ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ปธน.ไช่ฯ เข้าตรวจการณ์ ศูนย์บัญชาการกลางป้องกันโรคระบาด (CECC) ของไต้หวัน
2022-04-27
New Southbound Policy。ปธน.ไช่ฯ เข้าตรวจการณ์ ศูนย์บัญชาการกลางป้องกันโรคระบาด (CECC) ของไต้หวัน (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
ปธน.ไช่ฯ เข้าตรวจการณ์ ศูนย์บัญชาการกลางป้องกันโรคระบาด (CECC) ของไต้หวัน (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 26 เม.ย. 65
 
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 26 เม.ย. ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าตรวจการณ์ศูนย์บัญชาการกลางป้องกันโรคระบาด (CECC) ของไต้หวัน พร้อมระบุว่า การคำนึงถึงหลักการป้องกันโรคระบาด การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และวิถีการดำเนินชีวิตของภาคประชาสังคม ก็ยังเป็นเป้าหมายหลักของพวกเรา เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19  ปธน.ไช่ฯ จึงได้ชี้แนะ 4 มาตรการป้องกันโรคระบาด ได้แก่ “เสริมสร้างกลไกการดูแลและคัดแยกผู้ป่วยอาการหนัก – เบา รับประกันศักยภาพการรักษาพยาบาลที่เพียงพอต่อความต้องการ” “การจำหน่ายชุดตรวจโควิด-19 ด้วยตนเอง (ATK) แบบยืนยันตัวตน” “สอบสวนโรคเฉพาะกรณีสำคัญ” และ “ยกระดับอัตราการฉีดวัคซีนของประชาชนในไต้หวัน ให้ครอบคลุมอย่างทั่วถึง” โดยปธน.ไช่ฯ เรียกร้องให้ประชาชน “ให้ความร่วมมือกับแนวทางปฏิบัติเพื่อการป้องกันโรคระบาดและตั้งสติให้ดี” “ระแวดระวังแต่ไม่วิตกกังวลจนเกินกว่าเหตุ” พร้อมประสานสามัคคีในการป้องกันโรคระบาด ตลอดจนร่วมสรรค์สร้างสังคมไต้หวันที่เปี่ยมด้วยความแข็งแกร่งและยืดหยุ่นต่อไป
 
การกล่าวสุนทรพจน์ของปธน. ไช่ฯ ต่อสาธารณชนในประเทศในครั้งนี้ มีสาระสำคัญ ดังนี้

วันหยุดแรงงานสากลที่ตรงกับวันที่ 1 พ.ค. ของทุกปีใกล้เวียนมาถึง ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ทั้ง CECC และเจ้าหน้าที่ป้องกันโรคระบาดที่ปฏิบัติภารกิจอยู่แนวหน้า ยังคงยืนหยัดในหน้าที่อย่างแข็งขัน การเดินทางมาเยือน CECC ในครั้งนี้ นอกจากการมารับฟังรายงานสถานการณ์ล่าสุดของโรคระบาดแล้ว ยังมาร่วมเป็นกำลังให้ทุกคน พร้อมขอบคุณทุกคนที่ยอมเหน็ดเหนื่อยและอดทนทำงานเพื่อประเทศชาติ
 
ตลอดช่วงที่ผ่านมานี้ การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 สายพันธุ์โอมิครอน แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว เมื่ออ้างอิงจากประสบการณ์ที่พบเห็นจากสถานการณ์โรคระบาดในประเทศอื่นๆ ประกอบกับการประเมินและพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญ ปธน.ไช่ฯ ขอแจ้งเตือนให้ทุกท่านทราบว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคระบาดของไต้หวัน ยังไม่ถึงจุดสูงสุด สถานการณ์โรคระบาดในพื้นที่ทั่วประเทศยังทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยอดผู้ป่วยยืนยันนับวันก็ยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้น
 
หลายคนต่างวิตกกังวลว่า เชื้อไวรัสดูเหมือนใกล้ตัวเข้าไปทุกที แต่ถึงกระนั้น ปธน.ไช่ฯ ชี้แจงว่า ตราบจนปัจจุบัน สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศ นับตั้งแต่ต้นปีตราบจนปัจจุบัน ผู้ป่วยยืนยันกว่าร้อยละ 99.68 ล้วนเป็นผู้ป่วยอาการเบาหรือไม่แสดงอาการ มีเพียงร้อยละ 0.03 ที่เป็นผู้ป่วยอาการวิกฤต และมีเพียงร้อยละ 0.01ที่ถึงแก่ชีวิต จึงจะเห็นได้ว่าความเสี่ยงต่อสุขภาพที่เกิดจากสถานการณ์โรคระบาดค่อนข้างต่ำ ซึ่งในปัจจุบัน พวกเราก็ได้มุ่งมั่นในการเสริมสร้างกลไกการป้องกันและรักษาผู้ป่วยอาการปานกลางและอาการหนักอย่างกระตือรือร้น
 
เมื่อเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โรคโควิด – 19 CECC และคณะทำงานเฉพาะกิจต่างเร่งจับตาต่อสถานการณ์ล่าสุดอย่างใกล้ชิด โดยรัฐบาลจะเตรียมความพร้อมในทุกด้าน เพื่อรับมือกับความท้าทายในแต่ละลำดับขั้น และแต่ละสถานการณ์ต่อไป อย่างไรก็ตาม ปธน.ไช่ฯเรียกร้องให้ประชาชนทุกคนที่เผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากโรคระบาด “ให้ความร่วมมือต่อแนวทางการป้องกันโรคระบาดและตั้งสติให้ดี” “ระแวดระวังแต่ไม่วิตกกังวลจนเกินกว่าเหตุ” และเนื่องด้วยคุณสมบัติของโรคโควิด – 19 สายพันธุ์โอมิครอน พวกเราจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ด้านการป้องกันโรคระบาดให้สอดคล้องต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน หลายวันมานี้ รัฐบาลกลางและส่วนท้องถิ่นได้จัดการประชุมว่าด้วยการป้องกันโรคระบาดอย่างกระตือรือร้น โดยมีผู้เชี่ยวชาญให้คำชี้แนะในการปรับเปลี่ยนนโยบายที่เกี่ยวข้อง
 
อย่างไรก็ตาม ปธน.ไช่ฯ ระบุว่า การคำนึงถึงหลักการป้องกันโรคระบาด เศรษฐกิจ และวิถีการดำเนินชีวิตของภาคประชาสังคม ก็ยังเป็นเป้าหมายหลักของพวกเรา เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์โรคระบาด พวกเราต้องก้าวสู่อีกขั้นของมาตรการป้องกันโรคระบาด ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 มิติหลัก ดังนี้
 
1.พวกเราต้องเสริมสร้างกลไกการดูแลและคัดแยกผู้ป่วยอาการหนัก – เบา พร้อมรับประกันศักยภาพการรักษาพยาบาลที่เพียงพอต่อความต้องการ

โรงพยาบาลจะเปิดรับเฉพาะผู้ป่วยอาการปานกลาง – หนัก รวมถึงผู้ป่วยยืนยันที่มีความเสี่ยงสูง ส่วนผู้ป่วยยืนยันในกรณีอื่นๆ จะถูกส่งไปพักรักษาตัวในสถานกักกันโรค โรงแรมที่รองรับสำหรับการกักตัว หรือ เข้าสู่ระบบ“การดูแลที่บ้าน” ตามช่วงวัยและสถานการณ์ที่แตกต่าง

สำหรับผู้ป่วยอาการเบาหรือไม่แสดงอาการ ต้องกักตัวอยู่ในบ้านเพื่อรักษาตัว โดยหลังจากกักตัวเป็นเวลา 10 วันและแน่ใจว่าไม่มีอาการแล้ว จึงจะยกเลิกการกักตัวได้ แต่ยังคงต้องสังเกตการณ์อาการตนเองอย่างใกล้ชิดอีก 7 วัน

นอกจากนี้ การเตรียมพร้อมในด้านผลิตภัณฑ์ยาต้านไวรัส ก็ทยอยเข้าที่แล้ว ในปัจจุบัน ยาเรมเดซิเวียร์ (remdesivir) ที่ใช้รักษาผู้ป่วยอาการปานกลาง - หนัก ยังมีปริมาณสำรองที่เพียงพอ

2.การจำหน่ายชุดตรวจ โควิด-19 ด้วยตนเอง (ATK) แบบยืนยันตัวตน

ในเบื้องต้น พวกเราได้รวบรวมชุดตรวจ โควิด-19 ด้วยตนเอง (ATK) ได้แล้วกว่า 170 ล้านชุด ในจำนวนนี้ นอกจากจะสั่งซื้อจากต่างประเทศและรวบรวมจากกลุ่มผู้ประกอบการ รวมเป็นจำนวน 140 ล้านชุดแล้ว พวกเรายังได้จัดตั้ง “ทีมชาติชุดตรวจ ATK” มาช่วยผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์ภายในประเทศ ซึ่งขณะนี้มีสินค้าคงคลังจำนวน 30 ล้านชุด และจะทยอยเข้ามาอีก 20 ล้านชุดในวันที่ 3 พ.ค. ด้วยเหตุนี้ ทางรัฐบาลจึงได้ตัดสินใจดำเนินการจำหน่าย “ชุดตรวจโควิด-19 ด้วยตนเอง (ATK) แบบยืนยันตัวตน” โดยระยะเวลาที่แน่นอน ทางผู้บัญชาการ CECC จะประกาศให้ทราบในภายหลัง
 
เป้าหมายของพวกเราคือการจัดสรรทรัพยากรชุดตรวจ ATK ที่เพียงพอ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสมและวิธีการที่สะดวก เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคประชาสังคมอย่างทั่วถึง
 
3.สอบสวนโรคเฉพาะกรณีสำคัญ

แม้ว่าสายพันธุ์โอมิครอนจะลุกลามไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว แต่อาการหลังจากที่ได้รับเชื้อไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ประกอบกับระยะฟักตัวสั้น ด้วยเหตุนี้ ทาง CECC จึงได้ประกาศว่า นับตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย. เป็นต้นไป จะปรับเปลี่ยนมาใช้นโยบาย “สอบสวนโรคเฉพาะกรณีสำคัญ”  โดยจะยึดหลักการตีกรอบผู้สัมผัสให้แคบที่สุด โดยกำหนดให้คนที่มีประวัติการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันในช่วง 2 วันก่อนวันเกิดอาการ เข้ารับการกักตัวตามมาตรการ โดยนัยยะของคำว่าผู้สัมผัสใกล้ชิด ทาง CECC ก็ได้ทำการชี้แจงไว้อย่างละเอียดแล้วเช่นกัน
 
นอกจากนี้ ผู้สัมผัสใกล้ชิดที่ถูกระบุว่าต้องทำการกักตัว ได้รับการลดจำนวนวันลงมาจาก 10 วันเป็น 3+4 วัน โดย 3 วันแรกต้องกักตัวในบ้าน  ส่วน 4 วันถัดมาเป็นการสังเกตอาการตนเอง อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เข้าสู่ไต้หวัน ยังคงใช้มาตรการกักตัว 10+7 ตามเดิม
 
4. ยกระดับอัตราการฉีดวัคซีนของประชาชนในไต้หวัน ให้ครอบคลุมอย่างทั่วถึง

ขณะนี้ อัตราการฉีดวัคซีนของประชาชนในไต้หวันในเข็มแรกอยู่ที่ร้อยละ 84.57 เข็มที่ 2 อยู่ที่ 79.84 ส่วนเข็มที่ 3 อยู่ที่ 58.24

มีเพียงการยกระดับอัตราการฉีดวัคซีนของประชาชนในประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงจะสามารถเสริมสร้างความยืดหยุ่นของกลไกการป้องกันโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ รายงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศระบุว่า ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด ปธน.ไช่ฯ จึงเรียกร้องให้สมาชิกในครอบครัว ชักชวนผู้สูงอายุในครอบครัวเข้ารับวัคซีนกันอย่างถ้วนหน้า
 
การป้องกันโรคระบาดในลำดับขั้นนี้ รัฐบาลกลางและส่วนท้องถิ่นจะประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างหลักประกันให้กลุ่มผู้ป่วยในระบบการดูแลที่บ้าน หรือกักตัวในบ้าน หรือเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือในสถานกักกันโรค ให้ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีและมีความทั่วถึง ด้วยเหตุนี้ สภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จึงได้จัดการประชุมแบบข้ามหน่วยงาน เพื่อรวบรวมเวชภัณฑ์และบุคลากรที่จำเป็น
 
ในตอนท้าย ปธน.ไช่ฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อเจ้าหน้าที่ทุกคนตั้งแต่ส่วนกลางไปจนถึงส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่ภาครัฐไปจนถึงภาคเอกชน ที่ร่วมปกป้องรักษาสุขภาพของประชาชนในประเทศอย่างแข็งขัน
 
นอกจากนี้ ปธน.ไช่ฯ ยังขอขอบคุณประชาชนชาวไต้หวันทุกคน ที่ประสานสามัคคีในการป้องกันโรคระบาดร่วมกันตลอด 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ส่งผลให้ไต้หวันกลายเป็นจุดสนใจของประชาคมโลก เฉพาะในเดือนที่แล้ว ยอดการสั่งซื้อสินค้าจากไต้หวันได้ทุบสถิติในช่วงเดือนเดียวกันในปีที่ผ่านๆ มา นอกจากนี้ อัตราการส่งออกยังได้มีการขยายตัวติดต่อกัน 25 เดือนแล้ว ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด เศรษฐกิจของไต้หวันยังคงได้รับการพัฒนาต่อไปอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พวกเรามีความสามารถที่จะเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทาย