ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
กต.ไต้หวันและสมาคม IEAT ร่วมจัด “การประชุมสัมมนาโอกาสธุรกิจทางการค้าในภูมิภาคอเมริกากลางและใต้” เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไต้หวันใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทางค้าที่ร่วมลงนามกับกลุ่มประเทศพันธมิตรมาต่อยอดทางธุรกิจ
2022-04-22
New Southbound Policy。กต.ไต้หวันและสมาคม IEAT ร่วมจัด “การประชุมสัมมนาโอกาสธุรกิจทางการค้าในภูมิภาคอเมริกากลางและใต้” เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไต้หวันใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทางค้าที่ร่วมลงนามกับกลุ่มประเทศพันธมิตรมาต่อยอดทางธุรกิจ (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
กต.ไต้หวันและสมาคม IEAT ร่วมจัด “การประชุมสัมมนาโอกาสธุรกิจทางการค้าในภูมิภาคอเมริกากลางและใต้” เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไต้หวันใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทางค้าที่ร่วมลงนามกับกลุ่มประเทศพันธมิตรมาต่อยอดทางธุรกิจ (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 20 เม.ย. 65
 
เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และ “สมาคมผู้นำเข้าและส่งออกกรุงไทเป” (Importers and Exporters Association of Taipei, IEAT) ร่วมจัด “การประชุมสัมมนาโอกาสธุรกิจทางการค้าในภูมิภาคอเมริกากลางและใต้” (2022 Central and South America Trade Promotion and Market Opportunity Symposium) ซึ่งมีกลุ่มผู้ประกอบการไต้หวันกว่า 150 รายลงทะเบียนเข้าร่วม โดยหวังจะทำความเข้าใจต่อโอกาสการค้าที่เกิดจากการลงนาม “ความตกลงการค้าเสรี (FTA)” และ “ความตกลงทางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ” (ECA) ระหว่างไต้หวัน – กลุ่มประเทศพันธมิตร เช่น เบลีซ กัวเตมาลา ฮอนดูรัสและปารากวัย โดยในช่วงเริ่มต้นของการประชุมฯ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจจงหัว (CIER) ของไต้หวัน ได้ประกาศแผนที่โอกาสธุรกิจ พร้อมทั้งทำการวิเคราะห์และรวบรวมสินค้าปลอดภาษีและสินค้าลดหย่อนภาษีที่มีศักยภาพในการนำเข้า – ส่งออกระหว่างไต้หวันและ 4 ประเทศพันธมิตร พร้อมทั้งติดต่อเชิญเอกอัครราชทูตของกลุ่มประเทศพันธมิตรทั้ง 4 ที่ประจำอยู่ในไต้หวัน รวมถึงตัวแทนและกลุ่มผู้ประกอบการเข้าร่วมแลกเปลี่ยนในการประชุมครั้งนี้ เพื่อร่วมแบ่งปันแนวทางการประยุกต์ใช้ข้อตกลงทางเศรษฐกิจข้างต้น ในการขยายการค้าแบบทวิภาคีต่อไป
 
นายอวี้ต้าเหลย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงในการประชุมว่า ผลผลิตทางเกษตรและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่มีคุณภาพของประเทศพันธมิตรในภูมิภาคอเมริกากลางและใต้ ได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้บริโภคชาวไต้หวันเป็นอย่างมาก ซึ่งสามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดในไต้หวันได้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก อาทิ ฮอนดูรัสเป็นแหล่งนำเข้ากุ้งขาวอันดับ 1 ของไต้หวัน กัวเตมาลาส่งออกน้ำตาลให้กับไต้หวัน มากเป็นอันดับ 2 ของโลก นอกจากนี้ ปารากวัยยังเป็นแหล่งนำเข้าเนื้อวัวอันดับ 2 ของไต้หวัน โดยในอนาคต ไต้หวันและประเทศพันธมิตรในพื้นที่ภูมิภาคอเมริกากลางและใต้ สามารถเป็นฐานการขยายการตลาดในภูมิภาคนั้นๆ ให้แก่กันและกันได้ ด้วยการผสมผสานระหว่างวัตถุดิบจากประเทศพันธมิตรและเทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารของไต้หวัน เพื่อขยายตลาดไปยังทั่วโลก และกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบชนะสองฝ่าย
 
นายจงสวี่ซุ่น ประธานคณะกรรมการสมาคม IEAT ประกาศว่า การประชุมสัมมนาครั้งนี้เป็นการประชุมรอบแรกของ “โครงการประชาสัมพันธ์การนำเข้าสินค้าจากกลุ่มประเทศในภูมิภาคอเมริกากลางและใต้” โดยในอนาคตจะทยอยจัดการประชุมจับคู่ธุรกิจผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ และการประชาสัมพันธ์อาหารและวัตถุดิบต่างๆ ต่อไป โดยคาดว่า ภายใน 3 ปีนี้ มูลค่าการค้าระหว่างไต้หวันและกลุ่มประเทศพันธมิตรทั้ง 4 จะขยายตัวเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ผ่านการผลักดันโครงการในครั้งนี้
 
โดยยอดสั่งซื้อเนื้อวัวจากปารากวัยของปีนี้ มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 รวมทั้งคาดการณ์ว่ายอดสั่งซื้ออาหารทะเลจะขยายร้อยละ 30 ภายใน 3 ปีนี้ โดยจะสามารถสร้างมูลค่าการค้ารวม 100 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นมูลค่าสั่งซื้อที่อยู่ในระดับเดียวกับก่อนจะเกิดสถานการณ์โควิด – 19
 
นับตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา ไต้หวันได้ทยอยลงนาม FTA และ ECA กับกัวเตมาลา ฮอนดูรัสและปารากวัยตามลำดับ โดยข้อตกลง ECA ระหว่างไต้หวัน - เบลีซ ก็ได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยไต้หวัน - เบลีซ ต่างยินดีที่จะลดหย่อนภาษีนำเข้าระหว่างกันในสินค้ารวม 230 รายการ นอกจากนี้ ในปีนี้ไต้หวันยังได้เพิ่มรายการสินค้าลดหย่อนภาษีของฮอนดูรัสและปารากวัย รวมอีก 35 รายการด้วย