
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 19 ก.ค. 65
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 19 ก.ค. ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับคณะตัวแทนสภาแอตแลนติก (The Atlantic Council) ของสหรัฐฯ พร้อมทั้งขอบคุณรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ได้ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่จะช่วยยกระดับความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ไต้หวัน ตามที่ได้ระบุไว้ใน “กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน” และ “หลักประกัน 6 ประการ” อย่างเป็นรูปธรรม โดยปธน.ไช่ฯ เน้นย้ำว่า ในอนาคต ไต้หวันจะเร่งเสริมสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรด้านประชาธิปไตย อย่างสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศในยุโรป เพื่อสร้างคุณประโยชน์ในด้านสันติภาพ เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองให้เกิดแก่ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกในระยะยาวต่อไป
ปธน.ไช่ฯ กล่าวต้อนรับคณะตัวแทนที่เดินทางมาเยือนไต้หวันในครั้งนี้ พร้อมกล่าวว่า คณะตัวแทนกลุ่มนี้ล้วนเคยเข้ารับตำแหน่งสำคัญในหน่วยงานบริหารของสหรัฐฯ การเดินทางเยือนไต้หวันในครั้งนี้ เป็นผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากการผลักดันของ “สภาแอตแลนติก” โดยปธน.ไช่ฯ ขอบคุณที่รัฐบาลสหรัฐฯ และยุโรป ต่างจับตาและให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างเป็นรูปธรรม
ปธน.ไช่ฯ แถลงว่า หลายปีมานี้ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ยุโรปหรือไต้หวัน ต่างเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมาย พวกเรานอกจากจะเผชิญหน้ากับความท้าทายที่เกิดจากสถานการณ์โรคโควิด – 19 การแผ่ขยายอิทธิพลของลัทธิอำนาจนิยม และการรุกรานยูเครนของรัสเซียแล้ว ยังเป็นอุทาหรณ์เตือนใจพวกเราว่า พันธมิตรด้านประชาธิปไตยควรเสริมสร้างความสามัคคี เพื่อร่วมปกป้องค่านิยมด้านสันติภาพ ประชาธิปไตยและเสรีภาพ
ปธน.ไช่ฯ ชี้ว่า เมื่อเดือนที่แล้ว แถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G7 ได้เน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน โดยพวกเราขอแสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ได้ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่จะช่วยยกระดับความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ไต้หวัน ตามที่ได้ระบุไว้ใน “กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน” และ “หลักประกัน 6 ประการ” อย่างเป็นรูปธรรม ในอนาคต ไต้หวันจะเร่งเสริมสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรด้านประชาธิปไตย อย่างสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศในยุโรป เพื่อสร้างคุณประโยชน์ในด้านสันติภาพ เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองให้เกิดแก่ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกในระยะยาวต่อไป
ปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า เมื่อเดือนที่แล้วเป็นครั้งแรกที่สภาแอตแลนติกได้ประกาศ “ดัชนีด้านเสรีภาพและความเจริญรุ่งเรือง” (Freedom and Prosperity Indexes) โดยได้กำหนดให้ “ดัชนีด้านเสรีภาพ” ของไต้หวัน ก้าวสู่อันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย และเป็นอันดับที่ 18 ของโลก ส่วน “ดัชนีด้านความเจริญรุ่งเรือง” ไต้หวันถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 27 ของโลก ปธน.ไช่ฯ แสดงความคิดเห็นว่า ไต้หวันมีความสามารถและยินดีที่จะสวมบทบาทสำคัญในด้านการประสานความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าของกลุ่มพันธมิตรด้านประชาธิปไตยทั่วโลก อย่างกระตือรือร้น
ปธน.ไช่ฯ ยังระบุว่า เมื่อช่วงปลายเดือนที่แล้ว “การประชุมครั้งแรกภายใต้แผนริเริ่มการค้าระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ในศตวรรษที่ 21” ที่จัดโดยไต้หวัน - สหรัฐฯ ได้เปิดฉากขึ้น นอกจากนี้ พวกเรายังคาดหวังที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจและการค้ากับสหรัฐฯ ผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ กรอบความตกลงทางการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Framework Agreement, TIFA) และ “การเจรจาหุ้นส่วนเพื่อความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ (Taiwan-US Economic Prosperity Partnership Dialogue, EPPD)”
ปธน.ไช่ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในระยะนี้ ไต้หวันยังได้เร่งผลักดัน “โครงการเสริมสร้างความเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศยุโรป” เพื่อเป็นการขานรับต่อ “โครงการ Global Gateway” ของสหภาพยุโรป (EU) ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างไต้หวันและกลุ่มประเทศในยุโรป
ปธน.ไช่ฯ เน้นย้ำว่า การสนับสนุนของคณะตัวแทนจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ไต้หวันพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยปธน.ไช่ฯ ยังได้ใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อ Mr. Mark Esper อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งสหรัฐฯ ที่ร่วมเป็นกระบอกเสียงให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างเต็มกำลัง ไม่ว่าจะในระหว่างวาระการดำรงตำแหน่งหรือในระยะที่ผ่านมา
ท้ายนี้ ปธน.ไช่ฯ ยังได้ขอบคุณคณะตัวแทน ซึ่งเป็นอาคันตุกะจากแดนไกลที่เดินทางมาเยือนไต้หวัน และยินดีต้อนรับหากจะมีคณะตัวแทนเดินทางมาเยือนบ่อยๆ เพื่อร่วมกันผลักดันการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือแบบทวิภาคี พร้อมนี้ยังอวยพรให้ภารกิจของคณะตัวแทนเป็นไปอย่างราบรื่น
Mr. Esper กล่าวขณะปราศรัยว่า ข้าพเจ้าขอขอบคุณสำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่นของปธน.ไช่ฯ โดยสมาชิกคณะตัวแทนที่เดินทางเยือนไต้หวันในครั้งนี้ มีทั้งที่มาจากสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศในยุโรป เนื่องจากความท้าทายระดับโลกจำเป็นต้องอาศัยการตอบสนองจากประชาคมโลก ผ่านการหารือในประเด็นสำคัญๆ ร่วมกัน โดย Mr. Esper รู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่ได้เดินทางมาเยือนกรุงไทเปอีกครั้ง เพื่อเยี่ยมเยือนประชาชนชาวไต้หวันที่รักและยึดมั่นในเสรีภาพ
Mr. Esper ชี้ว่า ในฐานะที่เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หน้าที่ของเขาก็คือการสร้างหลักประกันให้แก่สหรัฐฯ และพันธมิตรในการเตรียมพร้อมรับมือต่อสถานการณ์ความท้าทายระดับโลก อย่างกรณีการรุกรานยูเครนของรัสเซีย เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่า ประเทศเผด็จการยังคงมีอยู่จริงในสังคมโลก ซึ่งได้สร้างปัญหาใหญ่หลวงให้แก่กลุ่มประเทศประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ภัยคุกคามครั้งใหญ่ที่ประชาธิปไตยในซีกโลกตะวันตกต้องเผชิญหน้ามิใช่รัสเซีย หากแต่เป็นในเอเชีย เนื่องจากพวกเขาเล็งเห็นแล้วว่า รัฐบาลจีนได้ก่อกวนเพื่อทำลายความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรม โดยจีนได้เข้ารุกรานและข่มขู่ประชาชนที่ยึดมั่นในหลักเสรีภาพ ซึ่งไต้หวันเป็นประเทศแนวหน้าที่ต้องเผชิญหน้าอย่างมิสามารถเลี่ยงได้
Mr. Esper กล่าวเพิ่มเติมว่า ประชาธิปไตยที่ได้รับการพัฒนาอย่างรุดหน้า และความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของไต้หวัน รวมถึงประชาชนที่รักและยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย ล้วนขัดต่อแนวคิดของรัฐบาลจีน Mr. Esper จึงขอเรียกร้องให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตยในซีกโลกตะวันตก ก้าวออกมาให้การสนับสนุนประเทศประชาธิปไตยที่มีการพัฒนาอย่างรุดหน้าอย่างไต้หวัน เพื่อต่อต้านการรุกรานจากประเทศเพื่อนบ้าน
Mr. Esper ยังได้ระบุว่า ขณะนี้ในแวดวงนโยบายของกรุงวอชิงตัน ดีซี มีฉันทามติร่วมกัน 1 ข้อคือ สำหรับสหรัฐฯ แล้ว จีนเป็นความท้าทายเชิงยุทธศาสตร์ แต่ไต้หวันเป็นมิตรสหายที่พวกเราต้องให้การสนับสนุนและร่วมปกป้อง นอกจากนี้ Mr. Esper ยังได้ส่งสารในลักษณะคล้ายกันนี้ไปยังพันธมิตรในยุโรปและองค์การนาโต้ (NATO)
Mr. Esper เผยว่า ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ได้เดินทางมาเข้าพบคารวะปธน.ไช่ฯ ในครั้งนี้ พร้อมร่วมพูดคุยหารือในประเด็นสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้า การต่างประเทศ การบูรณาการทางเศรษฐกิจและความมั่นคง กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐของไต้หวัน โดย Mr. Esper แสดงความเห็นว่า นโยบายจีนเดียวที่ดำเนินการมาเป็นระยะเวลายาวนานของรัฐบาลจีน ไร้ซึ่งประสิทธิผลอีกต่อไป โดยพวกเราควรที่จะถอยห่างจากความไม่ชัดเจนทางยุทธศาสตร์เช่นนี้ พร้อมแสดงความเห็นว่า สหรัฐฯ ควรที่จะจัดการอภิปรายภายในประเทศเพื่อหารือกันถึงสถานการณ์ล่าสุด พร้อมประกาศให้ประชาชนชาวสหรัฐฯได้รับทราบถึง การตัดสินใจดำเนินนโยบายของไต้หวัน อาทิ การจัดเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหม การประยุกต์ใช้ข้อได้เปรียบของแสนยานุภาพทางการทหารที่ขาดสมดุล และการหารือเพื่อยืดระยะเวลาการเกณฑ์ทหาร รวมถึงการเสริมสร้างกองกำลังเสริมและความสามารถในการระดมพล เป็นต้น