ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 12 พฤษภาคม 2565
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา รองประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อแห่งสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้กล่าวระหว่างเดินทางไปเข้าร่วม “การประชุมนวัตกรรมการรักษาผู้ป่วยไต้หวัน-สหรัฐฯ 2022” ว่า ความร่วมมือทางการแพทย์ระหว่างไต้หวันและสหรัฐฯ ได้ดำเนินมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายจึงมีความใกล้ชิดมากขึ้นเป็นลำดับ โดยมิใช่มีเพียงแต่การแลกเปลี่ยนทางการแพทย์ระหว่างภาคเอกชนเท่านั้น ในส่วนของภาครัฐก็มีการลงนามปฏิญญาและ MOU ร่วมกันหลายฉบับ จึงหวังว่า ไต้หวันและสหรัฐฯ จะยังคงมีความร่วมมืออันใกล้ชิดระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมสร้างความผาสุกให้แก่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลก
ในระหว่างกล่าวปราศรัย รองปธน. ไล่ฯ ได้กล่าวขอบคุณสถาบันอเมริกาในไต้หวัน (AIT) และหอการค้าไต้หวัน-สหรัฐฯ (AmCham Taiwan) ที่ร่วมกันจัด “การประชุมนวัตกรรมการรักษาผู้ป่วยไต้หวัน-สหรัฐฯ 2022” เพื่อนำเอาเทคโนโลยีอันล้ำสมัยของสหรัฐฯ มาแลกเปลี่ยนกับผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการการแพทย์และอุตสาหกรรมในครั้งนี้ ซึ่งถือว่ามีประโยชน์เป็นอย่างมากต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และการให้บริการทางการแพทย์ของไต้หวันในอนาคต
รองปธน.ไล่ฯ ชี้ว่า ความร่วมมือทางการแพทย์ระหว่างไต้หวันและสหรัฐฯ ได้ดำเนินมายาวนานหลายสิบปีแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายก็มีความใกล้ชิดมากขึ้นเป็นลำดับ โดยในปี 2020 ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามใน “ปฏิญญาร่วมด้านความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนในการป้องกันโรคระบาดไต้หวัน-สหรัฐฯ” และในปีเดียวกัน นายเฉินสือจง รมว.สธ.ไต้หวันและ Mr. Alex Azar II รมว.สธ.สหรัฐฯ ก็ได้เป็นสักขีพยานในการลงนาม “บันทึกความเข้าใจด้านความร่วมมือทางการแพทย์และสาธารณสุข” แสดงให้เห็นว่าความร่วมมือในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาระหว่างไต้หวันและสหรัฐฯ มีความใกล้ชิดเพิ่มมากขึ้นในช่วงสองปีนี้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะมีการแลกเปลี่ยนทางการแพทย์ระหว่างภาคเอกชน แม้แต่ในส่วนของภาครัฐก็มีการลงนามในปฏิญญาร่วมและบันทึกความเข้าใจ พร้อมมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมด้วย
โดยในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของปธน.ไช่อิงเหวินเมื่อปี 2016 ก็ได้มีการประกาศ “แผนพัฒนาอุตสาหกรรมนวัตกรรม 5+2” ที่ได้จัดให้การแพทย์ระดับสูงเป็นส่วนหนึ่งใน “แผนผลักดันอุตสาหกรรมนวัตกรรมทางเทคโนโลยีการแพทย์และชีวภาพ” และในพิธีรับตำแหน่งของปธน.ไช่ฯ เมื่อปี 2020 ก็ยังได้กล่าวถึง “6 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์” ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูงด้านสุขภาพ เป็นการแสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีทางการแพทย์ระดับสูงถือเป็นเป้าหมายร่วมกันของวงการการแพทย์ทั่วโลก
รองปธน.ไล่ฯ ย้ำว่า ความร่วมมือทางการแพทย์ระหว่างไต้หวันและสหรัฐฯ ได้ยกระดับขึ้นจากภาคเอกชนสู่ภาครัฐ แสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและสหรัฐฯ มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงเฉพาะในด้านกลาโหม ความมั่นคง และอุตสาหกรรม แม้แต่ในส่วนของการแพทย์ก็มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคต ทั้งไต้หวันและสหรัฐฯ จะมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น เพื่อร่วมสร้างความผาสุกให้แก่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลก
โดยในการประชุมครั้งนี้ ยังมีนายเสวียรุ่ยหยวน รมช.สาธารณสุขไต้หวัน Mr. Jeremy Comforth รองผู้อำนวยการใหญ่ สถาบันอเมริกาในไต้หวัน สำนักงานไทเป และ Mr. Vincent Shih ประธานหอการค้าไต้หวัน-สหรัฐฯ เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมด้วย