ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
สนง.สิทธิมนุษยชนของสภาบริหารไต้หวัน จัดพิธีเปิดป้ายอย่างเป็นทางการ เพื่อเร่งเสริมสร้างภารกิจการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน
2022-06-28
New Southbound Policy。สนง.สิทธิมนุษยชนของสภาบริหารไต้หวัน จัดพิธีเปิดป้ายอย่างเป็นทางการ เพื่อเร่งเสริมสร้างภารกิจการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (ภาพจากสภาบริหาร)
สนง.สิทธิมนุษยชนของสภาบริหารไต้หวัน จัดพิธีเปิดป้ายอย่างเป็นทางการ เพื่อเร่งเสริมสร้างภารกิจการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (ภาพจากสภาบริหาร)

สภาบริหาร วันที่ 27 มิ.ย. 65
 
สำนักงานส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ภายใต้การกำกับดูแลของสภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัดพิธีเปิดป้ายสำนักงานในช่วงเช้าของวันที่ 27 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยมีนายหลี่ม่งเยี่ยน เลขาธิการสภาบริหาร ทำหน้าที่เป็นประธานในพิธี นอกจากนี้ นายหลัวปิ่งเฉิง รัฐมนตรีประจำสภาบริหารและโฆษกสภาบริหาร ก็ได้เข้าร่วมในพิธีด้วย นายหลี่ฯ แถลงว่า สภาบริหารมีหน้าที่ในการจัดรวบรวมทรัพยากรและผลักดันภารกิจด้านสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ทั้งนี้ เพื่อให้การประสานความร่วมมือระหว่างสนง.ฯ และหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐก้าวสู่บริบทหน้าใหม่ โดยนายหลี่ฯ คาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะส่งเสริมให้สนง.ข้างต้น เป็นหน่วยงานด้านบริหารสูงสุดในการจัดการประชุมพิจารณานโยบายและผลักดันภารกิจด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน โดยในอนาคต สนง.ฯ จะบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกำหนดนโยบายและผลักดันในภารกิจที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อสำแดงประสิทธิภาพแห่งการประสานงานแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานและอนุสัญญา
 
นายหลี่ฯ ระบุว่า รายงานผลการสำรวจดัชนีเสรีภาพทั่วโลก ปี 2022 (Freedom in the World 2022) ที่ประกาศโดย Freedom House องค์การด้านสิทธิมนุษยชนนานาชาติ จัดให้ไต้หวันอยู่ในอันดับที่ 2  ของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นประเทศที่ยึดมั่นใน “เสรีภาพ” อันดับต้นๆ ของโลก พร้อมนี้นายหลี่ฯ ได้อ้างอิงคำพูดของ Dr. Martin Luther King Jr. ที่เคยกล่าวไว้ว่า “ทุกเวลาเหมาะสมเสมอที่จะทำเรื่องที่ถูกต้อง” (The time is always right to do what is right) แม้ว่าสิทธิมนุษยชนของไต้หวันจะมุ่งสู่การพัฒนาในทิศทางเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง และได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากนานาประเทศทั่วโลก แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีภารกิจหลายประการที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างจริงจัง อาทิ สิทธิประโยชน์ของแรงงานต่างชาติ ความเสมอภาคทางเพศ และความคืบหน้าหลังการผ่านกฎหมายว่าด้วยการสมรสเพศเดียวกัน เป็นต้น คาดหวังว่าหลังจากที่สนง.ฯ จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการผนึกกำลังแบบข้ามหน่วยงาน เพื่อยกระดับให้ไต้หวันก้าวสู่การเป็นประเทศที่ดีงามยิ่งขึ้น
 
รมว.หลัวฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า ในปัจจุบันปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนจำนวน 9 ฉบับ มี 6 ฉบับที่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายภายในประเทศแล้ว และแม้ว่าสภาบริหารได้จัดตั้งคณะทำงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อ 6 อนุสัญญาที่มีผลบังคับใช้ในไต้หวัน เพื่อเข้าตรวจสอบภารกิจที่เกี่ยวข้องในการเสริมสร้างหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนแล้ว อย่างไรก็ตาม เพื่อต้องการเสริมสร้างกลไกการประสานงานเชิงกว้างระหว่างคณะทำงาน และกลไกการตรวจสอบอย่างครอบคลุม แผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนฉบับแรกจึงได้กำหนดให้สนง.สิทธิมนุษยชนที่สภาบริหารจัดตั้งขึ้นในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในแผนปฏิบัติการที่สำคัญ โดยคาดหวังที่จะยกระดับการวางแผนในภาพรวมและการดำเนินการบังคับใช้นโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐบาล โดยในส่วนของการบัญญัติกฎหมายว่าด้วยความเสมอภาค การจัดทำดัชนีชี้วัดด้านสิทธิมนุษยชน การจัดสรรงบประมาณด้านสิทธิมนุษยชน และกลไกการประเมินที่เกี่ยวข้องในด้านสิทธิมนุษยชน ก็จะถูกบรรจุเข้าเป็นภารกิจที่สำคัญของสนง.สิทธิมนุษยชนด้วยเช่นกัน
 
สำหรับภารกิจด้านการส่งเสริมความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน รมว.หลัวฯ กล่าวว่า เมื่อครั้งอดีต ไต้หวันได้ก้าวผ่านความสูญเสียและความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากการปกครองในระบอบเผด็จการมาเป็นเวลาหลายสิบปี ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคม หลังการประกาศยกเลิกใช้กฎอัยการศึกมาเป็นเวลาหลายปี จึงได้มีการบรรลุภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ในวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ซึ่งรวมไปถึงการผลักดันการร่าง “กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน” มาจนถึงการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งล้วนแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับภารกิจนี้เป็นอย่างมาก
 
รมว.หลัวฯ เน้นย้ำว่า การเปิดป้ายสนง.สิทธิมนุษยชนในครั้งนี้ สื่อให้เห็นถึงความท้าทายรูปแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น การบรรลุภารกิจด้านสิทธิมนุษยชนและการส่งเสริมความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบที่สำคัญของรัฐบาล และเป็นหนึ่งในกระบวนการทางประชาธิปไตย โดยปธน.ไช่ฯ และนายกรัฐมนตรีซูเจินชางยินดีที่จะแบกรับหน้าที่ ที่สมควรจารึกลงในประวัติศาสตร์เช่นนี้ นำพาให้ประเทศชาติก้าวสู่อีกขั้นของการพัฒนาต่อไป โดยรมว.หลัวฯ คาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นสนง.สิทธิมนุษยชนและหน่วยงานต่างๆ ประสานความร่วมมือกันในการผลักดันให้สิทธิมนุษยชนและการส่งเสริมความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ได้รับการพัฒนารุดหน้ายิ่งขึ้น ภายใต้พื้นฐานที่มีอยู่เดิม ซึ่งนอกจากจะต้องทำให้มากขึ้นแล้ว ยังต้องทำให้ดีขึ้นอีกด้วย