ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รมว.กต.ไต้หวันขึ้นกล่าวปราศรัยในพิธีเปิดการประชุมครบรอบ 40 ปีแห่งการจัดตั้ง “ศูนย์การศีกษาและการวิจัยด้านสิทธิมนุษยชน” แห่งมหาวิทยาลัยออตตาวา พร้อมหารือถึงความท้าทายจากจีนและบทบาทของไต้หวันต่อภูมิภาค
2022-06-06
New Southbound Policy。รมว.กต.ไต้หวันขึ้นกล่าวปราศรัยในพิธีเปิดการประชุมครบรอบ 40 ปีแห่งการจัดตั้ง “ศูนย์การศีกษาและการวิจัยด้านสิทธิมนุษยชน” แห่งมหาวิทยาลัยออตตาวา พร้อมหารือถึงความท้าทายจากจีนและบทบาทของไต้หวันต่อภูมิภาค (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
รมว.กต.ไต้หวันขึ้นกล่าวปราศรัยในพิธีเปิดการประชุมครบรอบ 40 ปีแห่งการจัดตั้ง “ศูนย์การศีกษาและการวิจัยด้านสิทธิมนุษยชน” แห่งมหาวิทยาลัยออตตาวา พร้อมหารือถึงความท้าทายจากจีนและบทบาทของไต้หวันต่อภูมิภาค (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 3 มิ.ย. 65
 
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ตามเขตเวลาตะวันออกของแคนาดา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ตอบรับคำเชิญของ “ศูนย์การศีกษาและการวิจัยด้านสิทธิมนุษยชน” (Human Rights Research and Education Centre , HRREC) แห่งมหาวิทยาลัยออตตาวา (University of Ottawa) ประเทศแคนาดา ในการขึ้นกล่าวปราศรัยในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาเนื่องในวาระครบรอบ 40 ปีของการจัดตั้งศูนย์ HRREC โดยได้บรรยายถึงประเด็นว่าด้วยการที่ลัทธิอำนาจนิยมอาศัยข้อได้เปรียบทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในการแทรกแซง ข่มขู่และทำสงครามทางจิตวิทยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำลายเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประเทศประชาธิปไตย และระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ซึ่งส่งผลในเชิงลบต่อค่านิยมสากลด้านเสรีภาพ ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ตลอดจนเป็นการสร้างความท้าทายต่อความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกาสากล เมื่อเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากจีน ไต้หวันยังคงมุ่งมั่นในการธำรงรักษาเสรีภาพและความเจริญรุ่งเรือง พร้อมทั้งเสริมสร้างความร่วมมืออย่างเหนียวแน่นกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ทั้งนี้ เพื่อรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ตลอดจนรักษาค่านิยมที่มีร่วมกันในด้านเสรีภาพและประชาธิปไตย ให้คงอยู่สืบไป
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า ในปีนี้ เหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมิน เตรียมก้าวสู่วาระครบรอบ 33 ปี โดยอำนาจเผด็จการที่ดำเนินการกวาดล้างผู้เห็นต่างอย่างไม่ใยดี จนส่งผลให้เกิดเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ขึ้น กลับแผ่ขยายมากขึ้นในปัจจุบัน เห็นได้จากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย - ยูเครน ที่สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งโดยสิ้นเชิงระหว่างกลุ่มประเทศเผด็จการและประชาธิปไตย ซึ่งจีนและรัสเซียนอกจากจะจับมือเป็นกลุ่มเดียวกันแล้ว ในช่วงที่ผ่านมา ยังได้มีจัดการซ้อมรบร่วมกันในทะเลญี่ปุ่น จนกลายเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงในภูมิภาค ไต้หวันมีความรู้สึกเข้าใจในความรู้สึกของยูเครนอย่างลึกซึ้ง ที่ถูกรุกรานโดยลัทธิอำนาจนิยม ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่ในช่วงเริ่มต้นของเหตุการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย - ยูเครน รัฐบาลและประชาชนไต้หวัน ต่างได้ทยอยส่งมอบความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมให้กับประชาชนชาวยูเครนอย่างกระตือรือร้นและเป็นรูปธรรม
 
ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนที่เชื่อถือได้ของแคนาดาและกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ในการต่อต้านการแผ่ขยายอิทธิพลของลัทธิอำนาจนิยม และมีข้อได้เปรียบในด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและการค้าที่มิสามารถขาดได้ของกลไกความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจระดับโลก นอกจากนี้ รัฐบาลไต้หวันยังขอเรียกร้องให้แคนาดาให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วม “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)” ด้วย
 
ศูนย์ HRREC ของมหาวิทยาลัยออตตาวา เป็นหน่วยงานวิจัยด้านสิทธิมนุษยชนที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน โดยหัวข้อหลักของการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ คือ “ความท้าทายจากจีน : สร้างหลักประกันด้านระบอบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนโลก ในศตวรรษที่ 21” (The Challenge of China: Protecting Human Rights and Democracy in the Global Institutions of the 21st Century) โดยการประชุมในครั้งนี้ได้จัดขึ้นก่อนหน้าวาระครบรอบประจำปีของเหตุการณ์จตุรัสเทียนอันเหมิน ซึ่งผู้จัดงานได้ติดต่อเชิญผู้เชี่ยวชาญจากทุกแวดวงในการร่วมหารือต่อประเด็นความท้าทายด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากฝีมือของรัฐบาลจีน