ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 22 ส.ค. 65
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 22 ส.ค. ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับ Mr. Eric Holcomb ผู้ว่าการรัฐอินเดียนา สหรัฐอเมริกา โดยปธน.ไช่ฯ เน้นย้ำว่า ไต้หวันมีความสามารถ และมีความยินดีที่จะเสริมสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรด้านประชาธิปไตยทั่วโลก เพื่อร่วมจัดตั้งระบบห่วงโซ่อุปทานแผ่นชิปวงจรรวมในกลุ่มประเทศประชาธิปไตยให้เกิดความยั่งยืน ท่ามกลางสถานการณ์อันวิกฤตเช่นนี้ พันธมิตรด้านประชาธิปไตยควรที่จะประสานสามัคคีร่วมกันในการเสริมสร้างความร่วมมือในด้านต่างๆ โดยปธน.ไช่ฯ คาดหวังว่า ในอนาคต ไต้หวัน - สหรัฐฯ จะสามารถเอื้อประโยชน์และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกัน ภายใต้พื้นฐานที่มีอยู่เดิมต่อไป เพื่อส่งเสริมให้ความสัมพันธ์แบบทวิภาคีเป็นไปอย่างแนบแน่น ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความร่วมมือในทิศทางเชิงลึกต่อไป
ปธน.ไช่ฯ แถลงว่า ไต้หวัน - สหรัฐฯ เป็นพันธมิตรที่ยึดมั่นในประชาธิปไตยและเสรีภาพเช่นเดียวกัน และเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก หลายปีมานี้ ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศส่งผลให้บังเกิดผลสัมฤทธิ์มากมาย โดยตลอดช่วงที่ผ่านมา ปธน.ไช่ฯ ได้ให้การต้อนรับ นักการเมืองคนสำคัญจากพรรคการเมืองต่างๆของสหรัฐฯ รวมถึงนักวิชาการและเจ้าหน้าที่คลังสมองของสหรัฐฯ มากมาย ประกอบด้วย Ms. Nancy Pelosi ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ พร้อมด้วยคณะ Mr. Ed Markey ประธานคณะอนุกรรมาธิการต่างประเทศ ด้านเอเชีย – แปซิฟิกของวุฒิสภาสหรัฐฯ พร้อมด้วยคณะ และมิตรหสายที่เดินทางมาจากรัฐอินเดียนาในครั้งนี้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นแล้วว่า ประชาชนทุกแวดวงของสหรัฐฯ ต่างให้การสนับสนุนแก่ไต้หวันอย่างหนักแน่น และพร้อมที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในทุกด้านระหว่างกันในเชิงลึกต่อไป
ปธน.ไช่ฯ ระบุว่า เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้เสร็จสิ้นการลงนาม ““ร่างกฎหมายว่าด้วยแผ่นชิปวงจรรวม” (CHIPS Act)” เพื่อทุ่มงบประมาณในการวิจัยและผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ ควบคู่ไปกับการยกระดับความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน โดยหลังจากที่ร่างกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว รัฐอินเดียนาคาดหวังที่จะก้าวสู่การเป็น “ศูนย์กลางทางเทคโนโลยี” เกิดใหม่ของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ โดยในช่วงที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเพอร์ดู (Purdue University) ก็ได้เพิ่งจัดตั้ง “ศูนย์การทูตเชิงเทคโนโลยี” (Center for Tech Diplomacy at Purdue,CTDP) ตลอดจนจัดตั้งหลักสูตรเซมิคอนดักเตอร์
ปธน.ไช่ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทิศทางการพัฒนาของสหรัฐฯ ข้างต้นมีความสอดคล้องกับไต้หวันเป็นอย่างมาก อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน ครองบทบาทที่สำคัญในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก โดยพวกเราได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันระดับอุดมศึกษา ในการจัดตั้งสถาบันวิจัยเซมิคอนดักเตอร์ขึ้นรวม 4 แห่ง เพื่อบ่มเพาะบุคลากรรุ่นใหม่ให้เกิดความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี โดยการเดินทางเยือนไต้หวันของคณะตัวแทนในครั้งนี้ นอกจากจะมีกำหนดการเข้าพบปะกับบรรดาผู้นำอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีขั้นสูงของไต้หวันแล้ว ยังได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนเชิงวิชาการ ระหว่างมหาวิทยาลัยเพอร์ดู - มหาวิทยาลัยหยางหมิงเจียวทง (National Yang Ming Chiao Tung University, NYCU) และมหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงกง (National Cheng Kung University, NCKU) อีกด้วย
ปธน.ไช่ฯ แสดงความคิดเห็นว่า ความมั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นแกนหลักสำคัญของความมั่นคงระดับประเทศและความมั่นคงระดับภูมิภาค ไต้หวันเป็นประเทศที่เปี่ยมด้วยศักยภาพความสามารถและมีความยินดีที่จะเสริมสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรด้านประชาธิปไตยทั่วโลก เพื่อร่วมจัดตั้งระบบห่วงโซ่อุปทาน “แผ่นชิปวงจรรวมในกลุ่มประเทศประชาธิปไตย” ให้เกิดความยั่งยืน โดยพวกเราจะมุ่งมั่นรักษาค่านิยมที่ยึดมั่นร่วมกัน เพื่อสรรค์สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น
ปธน.ไช่ฯ เน้นย้ำว่า โดยเฉพาะในขณะนี้ที่พวกเรากำลังเผชิญหน้ากับการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการไปสู่นานาประเทศทั่วโลก โดยในระยะที่ผ่านมา ไต้หวันต้องเผชิญหน้ากับการข่มขู่ด้วยกำลังทหารของรัฐบาลจีนในน่านน้ำรอบช่องแคบไต้หวัน ท่ามกลางสถานการณ์อันวิกฤตเช่นนี้ พันธมิตรด้านประชาธิปไตยควรที่จะประสานสามัคคี ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือในทุกภาคส่วนอย่างกระตือรือร้น
ปธน.ไช่ฯ ระบุว่า รัฐอินเดียนาและไต้หวัน มีความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างลึกซึ้งมาเป็นเวลานาน ซึ่งนอกจากจะเป็นรัฐของสหรัฐฯ แห่งแรกที่ร่วมผูกสัมพันธ์แบบพี่น้องกับไต้หวันแล้ว ประชาชนทั้งสองฝ่ายต่างก็มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างแนบแน่น
Mr. Holcomb แถลงว่า ข้าพเจ้าขอแสดงความเคารพต่อปธน.ไช่ฯ ในฐานะตัวแทนของประชาชนรัฐอินเดียนารวม 6.8 ล้านคน โดยรัฐอินเดียนาเป็นรัฐของสหรัฐฯ แห่งแรกที่ร่วมผูกสัมพันธ์แบบพี่น้องกับไต้หวัน ตราบจนปัจจุบันล่วงเลยมาเป็นระยะเวลา 44 ปีแล้ว โดย Mr. Holcomb รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ตนเป็นผู้ว่าการรัฐคนแรกของสหรัฐฯ ที่เดินทางมาเยือนไต้หวันหลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 เป็นต้นมา เนื่องจากโอกาสเช่นนี้คงไม่มีอีกเป็นครั้งที่ 2 Mr. Holcomb กล่าวว่า อธิการบดีคนปัจจุบันของมหาวิทยาลัยเพอร์ดู ซึ่งก่อนหน้านี้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการรัฐอินเดียนา เคยเดินทางมาเยือนไต้หวันในปี 2005 หลังจากนั้นเป็นต้นมา ผู้นำรัฐอินเดียนาก็ได้ทยอยเดินทางมาเยือนไต้หวันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การค้า และการเกษตร ระหว่างไต้หวัน - อินเดียนา เป็นอย่างมาก
Mr. Holcomb ได้อ้างอิงคำพูดของปธน.ไช่ฯ เมื่อครู่ว่า ประชาชนรัฐอินเดียนาและไต้หวัน ต่างยึดมั่นในค่านิยมร่วมกันหลายประการ อีกทั้งยังมีผลประโยชน์และเป้าหมายที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยในอนาคตพวกเราจะมีโอกาสที่เพิ่มพูนมากขึ้นสำหรับการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน ภายใต้การขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยรัฐอินเดียนาจะเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนกับไต้หวันอย่างต่อเนื่องต่อไป
Mr. Holcomb ชี้ว่า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพวกเราทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะรัฐอินเดียนา ที่เป็นหนึ่งในรัฐของสหรัฐฯ ที่สามารถดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เข้ามาได้เป็นจำนวนมากที่สุด โดย Mr. Holcomb รู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่เห็นว่า มีผู้ประกอบการไต้หวันรวม 10 รายที่เข้าร่วมลงทุนในรัฐอินเดียนาด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะบริษัท MediaTek ก็ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่ม FDI ในรัฐอินเดียนา
Mr. Holcomb กล่าวเพิ่มเติมว่า พวกเราต่างแบกรับภารกิจในการกำหนดอนาคตด้วยตนเองอย่างกล้าหาญ โดยเฉพาะการอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงและแนวทางเชิงพาณิชย์ในการออกแบบแผนโซลูชันเพื่อการแก้ไขปัญหา โดยรัฐอินเดียนามุ่งมั่นในการเสริมสร้างรูปแบบเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่นในอนาคต ด้วยประยุกต์ใช้ความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งและค่านิยมที่มีร่วมกัน เนื่องจากการคัดกรองหุ้นส่วนที่จะประสานความร่วมมือเป็นสิ่งสำคัญ ไต้หวันถือเป็นหุ้นส่วนของพวกเราที่ไว้วางใจได้ Mr. Holcomb จึงมีความมั่นใจว่า ในอนาคตจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้น เพื่อใช้เป็นแผนโซลูชันในการแก้ไขปัญหาระดับสากล ควบคู่ไปกับการวิจัยแบบเปิดกว้าง เพื่อผลักดันให้ทุกคนก้าวไปสู่หนทางการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
Mr. Holcomb ระบุว่า แม้ว่าเขาจะสวมใส่หน้ากากอนามัย แต่ก็ไม่สามารถปิดบังรอยยิ้มอันแสนสุขของเขาได้ เนื่องจาก Mr. Holcomb คาดหวังที่จะร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MoU) กับไต้หวันนานาประการ โดยเชื่อว่า MoU เหล่านี้จะสามารถแปรเปลี่ยนจากแรงขับเคลื่อนทางความร่วมมือ เป็นการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมได้ เพื่อร่วมบรรลุอนาคตที่แข็งแกร่งร่วมกันต่อไป โดย MoU ที่ร่วมลงนามระหว่างไต้หวัน – รัฐอินเดียนา จะเป็นรากฐานที่สำคัญของความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างสองฝ่าย เพื่อให้พวกเราประสานความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญในเชิงลึก ซึ่งนอกเหนือจากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ปธน.ไช่ฯ ระบุถึงเมื่อครู่แล้ว ยังมีเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเพอร์ดู ก็จะร่วมลงนาม MoU กับ 2 สถาบันอุดมศึกษาของไต้หวันเช่นกัน เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนด้านการวิจัยและพัฒนาในเชิงลึกต่อไป
Mr. Holcomb แสดงความคิดเห็นว่า มหาวิทยาลัยเพอร์ดู เป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของโลก การเข้าร่วมเป็นอีกหนึ่งแขนงในการพัฒนาประเทศเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากสังคมต้องอาศัยบุคลากร รวมไปถึงการบ่มเพาะบุคลากรทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยการบ่มเพาะบุคลากรจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนในสังคมต่อไป เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสในการมุ่งพัฒนาไปสู่ทิศทางเชิงบวก กำหนดอนาคตของตนเอง นอกจากนี้ Mr. Holcomb ยังระบุว่า ทั่วโลกต่างทราบดีว่า การบริหารจัดการ ตลอดจนความแข็งแกร่งและยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ที่เกี่ยวโยงกับการวิจัยและพัฒนาขั้นสูงนานาประการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตประจำวันของประชาชนทุกคน