ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ปธน.ไช่ฯ กล่าวปราศรัยใน “การประชุม Ketagalan-ความมั่นคงในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ประจำปี 2022” ผ่านการบันทึกวิดีทัศน์ล่วงหน้า
2022-07-27
New Southbound Policy。ปธน.ไช่ฯ กล่าวปราศรัยใน “การประชุม Ketagalan-ความมั่นคงในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ประจำปี 2022” ผ่านการบันทึกวิดีทัศน์ล่วงหน้า (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
ปธน.ไช่ฯ กล่าวปราศรัยใน “การประชุม Ketagalan-ความมั่นคงในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ประจำปี 2022” ผ่านการบันทึกวิดีทัศน์ล่วงหน้า (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 26 ก.ค. 65
 
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 26 ก.ค. ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้กล่าวปราศรัยใน “การประชุม Ketagalan-ความมั่นคงในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ประจำปี 2022” ผ่านการบันทึกวิดีทัศน์ล่วงหน้า โดยปธน.ไช่ฯ ระบุว่า เมื่อเผชิญหน้ากับลัทธิอำนาจนิยม พันธมิตรด้านประชาธิปไตยจำเป็นต้องใช้มาตรการรับมือที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน  ประชาชนชาวไต้หวันมุ่งมั่นปกป้องประเทศชาติ พร้อมธำรงรักษาไว้ซึ่งวิถีชีวิตรูปแบบประชาธิปไตย ควบคู่ไปกับการรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาค โดยไต้หวันเป็นพันธมิตรด้านประชาธิปไตยที่ไม่สามารถขาดได้ในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ซึ่งไต้หวันได้สวมบทบาทที่สำคัญในการรักษาความมั่นคงระดับภูมิภาคและระดับโลก ปธน.ไช่ฯ คาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเสริมสร้างความสามัคคีกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เพื่อปกป้องค่านิยมที่ยึดมั่นร่วมกัน เพื่อส่งเสริมให้ลูกหลานยังคงสามารถดำเนินชีวิตต่อไปในรูปแบบประชาธิปไตยและเสรีภาพ ที่พวกเราหวงแหนสืบต่อไป
 
ปธน.ไช่ฯ ยังได้ใช้โอกาสนี้กล่าวไว้อาลัยต่ออดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะแห่งญี่ปุ่น พร้อมทั้งแสดงความขอบคุณอย่างสูงต่ออดีตนรม.อาเบะที่ได้จัดวางรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนในภูมิภาค การที่พวกเรายังคงสามารถปกป้องประชาธิปไตย และรักษาความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนกฎระเบียบสากล เพื่อให้เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองยังคงเดินหน้าต่อไปได้ ก็เนื่องมาจากความมุ่งมั่นพยายามของอดีตนรม.อาเบะ ที่ได้อุทิศให้ประชาคมโลกเสมอมา
 
สาระสำคัญของการกล่าวปราศรัยของปธน.ไช่ฯ สรุปโดยสังเขปได้ดังนี้

ตลอดระยะเวลา 6 ปีมานี้ การประชุม Ketagalan ได้ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมเจ้าหน้าที่ภาครัฐ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากพื้นที่ในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกและนานาประเทศ ให้มีโอกาสเข้าร่วมหารือและแบ่งปันมุมมองในประเด็นความมั่นคงในภูมิภาคที่สำคัญ  ปธน.ไช่ฯ คาดหวังและยินดีที่จะเห็นผู้เข้าร่วมประชุมเดินทางมาเยือนไต้หวัน หลังจากที่ทั่วโลกต้องหยุดชะงักอันเนื่องมาจากสถานการณ์โรคโควิด – 19 ที่แพร่ระบาดมาเป็นเวลา 2 ปีเศษ
 
ปธน.ไช่ฯ ยังได้ใช้โอกาสนี้กล่าวไว้อาลัยต่ออดีตนรม.อาเบะ ที่ล่วงลับไปอย่างกระทันหัน ทำให้ญี่ปุ่นต้องสูญเสียผู้นำที่ยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งไป ไต้หวันต้องสูญเสียมิตรสหายและพันธมิตรที่จริงใจ ทั่วโลกต้องสูญเสียบุคคลสำคัญทางการเมืองที่สร้างผลงานยอดเยี่ยมอุทิศให้ประชาคมโลกเสมอมา
 
บนเส้นทางแห่งการจัดตั้งกลไก “การรวมกลุ่มเจรจาด้านความมั่นคงปลอดภัยระหว่างภาคี 4 ประเทศ” (QUAD) และ “ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกที่เปิดกว้างและมีเสรีภาพ” อดีตนรม.อาเบะได้จัดวางรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนในภูมิภาค การที่พวกเรายังคงสามารถปกป้องประชาธิปไตย และรักษาความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนกฎระเบียบสากล เพื่อให้เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองยังคงเดินหน้าต่อไปได้ ก็เนื่องมาจากความมุ่งมั่นพยายามของอดีตนรม.อาเบะ ที่ได้อุทิศให้ประชาคมโลกเสมอมา
 
ภายใต้สถานการณ์ความท้าทายที่ทั่วโลกต้องเผชิญหน้าในด้านค่านิยมและระบอบการปกครองที่ยึดมั่นร่วมกัน ความสัมพันธ์ของกลุ่มประเทศประชาธิปไตยยิ่งมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โรคโควิด – 19 ที่ทำให้ความท้าทายเหล่านี้ ทวีความรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างระบอบเผด็จการและระบอบประชาธิปไตยอย่างชัดเจนเพิ่มมากขึ้น
 
การรุกรานยูเครนของรัฐบาลรัสเซีย ทำให้พวกเราประจักษ์ว่า ประเทศเผด็จการสามารถเข้ารุกรานอำนาจอธิปไตยของชาติอื่นได้โดยไร้ซึ่งศีลธรรม และเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศอย่างไม่สิ้นสุด ซึ่งปธน.ไช่ฯ เห็นว่า พวกเราจำเป็นต้องมีมาตรการการรับมือที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
 
ในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ลัทธิอำนาจนิยมได้ประกาศก้องว่าจะโค่นทำลายความสมดุลในภูมิภาค โดยพวกเขาได้อาศัยกลยุทธ์พื้นที่สีเทาในการบีบบรรทัดฐานทางกฎหมายระหว่างประเทศให้เกิดช่องโหว่ เพื่อเข้าแทรกแซงระบอบประชาธิปไตยและองค์การระหว่างประเทศด้วยวิธีการทางการทูต ทั้งนี้ เพื่อต้องการทำลายอำนาจอธิปไตยของประเทศอื่น โดยการใช้อำนาจและกำลังทหารบีบบังคับ ยิ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงการคุกคามสิทธิมนุษยชน อย่างเป็นระบบของกลุ่มเผด็จการ
 
ไต้หวันเป็นประเทศที่ตั้งอยู่แนวหน้าในการแผ่ขยายอิทธิพลของลัทธิอำนาจนิยม จึงเป็นป้อมปราการที่สำคัญในการปกป้องประชาธิปไตย โดยไต้หวันมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องมาหลายสิบปี จึงสามารถสวมบทบาทที่สำคัญในแวดวงพันธมิตร เพื่อต่อต้านการรุกรานของประเทศเผด็จการ
 
ปธน.ไช่ฯ รู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ได้เห็นกลุ่มประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกตระหนัก
ถึงความสำคัญของภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของทุกประเทศ ซึ่งเห็นได้จากการจัดตั้ง “ภาคีความมั่นคงแบบพหุภาคีระหว่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษและออสเตรเลีย” (AUKUS) ขึ้นเมื่อปีที่แล้ว รวมถึงสหภาพยุโรป และ QUAD ที่ยื่นข้อเสนอใหม่ เพื่อต้องการขยายพื้นที่การเข้าร่วมในภูมิภาค
 
เมื่อเดือนที่แล้ว เป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ได้เข้าร่วม “การประชุมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ” (NATO) โดยหลังเสร็จสิ้นการประชุมในครั้งนี้ก็ได้มีการประกาศแถลงการณ์ที่มีเนื้อความระบุถึง ความท้าทายที่มาจากรัฐบาลจีน โดยในเดือนเดียวกันนี้ แถลงการณ์ร่วมของ“ผู้นำประเทศกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนําของโลก 7 ชาติ” (Group of Seven, G7) ก็ได้เน้นย้ำถึง ความสำคัญในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ด้วยเช่นกัน
 
ไต้หวันเป็นพันธมิตรด้านประชาธิปไตยที่ไม่สามารถขาดได้ในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก โดยไต้หวันจะใช้มาตรการต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อยกระดับความมั่นคง นอกจากนี้ พวกเรายังได้จัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานรูปแบบใหม่ พร้อมทั้งผลักดันการผลิตเรือรบด้วยตนเอง ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างกองกำลังเสริมและความสามารถในการระดมพล เพิ่มงบประมาณเพื่อยกระดับแสนยานุภาพทางการทหารที่ขาดสมดุล ซึ่งความมุ่งมั่นเหล่านี้ถือเป็นการขับเคลื่อนให้พวกเราก้าวไปสู่กระบวนการเสริมสร้างศักยภาพด้านกลาโหมที่พึ่งพาตนเอง
 
นอกจากนี้ ไต้หวันยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนกับพันธมิตร 100 กว่าประเทศ ภายใต้กรอบความร่วมมือ Global Cooperation and Training Framework (GCTF) ในประเด็นที่มีความสำคัญ  อาทิ ความมั่นคงทางไซเบอร์ การเสริมสร้างศักยภาพสตรี และการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม โดย “นโยบายมุ่งใต้ใหม่” ที่ไต้หวันมุ่งมั่นผลักดันมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการลงทุนและการแลกเปลี่ยนของภาคประชาชนระหว่างไต้หวัน – ประเทศในภูมิภาคโดยรอบ
 
จากการเปิดการประชุมภายใต้แผนริเริ่มการค้าระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ในศตวรรษที่ 21 เมื่อเดือนที่ผ่านมา ไต้หวันได้เร่งเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและการค้ากับสหรัฐฯ ในเชิงลึก นอกจากนี้ ไต้หวัน – EU ยังได้ทำการปรับแก้เป้าหมายนโยบาย พร้อมทั้งเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสองฝ่าย ตลอดจนสร้างผลงาน จนสามารถทุบสถิติยอดการลงทุนระหว่างกันเมื่อปีที่แล้ว
 
อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ก้าวล้ำหน้าของไต้หวัน ก็มีส่วนช่วยในการกระตุ้นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าระดับโลก โดยผู้ประกอบการแผ่นเวเฟอร์ชั้นนำของไต้หวัน ได้มุ่งมั่นขยายตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทางรัฐบาลก็มุ่งมั่นเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศและการวิจัยพัฒนารวมถึงการฝึกอบรมด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมที่ครองบทบาทสำคัญระดับโลก ยังคงเปี่ยมด้วยศักยภาพทางการแข่งขันต่อไป  
 
ในด้านหลักประกันความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก  ไต้หวันมีความสามารถและกำลังสวมบทบาทที่สำคัญอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งไต้หวันนอกจากจะมุ่งมั่นเสริมสร้างความสามัคคีระหว่างพันธมิตรด้านประชาธิปไตยแล้ว ความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทานก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการระงับการแผ่ขยายอิทธิพลของประเทศเผด็จการได้เช่นกัน  
 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าค่านิยมด้านประชาธิปไตยและวิถีชีวิตของพวกเราจะถูกข่มขู่อย่างต่อเนื่อง แต่พวกเราจะไม่ละทิ้งคำมั่นด้านประชาธิปไตย เสรีภาพและสิทธิมนุษยชนโดยเด็ดขาด
 
ท้ายนี้ ปธน.ไช่ฯ ยังได้ขอบคุณกลุ่มประเทศประชาธิปไตยที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ที่ได้ยืนเคียงข้างไต้หวันเสมอมา เพื่อร่วมปกป้องค่านิยมที่มีร่วมกัน ตลอดจนธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน
 
เพียงแค่พวกเรารวมตัวกันเป็นปึกแผ่น ก็จะสามารถระงับการแผ่ขยายอิทธิพลของลัทธิอำนาจนิยมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ประชาธิปไตยได้รับการพัฒนาต่อไปได้อย่างเจริญรุ่งเรือง การที่พวกเรามารวมตัวร่วมแลกเปลี่ยนกันในครั้งนี้ ก็เพื่อจัดตั้งเป้าหมายร่วมกัน พร้อมทั้งยกย่องเชิดชูบุคคลที่มุ่งมั่นเพื่อสังคมโลกที่เปี่ยมด้วยเสรีภาพและสันติภาพ เพื่อกระตุ้นให้พวกเราก้าวออกมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปกป้องค่านิยมของพวกเรา ตลอดจนเพื่อส่งเสริมให้ลูกหลานยังคงสามารถดำเนินชีวิตต่อไปในรูปแบบประชาธิปไตยและเสรีภาพ ที่พวกเราหวงแหนสืบต่อไป