ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ปธน.ไช่ฯ ให้การต้อนรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ “สหภาพรัฐสภาแบบข้ามพรรคของญี่ปุ่น” พร้อมเน้นย้ำว่า ไต้หวัน - ญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคง จึงควรที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในเชิงลึก เพื่อรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ เสรีภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคให้คงอยู่สืบไป
2022-08-24
New Southbound Policy。ปธน.ไช่ฯ ให้การต้อนรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ “สหภาพรัฐสภาแบบข้ามพรรคของญี่ปุ่น” พร้อมเน้นย้ำว่า ไต้หวัน - ญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคง จึงควรที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในเชิงลึก เพื่อรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ เสรีภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคให้คงอยู่สืบไป (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
ปธน.ไช่ฯ ให้การต้อนรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ “สหภาพรัฐสภาแบบข้ามพรรคของญี่ปุ่น” พร้อมเน้นย้ำว่า ไต้หวัน - ญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคง จึงควรที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในเชิงลึก เพื่อรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ เสรีภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคให้คงอยู่สืบไป (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 23 ส.ค. 65
 
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 23 ส.ค. ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับ Mr. Keiji Furuya สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประธาน “สหภาพรัฐสภาแบบข้ามพรรคของญี่ปุ่น” (Nikka Giin Kondankai) โดยปธน.ไช่ฯ แถลงขณะให้การต้อนรับว่า ไต้หวัน - ญี่ปุ่นต่างยึดมั่นในค่านิยมด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพ ถือเป็นหุ้นส่วนที่มีความเกี่ยวพันด้านความมั่นคง จึงควรที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในเชิงลึกต่อไป เพื่อร่วมธำรงรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ เสรีภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคให้คงอยู่สืบไป โดยปธน.ไช่ฯ คาดหวังที่จะเห็น ไต้หวัน – ญี่ปุ่นร่วมปกป้องรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค ควบคู่ไปกับการเร่งเสริมสร้างความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาสู่การเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งในระดับภูมิภาค ทั้งนี้ เพื่อนำพาให้ทั่วโลกมุ่งสู่เสรีภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภายภาคหน้า
 
ปธน.ไช่ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า สหภาพรัฐสภาแบบข้ามพรรคของญี่ปุ่นเป็นสะพานเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – ญี่ปุ่นที่มีบทบาทสำคัญ นับตั้งแต่ที่ข้าพเจ้าเข้ารับตำแหน่งผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นต้นมา ก็ได้ให้การต้อนรับ Mr. Keiji และสมาชิกมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน โดยการมาเยือนในครั้งนี้ของ Mr. Keiji ก็เพื่อสำแดงให้เห็นถึงการสนับสนุนไต้หวันของรัฐสภาญี่ปุ่น ปธน.ไช่ฯ ในฐานะตัวแทนประชาชนชาวไต้หวันขอแสดงความขอบคุณด้วยใจจริง
 
ปธน.ไช่ฯ ระบุว่า นับตั้งแต่ต้นปีนี้ ที่รัสเซียบุกโจมตียูเครน  ตลอดจนการที่ในระยะนี้ จีนได้จัดซ้อมรบในบริเวณน่านน้ำและน่านฟ้าของไต้หวัน  ถือเป็นการคุกคามเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกโดยรวม เมื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายและการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ ประชาคมโลกจำเป็นต้องร่วมรับมือไปพร้อมกัน หากไต้หวันถูกรุกล้ำดินแดน จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อค่านิยมด้านประชาธิปไตยและภูมิภาคอินโด - แปซิฟิกในภาพรวมด้วย
 
ปธน.ไช่ฯ เชื่อมั่นว่า ภายใต้ความช่วยเหลือจาก “สหภาพรัฐสภาแบบข้ามพรรคของญี่ปุ่น” ความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนระหว่างไต้หวัน - ญี่ปุ่น จะพัฒนาไปสู่ทิศทางเชิงบวกในเชิงลึกมากขึ้น โดยในปัจจุบัน “สหภาพรัฐสภาแบบข้ามพรรคของญี่ปุ่น” ประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภาแบบข้ามพรรค รวมเป็นจำนวน 260 คน นับว่าเป็นกลุ่มที่ทรงอิทธิพลในรัฐสภาญี่ปุ่น
 
ปธน.ไช่ฯ หยิบยกกรณีตัวอย่างเมื่อปีที่แล้วว่า ภายใต้การให้ความช่วยเหลือของ Mr. Keiji และ “สหภาพรัฐสภาแบบข้ามพรรคของญี่ปุ่น” วุฒิสภาญี่ปุ่นได้ลงมติผ่านญัตติที่เป็นมิตรต่อไต้หวันอย่างเป็นเอกฉันท์ เพื่อให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วม “การประชุมสมัชชาอนามัยโลก” (WHA)
 
ปธน.ไช่ฯ ระบุว่า หลายปีมานี้ ไต้หวัน – ญี่ปุ่นได้ร่วมเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนที่เป็นไปในรูปแบบ “มิตรแท้ในยามยาก” เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประสบกับอุปสรรค อีกฝ่ายก็พร้อมที่จะยื่นมือให้ความช่วยเหลือโดยทันที ในช่วงสถานการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ปี 2011 ไต้หวันได้ส่งมอบความช่วยเหลือมากมายให้แก่ญี่ปุ่นเพื่อช่วยบรรเทาภัยอย่างทันท่วงที และในช่วงที่ผ่านมาที่ไต้หวันประสบกับวิกฤตการขาดแคลนวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 ญี่ปุ่นก็ได้บริจาคให้ไต้หวันทันทีที่ทราบเรื่องเช่นเดียวกัน
 
ปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า ไต้หวัน – ญี่ปุ่นได้ประสานความร่วมมือในการก้าวผ่านอุปสรรคนานาประการ จึงทำให้เกิดเป็นมิตรภาพที่เกื้อกูลซึ่งกันและกันเสมอมา โดยในอนาคต ยังต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายอีกมาก ปธน.ไช่ฯ คาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็น ไต้หวัน – ญี่ปุ่น นอกจากจะร่วมปกป้องรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคแล้ว ยังจะเร่งเสริมสร้างความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาสู่การเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งในระดับภูมิภาค ทั้งนี้ เพื่อนำพาให้ทั่วโลกมุ่งสู่เสรีภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภายภาคหน้าต่อไป
 
Mr. Keiji กล่าวขณะปราศรัยว่า ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ได้เป็นตัวแทนของ “สหภาพรัฐสภาแบบข้ามพรรคของญี่ปุ่น”ในการเข้าพบคารวะปธน.ไช่ฯ อีกครั้ง โดย Mr. Keiji ระบุว่า การจุดไฟประดับบนตึกไทเป 101 เพื่อร่วมไว้อาลัยต่ออดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะแห่งญี่ปุ่น ได้แสดงให้ประชาชนชาวญี่ปุ่นสัมผัสได้อย่างลึกซึ้งถึงมิตรภาพและความไว้วางใจอันเหนียวแน่นระหว่างไต้หวัน – ญี่ปุ่น ที่มีต่อกันเสมอมา
 
Mr. Keiji ชี้แจงว่า ในปัจจุบัน ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ได้กลายเป็นภาคพื้นมหาสมุทรที่เปี่ยมด้วยเสรีภาพและความเจริญรุ่งเรือง แผนข้อเสนอและแนวคิดดังกล่าว เป็นแนวคิดของอดีตนรม.อาเบะที่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการใน “การประชุมนานาชาติว่าด้วยการพัฒนาในพื้นที่แอฟริกาของกรุงโตเกียว” (Tokyo International Conference on African Development,TICAD) เมื่อเดือนส.ค. ปี 2016 พร้อมนี้ ยังได้มีการยื่นเสนอ “ยุทธศาสตร์อินโด - แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง” เป็นครั้งแรกต่อประชาคมโลก จึงจะเห็นได้ว่า สันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน นอกจากจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับหลักประกันด้านความมั่นคงของญี่ปุ่นแล้ว ยังเป็นรากฐานที่สำคัญที่เกี่ยวพันกับเสถียรภาพและความมั่นคงของประชาคมโลกด้วยเช่นกัน
 
Mr. Keiji แถลงเพิ่มเติมว่า เฉกเช่นเดียวกับสถานการณ์การบุกโจมตียูเครนของรัสเซีย รัฐบาลจีนอ้างเหตุผลในกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวัน กระทำการบุ่มบ่ามด้วยการยิงขีปนาวุธในน่านน้ำที่เป็นเขตเศรษฐกิจของญี่ปุ่น โดยพฤติกรรมการข่มขู่ด้วยกำลังทหารเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ประชาชนชาวไต้หวันและญี่ปุ่น ที่ยึดมั่นในเสรีภาพ ประชาธิปไตย หลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน มิสามารถยอมรับได้ อย่างไรก็ตาม ปธน.ไช่ฯ ก็ได้รับมือต่อวิกฤตข้างต้นด้วยสติอย่างใจเย็น ไม่ตอบกลับความท้าทายจากจีน ซึ่ง Mr. Keiji ขอยอมรับและนับถือด้วยใจจริง
 
Mr. Keiji ชี้ว่า เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ปธน.ไช่ฯ ได้โพสต์ข้อความลงบนทวิตเตอร์ โดยสื่อว่า ไต้หวันจะไม่ยกระดับความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน และประจันหน้ากันกับฝ่ายจีน  โดยในอนาคต ไต้หวันจะเร่งเสริมสร้างความร่วมมือกับสหรัฐฯ และญี่ปุ่น เพื่อร่วมต่อต้านและสกัดกั้นแนวทางของรัฐบาลจีน ที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน
 
Mr. Keiji แสดงความคิดเห็นว่า สถานการณ์ยุทธศาสตร์โลกได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นแล้ว ดังจะเห็นได้จากกรณีตัวอย่างที่สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดียและออสเตรเลีย ร่วมจัดตั้งกลไก “การรวมกลุ่มเจรจาด้านความมั่นคงปลอดภัยระหว่างภาคี 4 ประเทศ” (QUAD) ซึ่งเป็นกลไกการสร้างหลักประกันด้านความมั่นคงในระดับภูมิภาค ส่วนกลุ่มประเทศในยุโรป โดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศส ก็ได้เฝ้าจับตาสถานการณ์ระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด  เชื่อว่า ประเทศที่มีอุดมการณ์ร่วมกันเหล่านี้ จะมุ่งมั่นเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกัน ภายใต้แนวคิดแห่งเสรีภาพและเปิดกว้างต่อไป
 
Mr. Keiji ระบุว่า สาธารณรัฐคิริบาสและหมู่เกาะโซโลมอน ซึ่งเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในพื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ได้ยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันในช่วงปีที่ผ่านมา โดยได้หันไปสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน บางทีอาจเป็นการตัดสินใจเพียงเพราะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลจีนคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ที่ตนจะได้รับด้วยการการปล่อยสินเชื่อเกินอัตราให้แก่ประเทศเหล่านี้ พร้อมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ตนเอง ด้วยการหลอกให้พวกเขาเหล่านั้นเข้าใจว่าได้รับประโยชน์จากความช่วยเหลือจากจีน แต่ในความเป็นจริง ก็เป็นเพียงการวางหลุมพรางของจีนให้เป้าหมายมาติดกับ ต่อกรณีข้างต้นนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นขอแจ้งเตือนกลุ่มประเทศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ร่วมระแวดระวังต่อสถานการณ์ข้างต้นนี้ที่อาจเกิดขึ้นกับตนเอง
 
Mr. Keiji เผยว่า “การประชุมสุดยอดผู้นำประเทศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก” (Pacific Islands Leaders Meeting, PALM) ที่รัฐบาลญี่ปุ่นจัดขึ้น 3 ปีต่อครั้ง ได้มีการจัดขึ้นรวม 9 ครั้งแล้ว ซึ่งครอบคลุมไปในประเด็นการบ่มเพาะบุคลากรสำหรับกลุ่มประเทศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ด้วยการให้ความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องภายใต้การเคารพจุดยืนของประชาชนในประเทศกลุ่มเป้าหมาย โดยการประชุมในสมัยหน้า จะมุ่งเน้นไปที่ประเด็นหลักประกันด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง เป็นต้น เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มประเทศเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม ควบคู่ไปกับการร่วมสร้างความผาสุกให้แก่ประชาชนในพื้นที่
 
Mr. Keiji กล่าวว่า “มหาสมุทรที่สะอาดใส เมื่อประสบกับมลภาวะ ก็ไม่สามารถที่จะกลับสู่สภาพเดิมได้อีก” โดยรัฐบาลญี่ปุ่นจะเคารพจุดยืนของประเทศเป้าหมายในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ส่งมอบความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องให้อย่างต่อเนื่อง Mr. Keiji เชื่อว่า ไต้หวัน – ญี่ปุ่นจะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันต่อไป ภายใต้แนวคิดนี้ เพื่อส่งเสริมให้มหาสมุทรแห่งนี้กลับสู่ความใสสะอาด ซึ่งสอดคล้องกับคำพูดที่อดีตนรม.อาเบะเคยกล่าวไว้ว่า “หากไต้หวันมีปัญหา” ก็เท่ากับว่า “ญี่ปุ่นมีปัญหา” และ “ญี่ปุ่น-สหรัฐฯ ก็มีปัญหาด้วย”
 
Mr. Keiji กล่าวปิดท้ายว่า ไต้หวัน - ญี่ปุ่นเป็น “มิตรแท้ในยามยาก” ซึ่งจะเห็นได้จากการที่หลายปีมานี้ ไต้หวันได้บริจาคหน้ากากอนามัยให้ญี่ปุ่น ส่วนญี่ปุ่นก็ได้บริจาควัคซีนให้ไต้หวัน ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นต้นแบบของการเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างเห็นได้ชัด โดยในอนาคต สมาชิกของ “สหภาพรัฐสภาแบบข้ามพรรคของญี่ปุ่น” จะมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลัง เพื่อให้ความช่วยเหลือและผลักดันความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – ญี่ปุ่น ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์แบบทวิภาคีให้พัฒนาไปสู่ความมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น