คณะกรรมการกิจการการเกษตร วันที่ 10 ส.ค. 65
“การประชุมด้านความร่วมมือทางเทคโนโลยีการเกษตรไต้หวัน - สหรัฐฯ” ได้เปิดฉากขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 2 ส.ค. ทีผ่านมา ณ ที่ทำการกระทรวงการเกษตรในกรุงวอชิงตัน ดีซี เมืองหลวงของสหรัฐฯ โดยนายเฉินจวิ้นจี้ รองประธานคณะกรรมการกิจการการเกษตรของสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) นำคณะตัวแทนที่เป็นผู้อำนวยการสถานีสาธิตทดลองการเกษตร การป่าไม้ การประมงและการปศุสัตว์ เดินทางไปร่วมการประชุมในครั้งนี้
ความร่วมมือในการวิจัยด้านเทคโนโลยีการเกษตรแบบทวิภาคีระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ แบ่งออกเป็น 5 ประเด็น ได้แก่ สุขภาพอนามัยสัตว์ การผลิตปศุสัตว์ ผลผลิตทางการเกษตรและการป้องกันกำจัดศัตรูพืช ทรัพยากรทางธรรมชาติและการเกษตรแบบยั่งยืน คุณค่าทางโภชนาการและการเพิ่มมูลค่าสินค้าอาหาร โดยเจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมอภิปรายและหาข้อสรุปโดยการแบ่งกลุ่ม ซึ่งก่อนหน้าการประชุม 1 วัน คณะตัวแทนและเจ้าหน้าที่หน่วยงานความร่วมมือของโครงการ ได้มีการจัดการประชุมแบบกลุ่มย่อย เพื่อชี้แจงสถานการณ์ความคืบหน้าและผลการวิจัยที่เกิดจากการประสานความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย พร้อมทั้งมีการนำมาแถลงในที่ประชุมหลัก โดยในช่วงที่ผ่านมา มีผลสัมฤทธิ์ประการสำคัญดังต่อไปนี้ : ในหัวข้อสุขภาพอนามัยสัตว์ ได้มุ่งเน้นไปที่ประเด็นเกี่ยวกับโรค Swine vesicular disease (SVD) โดยได้มีการร่วมวิจัยและพัฒนาชุดตรวจคัดกรอง ทั้งนี้ เพื่อรักษาสถานะการเป็นเขตปลอดโรคปากและเท้าในสัตว์กีบคู่โดยไม่ต้องพึ่งวัคซีน ให้คงอยู่ต่อไป นอกจากนี้ ยังได้มีการขยายขอบเขตการวิจัยเกี่ยวกับโรคพยาธิ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิวัฒนาการของโรคระบาด ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ; กลุ่มหัวข้อการผลิตปศุสัตว์ ได้มีการประสานความร่วมมือกับฝ่ายสหรัฐฯ ในการแสวงหาแนวทางเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อช่วยบรรเทาความท้าทายจากภาวะโลกร้อนที่บรรดาสรรพสิ่งรวมถึงสัตว์ทั้งหลายต้องเผชิญหน้า โดยเจาะลึกไปที่แง่มุมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นับตั้งแต่การผสมพันธุ์ คุณค่าทางโภชนาการ เชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ สวัสดิการของสัตว์ และการตรวจสอบความหลากหลายทางพันธุกรรม ; กลุ่มหัวข้อทรัพยากรทางธรรมชาติและการเกษตรแบบยั่งยืน ได้ทำการจำลองสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ พร้อมสังเกตการส่งผลกระทบต่อเมล็ดพันธุ์ถั่วและข้าวโพดของไต้หวัน และจัดทำรายงานการคาดการณ์ โดยในอนาคต คณะทำงานเฉพาะกิจในหัวข้อนี้จะขยายขอบเขตความร่วมมือกับฝ่ายสหรัฐฯ โดยยึดหลักการลดคาร์บอนเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของทั่วโลกในปัจจุบัน ให้เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งในการวิจัยต่อไป ; ส่วนกลุ่มหัวข้อผลผลิตทางการเกษตรและการป้องกันกำจัดศัตรูพืช ได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ในการประยุกต์ใช้เครื่องนับจำนวนแบบดิจิตอล และระบบอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) เพื่อดำเนินการตรวจจับการรุกรานของศัตรูพืชที่เป็นภัย รวมถึงจัดตั้งกลไกการแจ้งเตือนผลผลิตทางการเกษตรที่ได้รับความเสียหายตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น โดยในอนาคตจะร่วมวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการป้องกันและรักษาสิ่งมีชีวิตทางชีวภาพเหล่านี้ต่อไป เพื่อลดปริมาณการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ทั้งนี้ เพื่อขานรับต่อนโยบายสำคัญด้านการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (Integreted Pest Management, IPM) ; ส่วนกลุ่มหัวข้อคุณค่าทางโภชนาการและการเพิ่มมูลค่าสินค้าอาหาร เพื่อบรรลุเป้าหมายการยกระดับความปลอดภัยของสินค้าอาหาร จึงได้มีการพัฒนาแนวทางการวิเคราะห์หาปริมาณโลหะหนักและรูปแบบการประเมินความเสี่ยงร่วมกันทั้งสองฝ่าย ตลอดจนจัดตั้งฐานข้อมูลจีโนมเชื้อดื้อยา เพื่อไว้ใช้อ้างอิงต่อไป
คกก.กิจการการเกษตร แถลงว่า การประชุมในครั้งนี้ นอกจากจะบังเกิดผลสัมฤทธิ์ใน 5 ประเด็นหัวข้อข้างต้นแล้ว ยังมีความคืบหน้าที่สำคัญอีก 2 ประการ ได้แก่
1. นับตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นไป ไต้หวัน - สหรัฐฯ จะเปิดศักราชใหม่แห่งความร่วมมือด้านการประมงและการป่าไม้ หลังจากที่ขาดช่วงไปเป็นเวลานาน
ในด้านการป่าไม้ ทั้งสองฝ่ายจะมุ่งเน้นการอภิปรายเกี่ยวกับนิเวศวิทยา แมลงที่เป็นศัตรูตามธรรมชาติ และการควบคุมการแพร่กระจายของพืชต่างถิ่นที่เข้ารุกราน ทั้งในไต้หวัน และสหรัฐฯ เพื่อแสวงหาแนวทางการป้องกันการแพร่กระจายของพืชเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนในด้านการประมง เจ้าหน้าที่ไต้หวันได้เสนอให้มุ่งเน้นความร่วมมือไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การลดคาร์บอนเป็นศูนย์ และการพัฒนาการผลิตสินค้าประมงที่สอดคล้องต่อเกณฑ์มาตรฐานคาร์บอนต่ำ โดยทางฝ่ายสหรัฐฯ ก็ได้แถลงว่าจะมอบหมายให้หน่วยงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือรายละเอียดเพิ่มเติมกับเจ้าหน้าที่ไต้หวันต่อไป
2. ทั้งไต้หวัน - สหรัฐฯ ต่างยินดีที่จะส่งเสริมการบ่มเพาะบุคลากรและการแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยีระหว่างกัน
ในอนาคต ทั้งสองฝ่ายจะเร่งส่งเสริมความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางความร่วมมือระหว่างกัน ผ่านการจัดกิจกรรมการฝึกกอบรมบุคลากรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ตลอดจนกำหนดให้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคลากรเป็นข้อบังคับทางความร่วมมือ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสืบสานเครือข่ายความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ด้านการวิจัยทางการเกษตรระหว่างสองประเทศ ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
คกก.กิจการการเกษตร ย้ำว่า กระทรวงการเกษตรของสหรัฐฯ มีหน่วยงานการวิจัยด้านการเกษตรที่เข้มแข็งและยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก โดยหน่วยงานการวิจัยด้านการเกษตรเป็นหน่วยงานที่เปี่ยมด้วยศักยภาพสูงสุด ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวมีหน้าที่ดำเนินการวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตร เพื่อส่งมอบการบริการทางเทคโนโลยี ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องของอุตสาหกรรม ตลอดจนเร่งพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรและความปลอดภัยของอาหารอย่างต่อเนื่อง