ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 1 ส.ค. 65
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 1 ส.ค. ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วม “พิธีเปิดการประชุมว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของชนเผ่าพื้นเมืองไต้หวัน ปี 2022” โดยปธน.ไช่ฯ ได้ชี้แจงถึงภารกิจและแนวทางการบรรลุนโยบายที่เกี่ยวข้องกับชนเผ่าพื้นเมืองของหน่วยงานสภาบริหารและสภานิติบัญญัติ พร้อมคาดหวังที่จะเห็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยึดมั่นในจุดยืนขององค์กรอิสระ เร่งขับเคลื่อนให้เชื่อมโยงสู่มาตรฐานระดับสากล พร้อมทั้งเสนอข้อคิดเห็นการประเมินและรายงานการสำรวจอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้สังคมไต้หวันเกิดความเข้าใจต่อสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชนพื้นเมือง โดยปธน.ไช่ฯ ได้ระบุว่าทุกวันที่ 1 ส.ค. ของทุกปี เป็นวันชนเผ่าพื้นเมืองไต้หวัน จึงคาดหวังที่จะเห็นประชาชนชาวไต้หวันให้ความเคารพและเปิดใจเรียนรู้จากกลุ่มชนพื้นเมืองไต้หวัน ไปพร้อมกับคณะกรรมการกิจการชนพื้นเมืองและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ปธน.ไช่ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า ทุกวันที่ 1 ส.ค. เป็นวันชนเผ่าพื้นเมืองไต้หวัน และเป็นวันที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะทำการทบทวนผลสัมฤทธิ์และนโยบายที่เกี่ยวกับชนเผ่าพื้นเมืองไต้หวัน เมื่อ 6 ปีที่แล้วในวันนี้ ทำเนียบประธานาธิบดีได้เร่งผลักดันภารกิจการเปลี่ยนผ่านสู่ความยุติธรรมทางประวัติศาสตร์ พร้อมทั้งส่งเสริมความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านของกลุ่มชนพื้นเมืองไต้หวัน และเมื่อ 2 ปีที่แล้วในวันนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ภายใต้การควบคุมดูแลของสภาตรวจสอบ ก็ได้เปิดดำเนินการภารกิจที่เกี่ยวข้อง มาตราบจนปัจจุบัน
ปธน.ไช่ฯ เผยว่า ในวันนี้ซึ่งตรงกับวันชนเผ่าพื้นเมืองไต้หวัน ข้าพเจ้ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่เห็นคณะกรรมการกิจการชนพื้นเมืองไต้หวันและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ร่วมจัด “การประชุมว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของชนเผ่าพื้นเมืองไต้หวัน” ซึ่งเป็นผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และเป็นตัวอย่างของการบรรลุเป้าหมาย “การให้ความสำคัญกับชนพื้นเมืองไต้หวันทุกกลุ่ม” อย่างเป็นรูปธรรม
ปธน.ไช่ฯ ระบุว่า ในมุมมองระดับสากล สิทธิประโยชน์ของชนเผ่าพื้นเมืองนับว่าเป็นประเด็นที่สำคัญในด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะเห็นได้จาก “กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง” (International Covenant on Civil and Political Rights, ICCPR) ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง (UN Declaration on the Rights of Indigenous Peoples) มาจนถึง “กฎหมายพื้นฐานของชนเผ่าพื้นเมือง” ต่างให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนของชนเผ่าพื้นเมือง ที่ตั้งอยู่บนรากฐานของดินแดน ภาษา วัฒนธรรมและการยอมรับในรูปแบบพิเศษ ที่ควรได้รับการเคารพและหลักประกันที่พึงมี
ปธน.ไช่ฯ ชี้ว่า การที่รัฐบาลมุ่งมั่นในการผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับชนเผ่าพื้นเมือง ก็เพื่อต้องการส่งเสริมให้สังคมก้าวทันกระแสโลก ควบคู่ไปกับการสร้างหลักประกันด้านสิทธิประโยชน์ของชนเผ่าพื้นเมืองให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น หลายปีมานี้ พวกเราได้ให้ความสำคัญต่อสิทธิด้านภาษาของชนเผ่าพื้นเมือง โดยได้ให้การสนับสนุนการสืบทอดและการพัฒนาภาษาชนเผ่าอย่างเป็นรูปธรรม โดยในที่ประชุมของหน่วยงานภาครัฐในปัจจุบันได้มีการผลักดันกลไกการแปลภาษาเป็นภาษาชนเผ่าควบคู่ไปกับภาษาอื่นๆ ด้วย
ปธน.ไช่ฯ ระบุเพิ่มเติมว่า พวกเรายังให้ความสำคัญกับสิทธิด้านวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมือง พร้อมให้การสนับสนุนในการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ข้อมูลทางวัฒนธรรม โดยขณะนี้ สถานีวิทยุกระจายเสียงของชนเผ่าพื้นเมืองไต้หวันได้มีการจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว โดยปธน.ไช่ฯ สังเกตเห็นว่า กลุ่มชนพื้นเมืองรุ่นใหม่ก็ได้ร่วมนำเสนอความคิดเห็นและแสดงบทบาทที่สำคัญ ผ่านช่องทางสื่อโซเชียลมีเดียอย่าง Youtube, Instragram และ Podcast
ปธน.ไช่ฯ แถลงว่า สิทธิในที่ดินที่กลุ่มชนพื้นเมืองให้ความสำคัญที่สุด ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบอย่างละเอียดโดยเจ้าหน้าที่ภาครัฐและผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้ เพื่อต้องการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มชนพื้นเมืองในการแสวงหาสิทธิการครอบครองที่ดินที่สงวนไว้สำหรับการอาศัยและการดำเนินชีวิตของกลุ่มชนพื้นเมืองไต้หวัน (Aboriginal Reserve) โดยในขณะนี้ “ร่างกฎหมายว่าด้วยการประยุกต์ใช้และควบคุมดูแลที่ดินที่สงวนไว้สำหรับกลุ่มชนพื้นเมือง” ได้อยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแล้ว