ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศของนสพ. Salzburger Nachrichten โดยย้ำถึงความมุ่งมั่นในการป้องกันประเทศของไต้หวัน เมื่อต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากจีน
2022-08-22
New Southbound Policy。รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศของนสพ. Salzburger Nachrichten โดยย้ำถึงความมุ่งมั่นในการป้องกันประเทศของไต้หวัน เมื่อต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากจีน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศของนสพ. Salzburger Nachrichten โดยย้ำถึงความมุ่งมั่นในการป้องกันประเทศของไต้หวัน เมื่อต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากจีน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 20 ส.ค. 65
 
เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Ms. Dorina Pascher ผู้สื่อข่าวต่างประเทศของหนังสือพิมพ์ Salzburger Nachrichten ของเมืองซาลซ์บูร์กแห่งออสเตรีย โดยได้ชี้แจงถึงภัยคุกคามที่จีนกระทำต่อไต้หวัน การต่อต้านอำนาจเผด็จการของประเทศประชาธิปไตย และการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – ยุโรป เป็นต้น โดยเนื้อหาของบทสัมภาษณ์ได้ถูกตีพิมพ์ในหัวข้อ “รมว.กต.ไต้หวัน ระบุถึงกรณีที่ไต้หวันถูกข่มขู่จากจีน : เรามีความมุ่งมั่นในการปกป้องประเทศ” ผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ที่ผ่านมา
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมานี้ จีนได้ส่งกำลังทหารรุกล้ำดินแดนไต้หวัน พร้อมทั้งก่อสงครามไซเบอร์ต่อหน่วยงานภาครัฐที่สำคัญของไต้หวันหลายแห่ง เช่น ทำเนียบประธานาธิบดี กระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศ โดยได้ทำการเผยแพร่ข่าวปลอมเป็นวงกว้าง การถูกคุกคามจากจีนนับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และมีความเป็นไปได้ที่ไต้หวันจะถูกโจมตีทุกช่วงเวลา เราจึงต้องเตรียมการให้พร้อมในด้านการป้องกันประเทศ ด้วยการเสริมสร้างแสนยานุภาพด้านกลาโหมที่ขาดความสมดุล ยกระดับศักยภาพของการป้องกันประเทศโดยกองทัพและภาคประชาชน ตลอดจนยึดมั่นในแนวคิดด้านการป้องกันประเทศอย่างแน่วแน่
 
รมว.อู๋ฯ วิเคราะห์ว่า ความต้องการในการครอบครองไต้หวันของจีน เป็นการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการสู่ภายนอกอย่างเห็นได้ชัด โดยจีนมีความทะเยอทะยานสูง ซึ่งนอกจากจะต้องการเข้าควบคุมทะเลจีนตะวันออก ทะเลจีนตะวันตกและมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้แล้ว ยังได้จัดตั้งฐานทัพกองกำลังทหารในพื้นที่ภูมิภาคแอฟริกาและลาตินอเมริกาอีกด้วย พร้อมนี้ รมว.อู๋ฯ ยังได้เรียกร้องให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตยประสานสามัคคีกัน เช่นเดียวกับกรณีสงครามสู้รบระหว่างรัสเซีย – ยูเครน ที่ประเทศประชาธิปไตยได้ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย เพื่อต่อต้านการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ
 
รมว.อู๋ฯ ชี้ว่า สงครามระหว่างรัสเซีย – ยูเครนก่อให้เกิดวิกฤตการขาดแคลนเสบียงอาหารและพลังงานทั่วโลก รวมทั้งยังทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ แต่การที่ปริมาณการผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน ครองสัดส่วนทั่วโลกร้อยละ 63 อีกทั้งแผ่นชิปวงจรรวมทันสมัยที่ผลิตโดยไต้หวัน ครองสัดส่วนทั่วโลกกว่าร้อยละ 92 ดังนั้น หากจีนเข้ารุกรานไต้หวัน ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง
 
รมว.อู๋ฯ ย้ำอีกว่า หลายปีมานี้ ประชาคมโลกต่างจับตาต่อสถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวันอย่างใกล้ชิด หลังจากที่ Ms. Nancy Pelosi ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวันแล้ว กลุ่มประเทศในยุโรปก็ได้ทยอยรวบรวมคณะตัวแทนเดินทางเยือนไต้หวันด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้การต้อนรับเหล่าผู้นำจากกลุ่มประเทศประชาธิปไตย ที่เดินทางเยือนไต้หวันอย่างต่อเนื่อง
 
เมื่อระบุถึงความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - ยุโรป รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า เราได้รับการสนับสนุนที่เพิ่มมากขึ้นจากภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก และกลุ่มประเทศที่ตั้งอยู่ในแถบคาบสมุทรบอลติก อย่างกรณีตัวอย่างของ Mr. Gabrielius Landsbergis รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของลิทัวเนีย ที่ได้เผยแพร่บทความพิเศษผ่านรายการ The Telegraph ของอังกฤษ โดยได้ระบุว่า “นานาประเทศทั่วโลกที่ยึดมั่นในเสรีภาพไม่ควรปล่อยให้ไต้หวันประสบสถานการณ์เช่นเดียวกับยูเครน” พร้อมทั้งยังได้โพสต์ข้อความลงในทวิตเตอร์ในระหว่างการบริจาควัคซีนเพื่อตอบแทนคืนสู่ไต้หวัน มีเนื้อความที่ระบุว่า “ผู้ที่ยึดมั่นในเสรีภาพ ควรที่จะให้การดูแลซึ่งกันและกัน” ซึ่งสร้างความประทับใจให้แก่ไต้หวันเป็นอย่างมาก ภายใต้สถานการณ์ที่จีนยังคงสร้างความตึงเครียดให้เกิดแก่ภูมิภาค และไต้หวันยังคงเผชิญหน้ากับจีนอย่างกล้าหาญ เปรียบเสมือนดาวิดที่ต่อสู้กับยักษ์ใหญ่โกลิอัท โดยพวกเรามีหน้าที่ในการจับมือกับกลุ่มประเทศประชาธิปไตยเพื่อร่วมปกป้องค่านิยมด้านประชาธิปไตย พร้อมเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนระหว่างกันอย่างแนบแน่น เชื่อว่าแนวคิดประชาธิปไตยจะได้รับชัยชนะในท้ายที่สุด
 
“นสพ. Salzburger Nachrichten” ก่อตั้งขึ้นในปี 1945 โดยมีการรายงานข่าวต่างๆ อย่างความรัดกุมและเปี่ยมด้วยเนื้อหาเชิงลึก กลุ่มผู้ติดตามส่วนมากล้วนเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่มีบทบาทในการกำหนดนโยบายด้านการเมืองและเศรษฐกิจ จึงถือเป็นสื่อมวลชนที่ทรงอิทธิพลในออสเตรียเป็นอย่างมาก