กรมการท่องเที่ยว วันที่ 2 มิ.ย. 65
“พิธีมอบรางวัลการท่องเที่ยววิถีฮาลาล ปี 2022” (Halal In Travel Awards 2022) ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.โดย บริษัทเครสเซนต์เรทติง (Crescent Rating) ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยววิถีอิสลามในสิงคโปร์ ได้ประกาศว่า ไต้หวันได้รับรางวัล “จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับชาวมุสลิมมากที่สุดประจำปี-ในกลุ่มที่ไม่ใช่สมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม” (Inclusive Destination of The Year, (non-OIC)) นอกจากนี้ ในวันเดียวกันนั้น ผลสำรวจดัชนีการท่องเที่ยวของชาวมุสลิมทั่วโลกประจำปี 2022 (Global Muslim Travel Index, GMTI2022) ที่จัดทำโดย Mastercard ก็ได้ประกาศว่า ไต้หวันได้รับรางวัลแหล่งท่องเที่ยวยอดเยี่ยม อันดับ 2 ในกลุ่มที่ไม่ใช่สมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (non-OIC destinations) ซึ่งการคว้า 2 รางวัลในวันเดียวกันนั้น สะท้อนให้เห็นว่า ไต้หวันได้รับการยอมรับในการผลักดันจุดหมายการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อชาวมุสลิม
เนื่องมาจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด – 19 รางวัลในครั้งนี้จึงมอบหมายให้นายหลินซิ่นเริ่น รองผู้อำนวยการกรมการท่องเที่ยว กระทรวงคมนาคม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นผู้รับมอบรางวัลดังกล่าวในรูปแบบออนไลน์ โดยรองผอ.หลินฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อหน่วยงานเจ้าภาพที่ได้ให้การยอมรับต่อการสรรค์สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อชาวมุสลิมของไต้หวันในระยะที่ผ่านมา โดยหลังจากนี้ กรมการท่องเที่ยวจะเร่งขยายการประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมและอาหารมุสลิม ซึ่งรวมไปถึงการจัดตั้งคูหามุสลิมใน “มหกรรมอาหารเลิศรสของไต้หวัน” ที่มีกำหนดการเปิดฉากขึ้นในเดือนสิงหาคมปีนี้ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมิตรสหายชาวมุสลิมให้แก่ประชาชนชาวไต้หวัน พร้อมทั้งได้เชิญชวนให้มิตรสหายชาวมุสลิมเดินทางมาท่องเที่ยวในไต้หวันหลังจากที่สถานการณ์โรคโควิด – 19 ยุติลง
CrescentRating และ Mastercard ประสานความร่วมมือกันในการจัดทำการประเมินดัชนีชี้วัดการท่องเที่ยวชาวมุสลิม (GMTI) โดยปีนี้เป็นปีแรกที่ CrescentRating จัดตั้ง “รางวัลการท่องเที่ยววิถีฮาลาล” ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกย่องและเชิดชูสถานที่ท่องเที่ยว องค์กร บริษัท และบุคคลที่มีบทบาทสำคัญต่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชาวมุสลิม โดยการที่ไต้หวันสามารถคว้ารางวัลประเภท “จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับชาวมุสลิมมากที่สุดประจำปี” เป็นผลต่อเนื่องที่อ้างอิงจากผลสำรวจ GMTI ที่อยู่ในอันดับ 2 สะท้อนให้เห็นว่า ไต้หวันนอกจากจะประสบความสำเร็จในด้านประสานและบูรณาการทรัพยากรด้านการท่องเที่ยววิถีมุสลิมแล้ว ยังได้รับการยอมรับจากนานาชาติในด้านความเป็นมิตรและความเคารพต่อความมั่นคงทางสังคมและเสรีภาพทางศาสนาอีกด้วย
เมื่อพิจารณาจากรายงานผลสำรวจดัชนี GMTI ประจำปีนี้ คะแนนในทุกรายการของไต้หวันในปีนี้ยังคงรักษามาตรฐานเดิมของปีที่แล้วไว้ได้อย่างมีเสถียรภาพ การจราจรขนส่ง ความมั่นคงทางสังคมและเสรีภาพทางศาสนา ต่างมีระดับคะแนนที่น่าพึงพอใจ โดยในจำนวนนี้ อันดับของการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว ก็อยู่ในอันดับเดียวกันกับมาเลเซีย ซึ่งนอกจากจะอยู่ในอันดับ 1 แล้ว ผลคะแนนก็มีการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นจากปีที่แล้ว สะท้อนให้เห็นว่า ไต้หวันทุ่มเทและให้ความสำคัญกับตลาดการท่องเที่ยวของชาวมุสลิมเป็นอย่างมาก
นับตั้งแต่ที่สถานการณ์โรคโควิด – 19 ปะทุขึ้นเป็นต้นมา ตลาดการท่องเที่ยวแบบข้ามพรมแดนทั่วโลกต้องหยุดชะงักลง ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกประสบกับความย่ำแย่ อย่างไรก็ตาม กรมการท่องเที่ยวไต้หวันก็มิได้ชะลอการปฏิบัติภารกิจการประชาสัมพันธ์ในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมในยุคหลังโควิด – 19 แม้ว่าจะอยู่ภายใต้สถานการณ์โรคโควิด – 19 แต่กรมการท่องเที่ยวก็ยังคงบูรณาการทรัพยากรจากทุกแวดวงที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้ระดมกลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผนึกกำลังกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมสรรค์สร้างสภาพแวดล้อมการท่องเที่ยวไต้หวันให้เกิดสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเมื่อปีที่แล้ว ทางหน่วยงานได้ทำการประชาสัมพันธ์คู่มือการท่องเที่ยวเพื่อการต้อนรับชาวมุสลิม ฉบับใหม่ รวม 2 รายการ และในเดือนนี้ก็ได้เปิดตัววิดีทัศน์สั้นที่นำเสนอการท่องเที่ยวในไต้หวันของชาวมุสลิม รวม 4 ชุด เพื่อตอบสนองต่อกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวจาก สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยความยาวของวิดีทัศน์แต่ละชุด อยู่ที่ประมาณ 10 นาที ทั้งนี้ เพื่อยกระดับภาพลักษณ์ไต้หวันผ่านการรับรู้ทางทัศนาการในตลาดมุสลิมนานาชาติ ตลอดจนจัดสรรเงินอุดหนุนแก่กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ในการจัดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แก่ชาวมุสลิม พร้อมทั้งให้คำชี้แนะในการจัดตั้งร้านอาหารที่ได้รับเครื่องหมายรับรองฮาลาล ตลอดจนจัดโครงการฝึกอบรมการให้การต้อนรับแก่กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม เชื่อว่าหลังจากการท่องเที่ยวแบบข้ามพรมแดนกลับมาเปิดฉากขึ้นอีกครั้ง จะสามารถดึงดูดให้มิตรสหายชาวมุสลิมเดินทางมาเยือนไต้หวันเพิ่มมากขึ้น เพื่อที่เราจะกล่าวต้อนรับพวกเขาว่า “Salam,welcome to Taiwan!”