กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 29 พ.ค.65
การประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) ครั้งที่ 75 ที่นครเจนีวา ได้ปิดฉากลงแล้วเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมการประชุมต่างก็แสดงความสนใจเป็นอย่างมากต่อความหวังในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสถานการณ์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ถือเป็นการตอบรับกับหัวข้อในการประชุมครั้งนี้ว่า “การแพทย์-สาธารณสุข-สันติภาพ เติมเต็มให้กันและกัน” พร้อมนี้ หลายประเทศต่างก็ให้การยอมรับมากขึ้นต่อการอุทิศตนอย่างเต็มที่เพื่อกิจการสาธารณสุขระหว่างประเทศและการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมของไต้หวัน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่ขาดไม่ได้ของกลไกสาธารณสุขระหว่างประเทศ พันธมิตรของไต้หวัน เหล่าประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันและมิตรประเทศ ต่างก็ช่วยเรียกร้องและสนับสนุนอย่างเต็มที่ให้ไต้หวันได้มีส่วนร่วมในองค์การอนามัยโลก (WHO) และการประชุม WHA ทำให้ข้อเสนอของไต้หวันในปีนี้ได้รับการสนับสนุนโดย 88 ประเทศ จากทั้งหน่วยงานรัฐบาล สมาชิกรัฐสภา และผู้ที่มีบทบาทสำคัญในด้านต่างๆ จากทั่วโลก รวมกว่า 3,800 คน กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ขอขอบคุณเป็นอย่างสูง สำหรับมิตรภาพจากทุกฝ่ายและกำลังใจที่ได้รับอย่างล้นหลามในครั้งนี้
คณะปฏิบัติการเพื่อเข้าร่วมองค์การอนามัยโลก ที่มีนางหลี่ลี่เฟิน รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ เป็นผู้นำคณะได้เดินทางไปยังนครเจนีวา เพื่อแสดงข้อเรียกร้องอย่างหนักแน่นในการขอเข้าร่วมการประชุม WHA ของไต้หวัน โดยได้มีโอกาสเข้าร่วมในการประชุมเชิงวิชาการและกิจกรรมเดินเพื่อสุขภาพของ WHO พร้อมร่วมการประชุมแบบทวิภาคีกับคณะผู้แทนจากสหรัฐฯ สาธารณรัฐเช็ก และลิทัวเนีย รวมถึงองค์กรทางการแพทย์และสาธารณสุขนานาชาติ เพื่อร่วมหารือถึงการสร้างความร่วมมือในด้านการสาธารณสุข และแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจอันเด็ดเดี่ยวของไต้หวันในการรักษาคำมั่นสัญญาที่จะอุทิศตนเพื่อสุขภาพและสิทธิมนุษยชนต่อไป
โดยประเทศสมาชิกของ WHO ซึ่งเป็นพันธมิตรของไต้หวันรวม 13 ประเทศ ได้ยื่นญัตติเกี่ยวกับ “การเชิญไต้หวันเข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลกในฐานะสมาชิกสังเกตการณ์” นอกจากนี้ เหล่าประเทศพันธมิตรก็ได้ให้ความสนับสนุนไต้หวันในรูปแบบต่างๆ ทั้งการส่งหนังสือ การกล่าวในที่ประชุม การออกแถลงข่าว การโพสต์ข้อความทางสื่อโซเชียล การประชุมทวิภาคีกับไต้หวัน การเข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองและกิจกรรมทางการทูต รวมถึงการมีมติเห็นชอบและเสนอญัตติที่เป็นมิตรต่อไต้หวัน เป็นต้น
เห็นได้ชัดว่าพลังของประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันซึ่งให้ความสนับสนุนต่อไต้หวันมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ในจำนวนนี้ ฝรั่งเศส เยอรมนี ลักเซมเบิร์ก ลิทัวเนีย และสาธารณรัฐเช็ก รวม 5 ประเทศ ได้แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดแจ้งในการสนับสนุนไต้หวัน โดยประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันก็ให้ความสนับสนุนไต้หวันอย่างเต็มที่และต่อเนื่องทั้งในกรอบความร่วมมือต่างๆ ทั้งแบบพหุภาคีและทวิภาคี เช่น ในแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม G7 และสหภาพยุโรป ต่างก็มีข้อความสนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วม WHA และ WHO เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งในแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีสาธารณสุขกลุ่ม G7 ปีนี้ ก็มีข้อความสนับสนุนไต้หวันปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกด้วย
แสดงให้เห็นว่าการเข้าร่วมกลไกสาธารณสุขระหว่างประเทศของไต้หวัน ได้กลายเป็นประเด็นที่เหล่าประเทศประชาธิปไตยรายสำคัญของโลกให้ความสนใจ โดยนอกจากหน่วยงานด้านการบริหารประเทศแล้ว ฝ่ายนิติบัญญัติของแต่ละประเทศและองค์กรรัฐสภาข้ามชาติต่างก็มีมติเห็นชอบให้ผ่านกฎหมาย มติ ข้อเสนอ หรือมีจดหมายถึง WHO และฝ่ายบริหาร เพื่อให้ความสนับสนุนแก่ไต้หวันอย่างเต็มที่และเป็นรูปธรรม โดยในจำนวนนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่เยอรมนีและลักเซมเบิร์กได้แสดงออกถึงความสนับสนุนต่อไต้หวันด้วย จึงถือว่ามีนัยยะสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ ความเป็นมืออาชีพและความกระตือรือร้นในการให้ความช่วยเหลือมวลมนุษยชาติที่ไต้หวันได้อุทิศตนตามโครงการความร่วมมือทางการแพทย์ระหว่างประเทศของไต้หวัน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้ถูกกระทรวงการต่างประเทศไต้หวันนำมาจัดทำเป็นวีดิทัศน์สั้นในชุด “มิตรสหายจากแดนไกล” เพื่อนำมาใช้ในการประชาสัมพันธ์ ซึ่งมียอดผู้ชมมากกว่า 16.76 ล้านครั้งแล้ว ถือว่าประสบความสำเร็จในการแสดงให้ได้รับรู้ถึงความสามารถและความตั้งใจในการให้ความช่วยเหลือของไต้หวันที่มีต่อทั่วโลกด้วย
โดยสมาชิกสภานิติบัญญัติไต้หวัน ได้แก่ นางเฉินลี่เจิน นางหลินจิ้งอี๋ นางหวังหวั่นอวี้และนายหลี่เต๋อเหวย ก็ได้ร่วมกันจัดคณะกำกับดูแลจากพรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน ซึ่งได้เดินทางไปร่วมกิจกรรมประชาสัมพันธ์ที่นครเจนีวาด้วยเช่นกัน เพื่อขอรับความสนับสนุนจากมิตรประเทศนานาชาติ และเพื่อให้ WHO ให้ความสำคัญกับข้อเรียกร้องให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมได้ตามปกติต่อไป
องค์การนอกภาครัฐระหว่างประเทศที่สำคัญ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับนานาชาติจากยุโรป เอเชีย ลาตินอเมริกา และแอฟริกา ต่างก็มีหนังสือถึงผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก และมีแถลงการณ์อย่างเปิดเผย ในการสนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วม WHA ความสนับสนุนอย่างเต็มที่ของทุกฝ่ายในสังคมโลก แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเหล่านั้นต่างก็ยอมรับว่า มีเพียงการแยกประเด็นทางการเมืองออกไป และเปิดโอกาสให้ไต้หวันเข้าร่วม WHO และ WHA เท่านั้น จึงจะสามารถสร้างระบบสาธารณสุขโลกที่มีความยืดหยุ่นให้แก่โลกที่เพิ่งผ่านพ้นสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้มากขึ้น พร้อมทั้งร่วมรับประกันความผาสุก และความปลอดภัยทางสุขภาพของมวลมนุษยชาติด้วย