ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
กต.ไต้หวันขอบคุณกลุ่มสมาชิก “สโมสรฟอร์โมซาในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก” ที่ร่วมให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศ อาทิ WHO
2022-05-11
New Southbound Policy。กต.ไต้หวันขอบคุณกลุ่มสมาชิก “สโมสรฟอร์โมซาในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก” ที่ร่วมให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศ อาทิ WHO (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
กต.ไต้หวันขอบคุณกลุ่มสมาชิก “สโมสรฟอร์โมซาในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก” ที่ร่วมให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศ อาทิ WHO (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 10 พ.ค. 65
 
เมื่อวันที่ 10 พ.ค. “สโมสรฟอร์โมซา” (Formosa Club in the Indo-Pacific Region) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มรัฐสภาแบบข้ามประเทศในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ได้จัดการประชุมใหญ่ประจำปีเป็นครั้งแรกผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ภายใต้หัวข้อ “ความท้าทายและแนวโน้มของความร่วมมือทางการแพทย์ในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกในยุคหลังโควิด – 19” โดยในระหว่างการประชุม Mr. Kausea Natano นายกรัฐมนตรีแห่งตูวาลูได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของกลุ่มสมาชิกสโมสร ประกาศแถลงการณ์ร่วม โดยได้เรียกร้องต่อประชาคมโลก ว่า ไต้หวันเป็นพันธมิตรสำคัญซึ่งจะขาดเสียมิได้ของระบบการแพทย์ทั่วโลก พร้อมทั้งกระตุ้นให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ตระหนักถึงความสำคัญในข้อเรียกร้องของไต้หวันที่ต้องการเข้ามีส่วนร่วมในการประชุม กลไกและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
 
นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้กล่าวย้ำขณะปราศรัยผ่านการบันทึกวิดีทัศน์ล่วงหน้าว่า “สโมสรฟอร์โมซา” เป็นแพลตฟอร์มที่ยึดมั่นและธำรงรักษาค่านิยมสากลด้านเสรีภาพ ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก โดยตัวแทนสมาชิกได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการรับมือกับความท้าทายรูปแบบนานาประการในปัจจุบัน โดยไต้หวันเป็นหุ้นส่วนทางความร่วมมือที่สำคัญของประชาคมโลก ในอนาคต ไต้หวันจะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ล่าสุด ภายใต้กรอบ “นโยบายมุ่งใต้ใหม่” และ “กรอบความร่วมมือ Global Cooperation and Training Framework (GCTF)” ต่อไป รมว.อู๋ฯ รู้สึกขอบคุณด้วยใจจริงต่อการที่กลุ่มประเทศสมาชิกสโมสรฟอร์โมซา ต่างให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศ อาทิ  WHO
 
โดยในระหว่างการประชุมในครั้งนี้ ยังได้เชิญนายเฉินเจี้ยนเหริน อดีตรองประธานาธิบดีไต้หวันและนักวิจัยประจำสถาบันวิจัยแห่งชาติ เข้าร่วมแสดงปาฐกถาในหัวข้อพิเศษ โดยอดีตรองปธน.เฉินฯ ได้วิเคราะห์ประสบการณ์การป้องกันโรคระบาดและระบบการแพทย์ที่ครอบคลุมของไต้หวันผ่านข้อมูลบิ๊กดาต้า ภายใต้มุมมองความเชี่ยวชาญด้านโรคระบาดวิทยา พร้อมนี้ อดีตรองปธน.เฉินฯ ยังได้ให้คำชี้แนะแนวทางในการรับมือกับการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในระลอกหน้าที่อาจเกิดขึ้นตามมา  โดยตัวแทนจากนานาประเทศต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้เป็นอย่างมาก คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กลุ่มประเทศในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกจะร่วมแลกเปลี่ยนกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์อย่างต่อเนื่องต่อไป
 
โดยในการประชุมครั้งนี้ ยังมีตัวแทนจากนานาประเทศที่ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การป้องกันโรคระบาดของประเทศตน และผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากการประสานความร่วมมือกับไต้หวันในด้านการแพทย์ที่ประสบความสำเร็จ
 
นายเถียนจงกวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้กล่าวปราศรัยในพิธีปิดการประชุม โดยได้แสดงความขอบคุณต่อตัวแทนสมาชิกที่ให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศอย่างเต็มกำลัง พร้อมกล่าวว่า ไต้หวันยินดีที่จะเสริมสร้างความร่วมมือกับนานาประเทศในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ในประเด็นการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน เทคโนโลยีสารสนเทศ 5G เทคโนโลยี AI ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อกระตุ้นให้เกิดการฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจและการค้าในยุคหลังโควิด – 19 ต่อไป นอกจากนี้ บทเรียนที่ได้จากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย - ยูเครน ถือเป็นเครื่องเตือนใจให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตยประสานสามัคคีร่วมกันในการต่อต้านการแผ่ขยายอิทธิพลของลัทธิอำนาจนิยม ทั้งนี้ เพื่อปกป้องรูปแบบวิถีชีวิตที่เปี่ยมด้วยเสรีภาพและประชาธิปไตย