เจ๋าจิ่งคือซุ้มเพดานที่อยู่ด้านบนของสถาปัตยกรรมแบบจีน ประกอบขึ้นจากการใช้ไม้มาประกบกันโดยไม่ใช้ตะปูแม้แต่ดอกเดียว ถือเป็นงานโครงสร้างไม้ที่สามารถทดสอบความสามารถของช่างไม้ได้เป็นอย่างดี
ความศรัทธาในเจ้าแม่มาจู่คือความเชื่อของคนไต้หวันทั่วไป ศาลเจ้าเทียนโฮ่วกงที่บูชาเจ้าแม่มาจู่ซึ่งตั้งอยู่ในหลายพื้นที่ ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงจิตศรัทธาของชาวบ้านที่ร่วมกันบริจาคเพื่อสร้างศาลเจ้าขึ้นมา หากแต่ยังเป็นเสมือนศูนย์รวมแห่งงานฝีมือและศิลปะพื้นบ้านของแต่ละท้องที่ ในทุกซอกทุกมุมของศาลเจ้าแต่ละแห่งต่างก็มีผลงานที่บรรดาครูช่างได้อุทิศตนเพื่อสร้างสรรค์ขึ้นมา นิตยสารไต้หวันพาโนรามาฉบับนี้ จะพาท่านไปสัมผัสกับจิตวิญญาณในการทำงานของครูช่างผู้มีชื่อเสียง ทั้งอาจารย์หลิวเซิ่งเหริน (簋謆緌) ช่างไม้ผู้มีชื่อเสียง อาจารย์ กัวชุนฝู (郭春福) ผู้เชี่ยวชาญการทำพระมาลาสำหรับเทวรูป และอาจารย์จางลี่เจวียน (張麗娟) ช่างเย็บปักถักร้อย เพื่อชื่นชมความงดงามแห่งหัตถศิลป์ของไต้หวันที่เป็นงานฝีมือ ซึ่งเกิดขึ้นจากการสะสมประสบการณ์นานหลายสิบปีของบรรดาครูช่างเหล่านี้
เมื่อเดินเข้าไปในศาลเจ้าเทียนโฮ่วกงที่เปิ้นกั่ง (笨港天后宮) ของเมืองเจียอี้ แค่เพียงเงยหน้าขึ้นมอง เราจะเห็นเจ๋าจิ่ง (藻井) หรือซุ้มเพดานรูปโป้วข่วยอันงดงามตระการตา โดยอาจารย์หลิวเซิ่งเหรินที่พาเราเดินชมกล่าวขึ้นมาว่า “หากในศาลเจ้ามีการทำเจ๋าจิ่ง ก็จะเป็นอะไรที่งดงามที่สุด” แท่งไม้ที่ประกบซ้อนกันขึ้นไปเป็นชั้น ๆ ซึ่งเรียกว่า “โต๋วก่ง (斗拱)” ใช้เทคนิคการเข้าไม้โดยใช้เดือยยึดติดกัน โดยไม่ใช้ตะปูเลยแม้แต่ตัวเดียว หากแต่ไม่ใช่ว่าศาลเจ้าหรือวัดทุกแห่งจะมีครูช่างมาทำการตกแต่งเพดานได้เช่นนี้ เพราะเจ๋าจิ่งถือเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ถึงความมีขนาดใหญ่โตของศาลเจ้า และยังเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถของครูช่างไม้ที่เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาด้วย
ตระกูลช่างไม้ที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น
อาจารย์หลิวเซิ่งเหรินถือกำเนิดในตระกูลช่างไม้ที่อยู่ในแถบซินกั่งของเมืองเจียอี้ งานบูรณะซ่อมแซมศาลเจ้าสุ่ยเซียนกง (水仙宮) ในเปิ้นกั่งที่ถือเป็นโบราณสถานระดับประเทศ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือเป็นงานฝีมือของอาจารย์หลิวซาน ที่เป็นปู่ทวดของอาจารย์หลิวเซิ่งเหริน และคุณปู่รวมทั้งปู่น้อยของท่านได้ฝากฝีมือเอาไว้ สำหรับอาจารย์หลิวเซิ่งเหรินที่วิ่งเล่นอยู่ในศาลเจ้าสุ่ยเซียนกงมาตั้งแต่เล็กจนโตแล้ว บรรดางานไม้และโครงสร้างไม้ต่าง ๆ ภายในศาลเจ้าถือเป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศประจำตระกูล จึงตั้งปณิธานไว้ว่าจะประกอบอาชีพช่างไม้มาโดยตลอด
หลังปลดประจำการจากการรับใช้ชาติด้วยการเป็นทหาร อาจารย์หลิวเซิ่งเหรินได้ติดตามฝึกฝนการทำงานไม้กับคุณลุง คืออาจารย์หลิวหงหลิน ทำให้มีประสบการณ์ในการบูรณะซ่อมแซมศาลเจ้าเทียนโฮ่วกงที่เปิ้นกั่ง ศาลเจ้าไห่ชิงกงที่ซานเถียวหลุน (三條崙海清宮) รวมทั้งยังมีโอกาสได้ทำงานซ่อมแซมอาคารโบราณและอาคารญี่ปุ่นด้วย
อาจารย์หลิวเซิ่งเหรินที่ตั้งปณิธานจะทำงานเป็นช่างไม้ไปตลอดชีวิต ได้จดจำคำพูดที่อาจารย์หลิวหงหลินสั่งสอนไว้ตลอดว่า “เมื่อรับงานมาแล้ว แม้จะขาดทุนก็ต้องทำจนสำเร็จ” เช่น หลังจากก่อตั้งธุรกิจเป็นของตัวเอง งานใหญ่งานแรกที่อาจารย์หลิวเซิ่งเหรินรับมาทำคือ การบูรณะซ่อมแซมหอจงซานของโรงงานยาสูบผิงตง ต้องประสบปัญหาที่บริษัทก่อสร้าง ซึ่งเป็นผู้รับเหมาหลักจงใจปิดกิจการเพื่อหลบหนีการชำระหนี้ ทำให้ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ แต่เขากลับยอมควักเนื้อเพื่อจ่ายค่าแรงให้แก่คนงานของตัวเอง เพื่อทำงานนี้ให้สำเร็จ ทัศนคติที่เปี่ยมไปด้วยความเอาจริงเอาจัง ทำให้อาจารย์หลิวเซิ่งเหรินสามารถสั่งสมประสบการณ์จากการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ก่อนจะกลายเป็นครูช่างไม้คนแรกของไต้หวันที่ได้รับใบอนุญาตการทำงานไม้และงานไม้โครงสร้างของสถาปัตยกรรมแบบจีนและญี่ปุ่นรวม 3 รายการ จากกระทรวงวัฒนธรรมของไต้หวัน
อาจารย์กัวชุนฝู ช่างโลหะที่ทำพระมาลาสำหรับเทพเจ้ามาเกือบ 60 ปี คือครูช่างที่มีอยู่ไม่มากในไต้หวัน ซึ่งสามารถใช้วัสดุที่แตกต่างกัน ทั้งโลหะเงิน ทองแดงและกระดาษ มาทำพระมาลาสำหรับเทพเจ้า
ความงดงามแห่งสถาปัตยกรรมของศาลเจ้า
อาจารย์หลิวเซิ่งเหรินเคยทำงานในการบูรณะซ่อมแซมศาลเจ้าต้าเทียนโฮ่วกงในนครไถหนาน (台南大天后宮) และอาคารบ้านเก่าของหลี่เถิงฟางที่ต้าซีในนครเถาหยวน รวมถึงเรือนจำเก่าที่เจียอี้ และยังเคยติดตามอาจารย์หลิวหงหลินเดินทางไปทำงานที่ญี่ปุ่น ในการก่อสร้างศาลเจ้าพ่อกวนอูที่โยโกฮาม่าขึ้นมาใหม่ด้วย อาจารย์หลิวเซิ่งเหรินบอกว่า ตัวเองชอบสถาปัตยกรรมของศาลเจ้าแบบดั้งเดิมมากที่สุด เพราะเมื่อเทียบกับแบบญี่ปุ่นที่ทุกขั้นตอนเต็มไปด้วยระเบียบแบบแผนที่ต้องยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดแล้ว งานหัตถศิลป์ที่มีอยู่อย่างเปี่ยมล้นในศาลเจ้ากลับมีเสน่ห์ที่น่าดึงดูดใจมากกว่า
อาจารย์หลิวเซิ่งเหรินเห็นว่า ไม้คือวัสดุจากธรรมชาติที่มีชีวิต จึงมีความอ่อนโยน ทำให้มองแล้วรู้สึกสบายตา ดังนั้นเมื่อเดินเข้าไปในศาลเจ้าแม่มาจู่จะทำให้เรารู้สึกได้ถึงความเงียบและสงบสุข ซึ่งสำหรับตนแล้ว การซ่อมแซมศาลเจ้า โบราณสถาน ก็เหมือนกับการได้ทำบุญ จึงไม่ค่อยคิดมากเรื่องกำไรขาดทุน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่ตนสามารถทำให้ทั้งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่อยู่ในโบราณสถานและความงดงามอันละมุนละไมของงานไม้สามารถคงอยู่และสืบทอดต่อไปได้
งานศิลปะบนพระมาลาของเทวรูปที่สืบทอดมายาวนานถึง 60 ปี
เวลาตีสองครึ่ง ที่ชั้นใต้ดินของตึกแถวหลังหนึ่งในเขตหนานชวีของนครไถหนาน เปลวไฟร้อนแรงที่พุ่งออกมาจากปืนไฟกำลังแผดเผาใส่ลวดเงิน อาจารย์กัวชุนฝูมองชิ้นงานผ่านแว่นขยายก่อนจะดัดลวดเงินที่ถูกไฟเผาจนอ่อนตัว แล้วนำไปติดเป็นแนวโค้งตามลวดลายบนแผ่นที่ตัวเองวาดขึ้นมาอย่างระมัดระวัง ก่อนจะเชื่อมเป็นจุด ๆ ให้ติดเข้ากับแผ่นเงิน ลวดลายและส่วนประกอบต่าง ๆ บนพระมาลาต่างก็เกิดขึ้นจากการทำงานอย่างซับซ้อนเป็นขั้นเป็นตอนในทุก ๆ วัน กว่าที่จะกลายมาเป็นพระมาลาที่เห็นกันอยู่อย่างคุ้นตา การประดิษฐ์พระมาลาเป็นงานฝีมือที่กว่าจะได้มาแต่ละใบต้องใช้เวลาตั้งแต่หลายเดือนไปจนถึงเป็นปี พระมาลาของเจ้าแม่มาจู่แห่งศาลเจ้าเทียนโฮ่วกงในลู่เอ่อเหมิน รวมถึงพระมาลาของเจ้าแม่มาจู่องค์ที่ 2 (เอ้อมา 二媽) และองค์ที่ 3 (ซานมา 三媽) ต่างก็ทำขึ้นมาด้วยวิธีการแบบเดียวกันนี้
อาจารย์กัวชุนฝูเกิดที่เหยียนสุ่ยของไถหนานในปี ค.ศ. 1950 หลังเรียนจบชั้นประถมศึกษาก็เริ่มฝึกฝนการเป็นช่างโลหะกับคุณลุง อาจารย์กัวชุนฝูเปิดร้านของตัวเองตั้งแต่อายุ 17 ปี ในตอนแรกเป็นการรับงานจากร้านทอง ในการทำเครื่องประดับทอง ป้ายทอง บางทีก็มีลูกค้าเอาพระมาลาของเทวรูปมาให้เขาทำของเลียนแบบ
หลังจากที่เศรษฐกิจของไต้หวันเริ่มพุ่งทะยานในช่วงปี ค.ศ. 1970 ทำให้ประชาชนมีรายได้ดีจนมีการสั่งทำพระมาลาเพื่อนำไปถวายแก่เทพเจ้ากันมากขึ้น ในช่วงปี ค.ศ. 1980 ขณะนั้นสังคมไต้หวันนิยมการเล่นหวยใต้ดินที่เรียกว่า "ต้าเจียเล่อ" (大家樂) ก็ยิ่งทำให้การสั่งทำพระมาลาสำหรับเทพเจ้ายิ่งเพิ่มขึ้นมากจนทำกันแทบไม่ทัน ดังนั้นอาจารย์กัวชุนฝูจึงได้ตั้งใจศึกษาเกี่ยวกับการทำเทวรูปและพระมาลาอย่างเต็มที่ เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบต่าง ๆ ของพระมาลา ก่อนจะค่อย ๆ เบนเข็มไปสู่การทำพระมาลาที่เป็นงานฝีมือแบบเต็มตัว
พระมาลาสำหรับเทพเจ้าทุกใบถูกทำขึ้นอย่างประณีตบรรจง โดยอาจารย์กัวชุนฝูจะมองผ่านแว่นขยายเพื่อดัดลวดเงินให้โค้งตามลวดลายที่ต้องการ และเชื่อมให้ติดกัน ต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าที่ผลงานจะสำเร็จ
พระมาลาใหญ่ของเจ้าแม่ ที่เป็นหนึ่งไม่มีสอง
อาจารย์กัวชุนฝูผู้ลงมือทำพระมาลาสำหรับเทวรูปมาเกือบ 60 ปี ยืนหยัดที่จะทำการวัดความยาวรอบพระเศียรของเทวรูปด้วยตนเองมาโดยตลอด สำหรับอาจารย์กัวชุนฝูแล้ว ขนาดของพระมาลาต้องแนบสนิทกับพระเศียรของเทวรูป จึงจะดูแล้วทั้งสวยงามและน่าเกรงขาม
หากจะบอกว่าอาจารย์กัวชุนฝูคือช่างหัตถศิลป์ แต่จริง ๆ แล้วท่านดูเหมือนจะเป็นศิลปินมากกว่า ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา อาจารย์กัวชุนฝูได้พัฒนาฝีมือในการทำพระมาลาให้มีความประณีตบรรจงมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับการทำพระมาลาของเจ้าแม่มาจู่ที่มีความยาวโดยรอบประมาณ 12 ซม. ด้านบนมีมังกร 9 ตัว หงส์ 4 ตัว แต่ละตัวต่างดูมีชีวิตชีวาเป็นอย่างมาก แม้แต่จุดที่น้อยคนนักจะสังเกตเห็น คือ บริเวณด้านหลังของพระมาลา อาจารย์กัวชุนฝูก็ยืนยันที่จะทำให้เป็นลวดลายดอกไม้อันงดงาม
การรับประกันตลอดชีพ คือความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมที่อาจารย์กัวชุนฝูมีต่อผลงานของตัวเอง ในปี ค.ศ. 2000 อาจารย์กัวชุนฝูได้รับการติดต่อจากศาลเจ้าเทียนโฮ่วกงที่ลู่เอ่อเหมิน ให้ทำพระมาลาสำหรับองค์เจ้าแม่มาจู่ ซึ่งมีความยาวโดยรอบประมาณ 146 ซม. “น่าจะเป็นพระมาลาสำหรับเทวรูปที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว”
ศาลเจ้าเทียนโฮ่วกงที่ลู่เอ่อเหมินเป็นศาลเจ้าที่มีผู้คนไปกราบไหว้เป็นจำนวนมาก ทำให้มีคราบเขม่าควันจับอยู่ที่พระมาลาหนามาก ในปี ค.ศ. 2021 อาจารย์กัวชุนฝูได้รับการติดต่อเป็นครั้งที่ 2 เพื่อทำความสะอาดและซ่อมแซมพระมาลา ท่านจึงค่อย ๆ ถอดแต่ละชิ้นส่วนและพลอยประดับทุกเม็ดของพระมาลาออกมาทำความสะอาดอย่างละเอียด โดยใช้ปืนไฟมาทำให้สีของเงินกลับคืนมา ก่อนจะนำไปแช่ในน้ำยาไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เพื่อล้างคราบสกปรกออก จากนั้นก็ชุบทองและพ่นน้ำยาเคลือบ สุดท้ายจึงค่อย ๆ ประกอบขึ้นใหม่อย่างระมัดระวัง หลังจากทำความสะอาดใหม่แล้ว แม้พระมาลาใบนี้จะมีอายุกว่า 20 ปีแล้ว แต่ยังดูเหมือนเป็นงานศิลปะอันประณีตบรรจง และช่วยเสริมให้องค์เจ้าแม่ที่ประทับอยู่ในศาลเจ้าดูแล้วมีความน่าเกรงขามมากยิ่งขึ้น
ความสง่างามที่ถูกถ่ายทอดผ่านเข็มและด้าย
อาจารย์จางลี่เจวียน ที่ดูแล้วเป็นคนตัวเล็ก ๆ คือครูช่างผู้เชี่ยวชาญการเย็บปักถักร้อยเป็นอย่างมาก ท่านสามารถปักด้ายให้ร้อยผ่านรูเล็ก ๆ ที่กว้างไม่ถึง 1 มม. ได้อย่างง่ายดาย ใบหน้าที่เปี่ยมด้วยรอยยิ้มตลอดเวลานี้ มีแววตาที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น ทั้งเล็ง ร้อย ต่างก็ทำสำเร็จในการลงมือเพียงครั้งเดียว ดูไม่ออกเลยว่า ท่านมีอายุเกือบ 80 ปีแล้ว อาจารย์จางลี่เจวียนนั่งคุยกับเราถึงเรื่องราวการฝึกฝนและเรียนรู้การเย็บปักถักร้อย ในขณะที่มือก็วุ่นอยู่กับการปักชุดของเทพเจ้าไปพร้อมกันด้วย ทุกท่วงท่าในการปักและเย็บ ดูราวกับว่าเข็มและด้ายเป็นเสมือนดินสอสีสำหรับท่าน ท่วงท่าในการปักลวดลายอันงดงามด้วยด้ายทองบนสะดึง ดูแล้วช่างอ่อนพลิ้วราวกับสายน้ำที่ไหลผ่าน เพียงไม่นานจากภาพวาดบนผืนผ้าก็กลายมาเป็นลวดลายสีทองสดใสที่ถูกปักขึ้นอย่างประณีตบรรจง ดูแล้วสวยงามแพรวพราวขึ้นมาในทันที นี่ก็คือฝีมือในการปักเย็บของอาจารย์จางลี่เจวียนที่ผ่านการสั่งสมประสบการณ์มานานกว่า 60 ปี
อาจารย์จางลี่เจวียนเริ่มเรียนการเย็บปักถักร้อยเมื่ออายุได้เพียง 14 ปี กับอาจารย์ที่มาจากฝูโจว โดยเริ่มจากการฝึกควบคุมแรงที่ใช้ในการปักเข็มและความแม่นยำในการเย็บ และเริ่มต้นจากการปักลวดลายบนผ้าเรียบ ไปจนถึงการปักที่มีการใส่ฝ้ายไว้ภายในแบบปักนูน รวมไปจนถึงการทำลวดลายทองสำหรับประดับบนผ้า
หลังจากฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของคนอื่นอยู่นานหลายปี ขณะที่อายุได้ 22 ปี อาจารย์ของอาจารย์จางลี่เจวียนมีความจำเป็นย้ายบ้านจึงต้องปิดร้านไปโดยปริยาย ลูกค้าของทางร้านซึ่งเดิมทีก็ชื่นชอบฝีมือของอาจารย์จางลี่เจวียนอยู่แล้ว จึงสนับสนุนให้อาจารย์จางลี่เจวียนหันมาเปิดร้านของตัวเอง แถมยังช่วยแนะนำลูกค้าให้ด้วย ซึ่งชุดเครื่องทรงของเทพเจ้าที่เป็นฝีมือการปักเย็บของอาจารย์จางลี่เจวียนก็ขายดีจนทำแทบไม่ทัน และเพื่อรับช่างฝีมือมาทำงานในร้านมากขึ้น ในปี ค.ศ. 1989 อาจารย์จางลี่เจวียนตัดสินใจย้ายร้านปักผ้าจินหม่าซิ่วจวง (金馬繡莊) มาอยู่ในโรงงานที่สร้างด้วยแผ่นสังกะสี ที่ตั้งอยู่ชานเมืองเจียอี้ในปัจจุบัน
อาจารย์จางลี่เจวียนซึ่งทำงานหัตถศิลป์ด้านการเย็บปักถักร้อยมานานกว่า 60 ปี เข็มและด้ายที่อยู่บนมือของท่าน ก็เหมือนกับเป็นดินสอสีที่วาดและแต่งแต้มสีสันให้กับเครื่องทรงอันงดงามของเหล่าทวยเทพ
พลิกโฉมงานหัตถศิลป์ดั้งเดิม
วันเวลาที่ผันผ่าน ทำให้ค่าแรงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งยังต้องแข่งขันกับงานเย็บปักถักร้อยราคาถูกจากเมืองจีน บรรดาร้านปักผ้าในไต้หวันจึงเริ่มปรับเปลี่ยนจากการเป็นงานฝีมือไปสู่การปักเย็บด้วยเครื่องเป็นบางส่วน ในขณะที่การเย็บปักแบบนูนที่เคยใช้ฝ้ายก็เปลี่ยนมาใช้โฟมเป็นวัตถุดิบแทน แต่อาจารย์จางลี่เจวียนบอกว่า ถึงจะเป็นงานปักนูนเหมือนกัน การใช้โฟมที่แม้จะทำได้รวดเร็ว แต่ก็ให้ความรู้สึกค่อนข้างแข็งกระด้าง ในขณะที่การใช้ฝ้ายจะมีความนุ่มและสามารถปรับเปลี่ยนความสูงต่ำได้ง่ายกว่า ทำให้ผลงานที่ออกมามีชีวิตชีวาและดูเป็นธรรมชาติมากกว่า
อาจารย์จางลี่เจวียนหยิบเครื่องทรงชุดใหญ่ของเจ้าแม่มาจู่ออกมาให้เราดู มีทั้งผ้าคลุมพระเศียร ผ้าคลุมพระอุระ (ทรวงอก) และพระอุทร (ท้อง) ฉลองพระองค์ ผ้าคลุมพระอังสา (ไหล่) อาจารย์จางลี่เจวียนบอกว่า ปกติแล้วเทวรูปของเทพเจ้าองค์อื่น ๆ จะมีเพียงฉลองพระองค์กับผ้าคลุมเศียร แต่สำหรับเจ้าแม่มาจู่แล้วจะต้องสวมผ้าคลุมพระอุระและพระอุทรก่อน แล้วจึงค่อยสวมฉลองพระองค์กับผ้าคลุมพระอังสา เจ้าแม่มาจู่ได้รับการยกย่องให้เป็นราชินีแห่งสวรรค์ ถือเป็นเทพเจ้าในระดับเดียวกับเง็กเซียนฮ่องเต้และเทพสวนเทียนซั่งตี้ ดังนั้นฉลองพระองค์จึงประดับด้วยลายมังกรเป็นหลัก ส่วนฉลองพระองค์ที่เห็นอยู่นี้ ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบจากมังกรคู่คารวะเจดีย์ โดยใช้ฝ้ายและด้ายทองมาเย็บเป็นเจดีย์นูน สองข้างมีมังกรและปลาหลีฮื้อที่ปักขึ้นด้วยด้ายทอง และยังมีผ้าคลุมพระอังสาที่ปักรูปหงส์เอาไว้ ดูแล้วทั้งประณีตและงดงาม และทำให้พอจะนึกภาพของเจ้าแม่ที่แต่งเครื่องทรงชุดนี้ออกว่า จะมีความน่าเกรงขามมากเพียงใด
หากท่านมีโอกาสได้ไปเยือนศาลเจ้าเทียนโฮ่วกง นอกจากกราบไหว้เจ้าแม่มาจู่ และดื่มด่ำไปกับบรรยากาศอันเงียบสงบและน่าเกรงขามของควันธูปที่ลอยพลิ้วไปตามสายลมแล้ว อย่าลืมชื่นชมกับความงดงามของงานหัตถศิลป์ที่มีอยู่มากมายภายในศาลเจ้าไปพร้อมกันด้วย คุณจะพบว่าทุกแห่งหนต่างก็เหมือนมีสมบัติล้ำค่าแอบแฝงอยู่ทั้งสิ้น
เพิ่มเติม
สง่าราศีแห่งเทพจากฝีมือครูช่าง สถาปัตยกรรมและงานหัตถศิลป์ในศาลเจ้าเทียนโฮ่วกง