน - สหรัฐฯ จะประสานความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกันแล้ว ในด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าก็มีความแนบแน่นเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับด้วยเช่นกัน
 
กรอบความตกลงทางการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Framework Agreement, TIFA) ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ได้รับการฟื้นฟูและเปิดฉากขึ้นในเดือนมิถุนายนของปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงคำมั่นในการประสานความร่วมมือเชิงลึกด้านเศรษฐกิจแบบทวิภาคีระหว่างกันด้วย
 
เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ไต้หวัน – สหรัฐฯ ได้จัด  “การเจรจาหุ้นส่วนเพื่อความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ (Taiwan-US Economic Prosperity Partnership Dialogue, EPPD)” เพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือในอนาคต รวมถึงแนวทางการร่วมแบ่งปันทรัพยากรทางข้อมูลระหว่างกัน
 
เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ยังมีการจัดตั้งกลไกความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนด้านเทคโนโลยีระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ (TTIC) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาโครงการทางการค้า และสร้างเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
 
นอกจากนี้ เพื่อสร้างความร่วมมือในเชิงลึก เราได้ทยอยลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้ากับรัฐนิวเม็กซิโกและรัฐแอริโซนาตามลำดับ โดยโครงการก่อตั้งโรงงานของบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ในรัฐแอริโซนา ที่มีมูลค่ากว่าร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ ได้ดึงดูดให้มีการลงทุนในพื้นที่มากขึ้น และถือเป็นการวางรากฐานในการทำให้เกิดการรวมกลุ่มของอุตสาหกรรมในพื้นที่ด้วย
 
กล่าวโดยสรุป พวกเรามุ่งมั่นในการประสานความร่วมมือกับสหรัฐฯ และพันธมิตรทั่วโลกอย่างอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างหลักประกันในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกให้มีเสถียรภาพและมีความเจริญรุ่งเรืองสืบไป
 
รัฐบาลไต้หวันหวังที่จะประสานความร่วมมือกับหอการค้าสหรัฐฯ ในไต้หวันอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนทางการค้าและการลงทุนระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ
 
ข้าพเจ้าเชื่อว่า ความร่วมมือที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์และเป็นรูปธรรม จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดความคืบหน้าในการร่วมลงนามข้อตกลงทางการค้าแบบเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ต่อไป