ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ไต้หวันเข้าร่วม “การประชุม CBPR Forum” ที่สหรัฐฯ เป็นแกนนำผลักดัน ในฐานะประเทศสมาชิกรุ่นบุกเบิก
2022-04-22
New Southbound Policy。ไต้หวันเข้าร่วม “การประชุม CBPR Forum” ที่สหรัฐฯ เป็นแกนนำผลักดัน ในฐานะประเทศสมาชิกรุ่นบุกเบิก (ภาพจากเฟซบุ๊กกระทรวงการต่างประเทศ)
ไต้หวันเข้าร่วม “การประชุม CBPR Forum” ที่สหรัฐฯ เป็นแกนนำผลักดัน ในฐานะประเทศสมาชิกรุ่นบุกเบิก (ภาพจากเฟซบุ๊กกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 21 เม.ย. 65
 
เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ที่ผ่านมา สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็น 7 ประเทศสมาชิกของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (APEC) ได้ร่วมกันประกาศ “ปฏิญญาร่วมว่าด้วยกฎระเบียบด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแบบข้ามพรมแดน” (Global Cross-Border Privacy Rules Declaration) พร้อมนี้ ยังได้ร่วมจัดกลไก “การประชุมว่าด้วยกฎระเบียบด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแบบข้ามพรมแดน” (Global Cross-Border Privacy Rules Forum, CBPR Forum) ในฐานะประเทศสมาชิกรุ่นบุกเบิก ไต้หวันจะร่วมแลกเปลี่ยนและหารือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกับประเทศสมาชิกอื่นๆ ในการประชุมครั้งนี้ ตลอดจนร่วมส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามพรมแดนและคุ้มครองความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลในระดับโลกต่อไป
 
การประชุม CBPR Forum ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำ ได้พัฒนามาจากระบบการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแบบข้ามพรมแดน ที่สหรัฐฯ เร่งผลักดันในการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (APEC) ในช่วงที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องข้อมูลและความเป็นส่วนตัวให้กับผู้บริโภค พร้อมเร่งผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนในด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซและการค้าดิจิทัล หลังจากที่โลกของอินเทอร์เน็ตและเศรษฐกิจดิจิทัลมีการพัฒนามากขึ้น นับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา สหรัฐฯ ได้มุ่งมั่นในการขยายระบบ CBPR ให้ครอบคลุมไปสู่พื้นที่ภายนอกของกลุ่ม APEC จนทำให้เกิดเป็นการจัดตั้งการประชุมนานาชาติในครั้งนี้ เพื่อเปิดรับประเทศอื่นๆ ที่มีความประสงค์จะเข้าร่วม ซึ่งได้รับการตอบสนองจากไต้หวันและเขตเศรษฐกิจของกลุ่มเอเปคหลายแห่ง โดยไต้หวันได้เข้ามีส่วนร่วมในการเจรจาและเตรียมการ ก่อนที่การประชุม CBPR Forum จะถูกประกาศจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ
 
จุดประสงค์ของการจัดการประชุม CBPR Forum ก็เพื่อส่งเสริมให้เกิดความสอดคล้องอันจะนำไปสู่การบูรณาการร่วมกันของแนวทางการปกป้องและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลทุกรูปแบบในระดับนานาชาติ พร้อมทั้งเปิดให้เขตเศรษฐกิจที่มีคุณสมบัติสอดคล้องซึ่งมีอำนาจในการตัดสินคดีภายใต้กระบวนการยุติธรรม สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ การที่ไต้หวันเข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยในการยกระดับความร่วมมือด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแบบข้ามพรมแดน และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาการค้าดิจิทัลแบบข้ามพรมแดนต่อไปในภายภาคหน้า