กระทรวงยุติธรรม วันที่ 9 พ.ค. 65
เมื่อวันที่ 9 พ.ค. การประชุมนานาชาติว่าด้วยการตรวจสอบรายงานแห่งชาติครั้งที่ 3 ภายใต้หัวข้อ “กติการะหว่างประเทศ 2 ฉบับ” (Third Report on the ICCPR and ICESCR) ประกอบด้วย “กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง” (International Covenant on Civil and Political Rights, ICCPR) และ “กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม” (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights, ICESCR) ได้เปิดฉากขึ้น ณ มูลนิธิ Chang Yung-Fa Foundation อย่างสมเกียรติ โดยได้เชิญบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติที่มีบทบาทสำคัญที่เคยมีส่วนร่วมในภารกิจการสร้างหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติมาเป็นเวลาระยะยาวนาน ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากออสเตรีย มาเลเซีย เดนมาร์ก แคนาดา อินโดนีเซีย เยอรมนี ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้และนิวซีแลนด์ เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ โดยนายซูเจินชาง นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และนางสาวเฉินจวี๋ ประธานคณะกรรมการกิจการสิทธิมนุษยชน นายหลัวปิ่งเฉิง รัฐมนตรีประจำสภาบริหาร และนายไช่ชิงเสียง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ต่างก็เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมในครั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า หน่วยงานรัฐบาลไต้หวันต่างให้ความสำคัญต่อการประชุมนานาชาติในครั้งนี้เป็นอย่างมาก
นรม.ซูฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า การประชุมนานาชาติว่าด้วยการตรวจสอบรายงานแห่งชาติ ภายใต้หัวข้อ “กติการะหว่างประเทศ 2 ฉบับ” ในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2009 ที่กติการะหว่างประเทศ 2 ฉบับได้มีผลบังคับใช้เป็นต้นมา หน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องก็ได้เร่งบรรลุภารกิจต่างๆ ตามกฎระเบียบที่ระบุไว้ในกติกา 2 ฉบับอย่างเคร่งครัด โดยเรียกร้องให้การดำเนินนโยบายของรัฐบาลและกฎระเบียบว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนานาชาติ เกิดความเชื่อมโยงกัน พร้อมกันนี้ยังได้เชิญบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติเดินทางมาเข้าร่วมเพื่อพิจารณาตรวจสอบความคืบหน้าในการดำเนินการ และชี้แนะแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาในอนาคต ซึ่งบทข้อสรุปและคำชี้แนะในการประชุมนานาชาติ 2 ครั้งที่ผ่านมา รัฐบาลไต้หวันก็ได้ทยอยบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ อาทิ ในปี 2018 ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการสิทธิมนุษยชน เพื่อดำเนินกลไกการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างครอบคลุม พร้อมนี้ยังได้จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและคณะกรรมการความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เพื่อผลักดันนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านอย่างต่อเนื่อง เร่งผลักดันการบัญญัติกฎหมายในประเทศที่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 9 ฉบับที่ UN ประกาศไว้ ซึ่งในปัจจุบัน หน่วยงานรัฐบาลได้ทยอยจัดทำจนเกือบจะสมบูรณ์แล้ว อีกทั้งยังได้มีการจัดตั้ง “แผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชน” เพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิงด้านนโยบายสิทธิมนุษยชนในภาพรวม นอกจากนี้ ยังได้มีการกำหนด “แผนปฏิบัติการว่าด้วยกลุ่มผู้ประกอบการและสิทธิมนุษยชน” และ “แผนปฏิบัติการด้านอุตสาหกรรมการประมงและสิทธิมนุษยชน” เนื่องจากต้องการปรับเปลี่ยนให้มาตรการการรับมือและแก้ไขให้ความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและความต้องการของกลุ่มคนที่ต่างกัน ซึ่งล้วนแต่เป็นผลสัมฤทธิ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่สมควรแก่การยอมรับ และสิ่งเหล่านี้ยังสะท้อนให้เห็นว่า ไต้หวันได้บรรลุกฎบัตรตามที่ระบุไว้ในกติกาว่าด้วยสิทธิมนุษนชนนานาชาติอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการดำเนินกิจการด้านสิทธิมนุษยชนอย่างกระตือรือร้น
นส.เฉินฯ ระบุขณะกล่าวปราศรัยว่า ไต้หวันได้ก้าวผ่านช่วงเวลาที่มีการบังคับใช้กฎอัยการศึกมาเป็นระยะเวลานานกว่า 38 ปี และได้ก้าวผ่านกระบวนการทางประชาธิปไตยอย่างยากลำบาก ภายใต้บริบทของการก้าวสู่สังคมประชาธิปไตยที่เสรี และการที่ทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน เมื่อตนได้ก้าวเข้ามารับหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการกิจการสิทธิมนุษยชน ถือว่าเป็นการแบกรับภาระอันหนักอึ้ง โดยต้องการที่จะสร้างหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนให้แก่ประชาชนไต้หวัน ควบคู่ไปกับการแสวงหาค่านิยมสากลด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งหลังจากนี้ ไต้หวันยังเตรียมจะจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการตรวจสอบประเด็นว่าด้วยอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของผู้ทุพพลภาพ (CRPD) อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW)
รมว.ไช่ฯ เป็นผู้นำคณะตัวแทนรัฐบาลไต้หวันเข้าร่วมการประชุมนานาชาติเพื่อการตรวจสอบในครั้งนี้ โดยรมว.ไช่ฯ คาดหวังว่าการประชุมในครั้งนี้จะสามารถเป็นสื่อกลางการติดต่อประสานงาน ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและประชาชนอย่างใกล้ชิด พร้อมคาดหวังที่จะได้รับการชี้แนะจากคณะผู้เชี่ยวชาญนานาชาติที่เปี่ยมด้วยประสบการณ์อันล้ำค่าจากการทำงานในภารกิจด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องใน UN ทั้งนี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ไต้หวันในการบรรลุกฎระเบียบในกติการะหว่างประเทศ 2 ฉบับให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นต่อไป โดยหลังเสร็จสิ้นการประชุม คณะกรรมการการประชุมนานาชาติเพื่อการตรวจสอบจะรวบรวมข้อสรุปและคำชี้แนะที่ได้จากการประชุมนานาชาติว่าด้วยการตรวจสอบรายงานแห่งชาติครั้งที่ 3 ตามหลักการที่เกี่ยวข้องของ UN โดยรัฐบาลไต้หวันจะนำมาใช้เป็นข้อมูลอ้างอิง เพื่อดำเนินการเสริมสร้างหลักประกันด้านประชาธิปไตย หลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชนต่อไป
การประชุมนานาชาติว่าด้วยการตรวจสอบรายงานแห่งชาติ ภายใต้หัวข้อ “กติการะหว่างประเทศ 2 ฉบับ” ในครั้งนี้ มีไฮไลท์รวม 6 ประเด็นหลัก ดังนี้ :
1. “ไลฟ์สดการประชุมผ่านเว็บไซต์ทางการ” เพื่อควบคุมจำนวนผู้เข้าประชุมในสถานที่จริง และควบคุมความเสี่ยงของสถานการณ์โรคระบาด และเป็นการส่งเสริมให้องค์กรเอกชนที่สนใจเข้าร่วมรับชมผ่านระบบออนไลน์
2. “มาตรฐานของ UN วิสัยทัศน์ระดับโลก” การประชุมในครั้งนี้ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสัญชาติและมากด้วยความสามารถ ที่ล้วนมีประสบการณ์การทำงานใน UN เพื่อมาให้คำชี้แนะแก่ไต้หวัน
3. “สมาชิกใหม่ ประเด็นใหม่” การประชุมในครั้งนี้ได้เชิญคณะกรรมการตรวจสอบหน้าใหม่รวม 3 คน เพื่อร่วมสังเกตการณ์และให้คำชี้แนะในมุมมองที่เกี่ยวข้องกับกลไกการสร้างหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนระดับประเทศ ศาลอาญาระหว่างประเทศ รวมไปถึงหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชนพื้นเมือง
4. “หุ้นส่วนใหม่ ร่วมเป็นสมาชิกแนวร่วม” เพื่อให้สอดคล้องต่อข้อเรียกร้องของหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ตาม “หลักการปารีส” ของ UN ไต้หวันได้จัดตั้งคณะกรรมการกิจการสิทธิมนุษยชนในสภาตรวจสอบ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) นับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา โดยในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของการเข้าร่วมการประชุมนานาชาติว่าด้วยการตรวจสอบ เพื่อร่วมหารือแลกเปลี่ยนในเชิงลึกกับคณะกรรมการตรวจสอบระดับนานาชาติ
5. “การปรับมาตรการในการเข้าร่วมขององค์การนอกภาครัฐ” องค์การนอกภาครัฐ (NGO) ทั้งในและต่างประเทศต่างมีความยินดีในการเข้าร่วมการประชุมนานาชาติว่าด้วยการตรวจสอบตลอด 2 ครั้งที่ผ่านมา เพื่อแสวงหาโอกาสในการร่วมหารือกับคณะกรรมการด้านการตรวจสอบระดับนานาชาติ โดยใน 2 ครั้งก่อนหน้านี้ การเข้าร่วมการประชุมของกลุ่ม NGO ต้องมีการประสานงานและเจรจากันบ่อยครั้ง เพื่อกำหนดลำดับในการแสดงความคิดเห็น มีเพียงการประชุมในครั้งนี้ที่ประสานงานกันเพียงครั้งเดียวก็ได้ผลข้อสรุปเลย ซึ่งเป็นการวางรากฐานที่สำคัญในการจัดการประชุมของครั้งต่อๆไป
6. “โรคระบาดใหม่ ความท้าทายรูปแบบใหม่” เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาด การจัดการประชุมในครั้งนี้ จึงมีความยากลำบากกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา โดยในระหว่างการประชุม กระทรวงยุติธรรมได้ให้ความร่วมมือต่อแนวทางการป้องกันโรคระบาดที่ประกาศโดยศูนย์บัญชาการกลางป้องกันโรคระบาด (CECC) ของไต้หวัน โดยกำหนดให้ผู้เข้าร่วมการประชุมไม่จับมือ แบ่งกลุ่มในการเข้า - ออกที่ประชุม และใช้ลิฟต์ส่วนตัว เพื่อสร้างหลักประกันด้านความมั่นคงทางสุขภาพด้วยมาตรฐานสูง ให้แก่คณะกรรมการตรวจสอบระดับนานาชาติและภาคประชาชนไต้หวัน