กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 9 พ.ค. 65
ช่วงไตรมาสแรกของปี 2022 ทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด – 19 และสงครามรัสเซีย – ยูเครน ส่งผลให้การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ระบบการผลิตและห่วงโซ่อุปทานต่างพลอยได้รับผลกระทบตามไปด้วย ซึ่งจะเห็นได้จากราคาวัตถุดิบและพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากพิจารณาจากสถานการณ์ในไต้หวัน จะเห็นได้ว่า ผลการลงประชามติในประเด็นว่าด้วยการนำเข้าเนื้อสุกรที่มีสารแรคโตพามิน ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของไต้หวันในการก้าวสู่ประชาคมโลก นอกจากนี้ รัฐบาลไต้หวันยังได้ควบคุมการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้าจากจังหวัดฟูกูชิมะของญี่ปุ่น ด้วยมาตรฐานสากลและอิงหลักวิทยาศาสตร์ เพื่อสรรค์สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ต่อการเข้าร่วมกลไกการบูรณาการด้านเศรษฐกิจและการค้าในระดับภูมิภาค อย่าง “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership, CPTPP) โดยผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากการส่งเสริมเศรษฐกิจ การค้าและการต่างประเทศของไต้หวัน ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2022 สรุปโดยสังเขปได้ ดังนี้
1. การเข้าร่วมกลไกการบูรณาการด้านเศรษฐกิจและการค้าระดับภูมิภาค
เมื่อเดือนก.พ. ในปีนี้ รัฐบาลไต้หวันได้เปิดให้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารจากจังหวัดฟูกูชิมะของญี่ปุ่น เพื่อแสดงให้ประชาคมโลกเห็นว่า ไต้หวันยินดีที่จะปรับแก้มาตรการทางเศรษฐกิจและการค้าตามกฎระเบียบระหว่างประเทศ พร้อมยินดีที่จะดำเนินตามข้อบังคับที่ระบุไว้ในมาตรฐานสูงสุดด้านกฎระเบียบว่าด้วยการค้าเสรี โดยสำนักงานตัวแทนไต้หวันในต่างประเทศต่างก็ทยอยติดต่อประสานงานกับรัฐบาลของประเทศสมาชิกกลุ่ม CPTPP เพื่อแสวงหาพลังเสียงสนับสนุน นอกจากนี้ เมื่อเดือนมี.ค. สำนักงานตัวแทนไต้หวันในสหรัฐฯ ก็ได้ติดต่อกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบข้ามพรรครวม 200 คน ให้ช่วยร่วมลงนามในหนังสือเพื่อยื่นต่อรัฐบาลโจ ไบเดน โดยเรียกร้องให้เชิญไต้หวันเข้าร่วมใน “กรอบข้อตกลงด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก” (IPEF) โดย Mr. Antony Blinken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหรัฐฯ ได้กล่าวย้ำในที่ประชุมประชาพิจารณ์ของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศแห่งสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เม.ย. โดยระบุว่า จะไม่ปิดโอกาสการเข้าร่วมของไต้หวัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนอันแกร่งกล้าของทุกภาคส่วนในสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) เมื่อเดือนมี.ค.ปีนี้ ไต้หวัน นิวซีแลนด์ ออสเตรเลียและแคนาดา ได้ร่วมจัดตั้งและลงนาม “ความตกลงทางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าของชนพื้นเมือง” (Indigenous Peoples Economic and Trade Cooperation Arrangement, IPETCA) โดยไต้หวันและ 3 ประเทศข้างต้นนับว่าเป็นประเทศสมาชิกรุ่นบุกเบิก ซึ่งเปี่ยมด้วยนัยยะพิเศษที่สำคัญยิ่ง
2. กลุ่มประเทศพันธมิตรและมิตรประเทศร่วมลงนามในความตกลงว่าด้วยเศรษฐกิจและการค้า เสริมสร้างความสัมพันธ์ทางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า
ความตกลงทางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ (ECA) ที่ไต้หวัน - เบลีซร่วมลงนามระหว่างกัน มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 15 ม.ค. โดยทั้งสองประเทศได้เร่งเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างต่อเนื่อง ด้วยมาตรการการลดหย่อนภาษีสินค้า การอนุมัติช่องทางการค้าที่มีความสะดวกเพิ่มมากขึ้น การส่งเสริมการลงทุนและความร่วมมือทางเทคโนโลยี เป็นต้น นอกจากนี้ เมื่อเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา Mr. Luis Alberto Castiglioni รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สาธารณรัฐปารากวัย ก็ได้นำคณะตัวแทนเดินทางมาเยือนไต้หวัน โดยทั้งสองประเทศได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการตรวจคัดกรองโรคระบาดและการผลักดันทางการค้าระหว่างกัน รวมไปถึงหนังสือแสดงเจตจำนงว่าด้วยความร่วมมือตามนโยบายทางอุตสาหกรรมระหว่างไต้หวัน – ปารากวัย เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองประเทศในเชิงลึกต่อไป พร้อมกันนี้ รัฐบาลสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ยังยินดีที่จะลดหย่อนภาษีนำเข้าจากไต้หวันเพิ่มขึ้น 267 รายการอีกด้วย โดยสิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการขยายโอกาสความร่วมมือระหว่างไต้หวันและประเทศพันธมิตร ให้เป็นไปในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น
3. ให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มผู้ประกอบการในการวางรากฐานในต่างประเทศ พร้อมทั้งผลักดันอุตสาหกรรมรูปแบบอัจฉริยะและผลผลิตทางการเกษตรคุณภาพสูงของไต้หวัน ออกสู่ตลาดต่างประเทศ
เพื่อจัดตั้งกลไกความร่วมมือทางห่วงโซ่อุตสาหกรรมระหว่างไต้หวัน – กลุ่มประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) พร้อมด้วยสำนักงานตัวแทนไต้หวันในต่างประเทศ ได้ร่วมจัดตั้ง “กองทุนการลงทุนในกลุ่มประเทศยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก” ที่มียอดการลงทุนรวมมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และโครงการสินเชื่อที่มีมูลค่ารวม 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมทั้งจัดตั้งคณะสำรวจโอกาสธุรกิจด้านเซมิคอนดักเตอร์ เดินทางไปยังกลุ่มประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก เพื่อเร่งผลักดันความร่วมมือระหว่างไต้หวัน – กลุ่มประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกในด้านเซมิคอนดักเตอร์และยานยนต์ไฟฟ้า
นอกจากนี้ “มหกรรมเมืองอัจฉริยะ ประจำปี 2022” (2022 Smart City Summit & Expo) ของไต้หวัน ซึ่งในปัจจุบันถือเป็นมหกรรมการประชุมด้านอุตสาหกรรมเมืองอัจฉริยะเพียงหนึ่งเดียวในโลก โดยเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานตัวแทนไต้หวันในต่างประเทศได้ติดต่อประสานไปยังผู้ว่าการ นายกเทศมนตรีและตัวแทนประจำเมืองต่างๆ รวมจำนวน 200 กว่าคน เพื่อเชิญให้มาเข้าร่วมกิจกรรมผ่านระบบออนไลน์และเดินทางมาประชุมในสถานที่จริงในไต้หวัน เพื่อแสวงหาโอกาสธุรกิจทางอุตสาหกรรมเมืองอัจฉริยะและเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง (Internet of Things) ท่ามกลางสถานการณ์โรคโควิด – 19 เช่นนี้
ในส่วนของการผลักดันสินค้าทางการเกษตรที่มีคุณภาพของไต้หวัน สำนักงานตัวแทนไต้หวันในญี่ปุ่นก็ได้เร่งประชาสัมพันธ์ผลไม้ของไต้หวัน อย่างสัปปะรดและน้อยหน่า ซึ่งประสบความสำเร็จในการวางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่และช่องทางอีคอมเมิร์ซในพื้นที่ต่างๆ ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการยกระดับการรับรู้ทางทัศนาการของสื่อมวลชนได้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ สำนักงานตัวแทนไต้หวันในสิงคโปร์ บรูไนและคูเวต ต่างก็ได้ประสานความร่วมมือกับช่องทางการจำหน่ายที่ทรงอิทธิพลในพื้นที่ ในการร่วมประชาสัมพันธ์ผลผลิตทางการเกษตรของไต้หวัน เพื่อเพิ่มยอดสั่งซื้อสินค้าไต้หวันไปยังในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก