ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 22 มิ.ย. 65
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 22 มิ.ย. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วม “พิธีเปิดมหกรรมอาหารนานาชาติไทเป” โดยปธน.ไช่ฯ แถลงว่า มหกรรมในปีนี้มีสินค้าอาหารเลิศรสสุดพิเศษจาก 23 ประเทศใน 4 ทวีปหลักมาร่วมจัดแสดง ซึ่งล้วนเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงจากกลุ่มพันธมิตรแห่งประชาธิปไตยของไต้หวัน โดยปธน.ไช่ฯ หวังว่า ประชาชนไต้หวันจะร่วมให้การสนับสนุน “สินค้าคุณภาพดีแห่งประชาธิปไตย” เหล่านี้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์แบบเอื้อประโยชน์ต่อกันระหว่างไต้หวันและกลุ่มพันธมิตร มีความแนบแน่นยิ่งขึ้น และร่วมสร้างสรรค์ผลสัมฤทธิ์ที่ดียิ่งต่อไป
ปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า “มหกรรมอาหารนานาชาติไทเป” ในครั้งที่ผ่านมา สามารถเอาชนะอุปสรรคจากสถานการณ์โรคระบาดได้ โดยได้เปิดฉากขึ้นเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ซึ่งสามารถดึงดูดผู้เข้าร่วมจำนวนกว่า 15,000 คน โดยพิธีเปิดในครั้งนี้ก็ยังสามารถเปิดฉากขึ้นได้อย่างราบรื่น แสดงให้เห็นว่า ไต้หวันได้มุ่งมั่นในการบรรลุมาตรการป้องกันโรคโควิด – 19 ควบคู่ไปกับการก้าวสู่วิถีชีวิตแบบปกติหลังยุคโควิด – 19 ต่อไป
โดยปธน.ไช่ฯ ชี้ว่า มหกรรมในครั้งนี้นอกจากจะมีการจัดแสดงอาหารเลิศรสจากนานาชาติแล้ว ยังมีการจัดแสดงสินค้าเครื่องจักรกลเพื่อการแปรรูปอาหาร งานแสดงสินค้าเครื่องจักรและอุปกรณ์เทคโนโลยีชีวภาพทางเภสัชกรรม งานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ และงานแสดงสินค้าเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในโรงแรมและร้านอาหาร ซึ่งปธน.ไช่ฯ ได้ขอบคุณกลุ่มผู้ประกอบการที่เข้ามีส่วนร่วม เชื่อว่าจะสามารถยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมของภาคอุตสาหกรรมไต้หวันให้เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนเป็นการขยายโอกาสธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ปธน.ไช่ฯ ชี้อีกว่า มหกรรมในครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในเวทีการจัดแสดงอาหารที่มีขนาดใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมด้วย โดยนอกจากอาหารจากแต่ละประเทศจะนำเสนอให้เห็นถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเองแล้ว ยังสามารถส่งผ่านมิตรภาพความอบอุ่นระหว่างกันได้อีกด้วย ซึ่งในทุกครั้งที่มีมิตรสหายต่างชาติเดินทางมาเยือนไต้หวัน พวกเราก็มักจะเชิญชวนมิตรสหายเหล่านั้น มาร่วมลิ้มชิมอาหารเลิศรสของไต้หวัน อาทิ ชานมไข่มุก เสี่ยวหลงเปา เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่ได้รับเสียงชื่นชมและความนิยมอย่างถ้วนหน้า
ปธน.ไช่ฯ ยังระบุว่า เนื่องจากผลิตภัณฑ์อาหารเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของนานาประเทศทั่วโลก นับแต่อดีตเป็นต้นมา พวกเราเล็งเห็นแล้วว่า ท่ามกลางสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ ในบางครั้งการส่งออกและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหาร ต้องเผชิญกับการถูกแทรกแซงจากปัจจัยทางการเมือง ส่งผลให้การไหลเวียนของสินค้าต้องประสบกับอุปสรรคกีดขวาง รวมถึงส่งผลกระทบต่อการดำเนินการทางการค้าตามกลไกที่ถูกกำหนดไว้ อย่างเช่นในช่วงที่ผ่านมา ปลาเก๋าของไต้หวันถูกระงับการนำเข้าจากจีนอย่างกระทันหัน ถือเป็นกรณีที่พบเห็นได้บ่อยครั้ง
ปธน.ไช่ฯ กล่าวอีกว่า ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ พวกเราก็ได้เล็งเห็นว่ากลุ่มพันธมิตรที่ยึดมั่นในค่านิยมด้านประชาธิปไตยเช่นเดียวกับไต้หวัน ได้ยื่นมือเข้าให้ความช่วยเหลือกลุ่มชาวประมงของไต้หวัน เช่นในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในจังหวัดฟูกูชิมะญี่ปุ่นได้กล่าวว่า “เราให้การสนับสนุนไต้หวัน ด้วยการรับประทานปลาจากประเทศประชาธิปไตย” โดยกลุ่มผู้ประกอบการญี่ปุ่นต่างให้คำมั่นว่า จะให้ความช่วยเหลือในการนำเข้าปลาเก๋าจากไต้หวันมาจำหน่ายในญี่ปุ่น มิตรภาพที่ให้การสนับสนุนอย่างหนักแน่นเช่นนี้ สร้างความประทับใจให้พวกเราเป็นอย่างมาก
ปธน.ไช่ฯ เชื่อว่า ภายใต้การเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างกลุ่มพันธมิตรแห่งประชาธิปไตย จะสามารถเอาชนะอุปสรรคความท้าทายได้ ดังเช่นในปีที่แล้วที่เหล้ารัมจากลิทัวเนียจำนวน 1 ล็อต มิสามารถจำหน่ายออกสู่ท้องตลาดได้ อันเนื่องมาจากการแทรกแซงด้วยปัจจัยทางการเมืองของรัฐบาลจีน บริษัทบุหรี่และสุราไต้หวันจึงเป็นผู้เหมาซื้อเอาไว้ และนำออกจำหน่ายสู่ท้องตลาดไต้หวัน ซึ่งผลปรากฎว่า สินค้าขายดีจนหมดเกลี้ยงภายในเวลาไม่กี่วัน จากกรณีนี้ ยังถือเป็นการยกระดับชื่อเสียงของผลิตภัณฑ์จากลิทัวเนีย ให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มประชาชนชาวไต้หวัน โดยในขณะนี้สังคมไต้หวันต่างนิยมซื้อเบียร์และช็อกโกแลตจากลิทัวเนียด้วยเช่นกัน
ปธน.ไช่ฯ เน้นย้ำว่า สิ่งที่มหกรรมในครั้งนี้ต้องการนำเสนอคือสินค้าคุณภาพดีของกลุ่มพันธมิตรแห่งประชาธิปไตยของไต้หวัน ซึ่งนอกจากจะมีผู้ประกอบการจากไต้หวัน กลุ่มประเทศพันธมิตรแล้ว ยังมีมิตรประเทศอย่างญี่ปุ่น สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศในยุโรป เข้าร่วมในมหกรรมครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก Mr. Egidijus Giedraitis รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการเกษตรแห่งสาธารณรัฐลิทัวเนีย พร้อมคณะ ได้เดินทางมาเยือนเช่นกัน
ในตอนท้าย ปธน.ไช่ฯ ยังได้ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดร่วมกับแขกผู้มีเกียรติในงาน พร้อมเข้าร่วมเยี่ยมชม “คูหาอเมริกากลางและคูหาปารากวัย” “คูหาญี่ปุ่น” “คูหาสหรัฐฯ” “คูหาไต้หวัน” “คูหาลิทัวเนีย” และ “คูหาเอสวาตินี” ด้วย