ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 23 ส.ค. 65
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 23 ส.ค. ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญใน “โครงการไต้หวันในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก” (Project on Taiwan in Indo-Pacific) ของสถาบัน Hoover Institute มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดของสหรัฐอเมริกา โดยปธน.ไช่ฯ ระบุว่า สงครามปืนใหญ่ที่จินเหมิน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 64 ปีที่แล้ว ได้ประกาศให้ทั่วโลกรับทราบว่าภัยคุกคามใดๆ ก็ไม่สามารถสร้างความสั่นคลอนให้ประชาชนชาวไต้หวันล้มเลิกความมุ่งมั่นตั้งใจในการปกป้องประเทศชาติได้ อดีตเป็นอย่างไร ปัจจุบันก็เป็นเช่นนั้น และจะเป็นแบบนี้เสมอไปแม้ในอนาคต ปธน.ไช่ฯ คาดหวังที่จะเสริมสร้างและผนึกกำลังของพันธมิตรด้านประชาธิปไตย เพื่อร่วมต่อต้านการรุกรานจากประเทศเผด็จการ ตลอดจนจับมือกันรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในพื้นที่ภูมิภาคต่อไป นอกจากนี้ ยังคาดหวังที่จะเห็นไต้หวัน - สหรัฐฯ เสริมสร้างความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างกัน เพื่อสร้างเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประชาชนทั้งสองฝ่ายอย่างยั่งยืน
ปธน.ไช่ฯ ระบุว่า สถาบัน Hoover Institute มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เป็นคลังสมองที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะของสหรัฐฯ และเป็นหลักอ้างอิงในการกำหนดนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังเป็นอีกช่องทางที่นำเสนอความคืบหน้าของสถานการณ์สองฝั่งช่องแคบไต้หวันให้ประชาคมโลกเกิดความเข้าใจโดยทั่วกัน โดยเฉพาะสถาบัน Hoover Institute ได้กำหนดให้ภัยคุกคามจากจีนเป็นประเด็นสำคัญอันดับแรกในการดำเนินการวิจัย และได้กำหนดให้โครงการสำหรับไต้หวัน เข้าเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจของคณะทำงานเฉพาะกิจในโครงการความมั่นคงระดับประเทศ ซึ่งส่งผลให้ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับไต้หวันได้รับความสำคัญและถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นอภิปรายในเชิงกว้าง ซึ่งทำให้ไต้หวันได้รับการยอมรับและการสนับสนุนที่เพิ่มมากขึ้น ปธน.ไช่ฯ ขอแสดงความขอบคุณด้วยใจจริงต่อกลุ่มเจ้าหน้าที่สถาบัน Hoover
Institute
ปธน.ไช่ฯ แถลงว่า กรณีรัสเซียบุกโจมตียูเครนในช่วงที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า อำนาจเผด็จการกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ประชาชนชาวยูเครนกลับฮึดสู้อย่างสุดกำลัง เพื่อปกป้องประเทศที่ตนหวงแหน ซึ่งได้มอบข้อคิดให้ประชาคมโลกได้เห็นว่า “ประชาธิปไตยและเสรีภาพ จำเป็นต้องปกป้องและรักษาด้วยตนเอง”
ปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า พวกเราสามารถก้าวผ่านสงครามปืนใหญ่ที่เกาะจินเหมินเมื่อ 64 ปีก่อนมาได้ อันเนื่องมาจากการผนึกกำลังสามัคคีร่วมกันระหว่างกองทัพและภาคประชาชน จึงเกิดเป็นไต้หวันที่เป็นประชาธิปไตยอย่างทุกวันนี้ โดยสงครามการกอบกู้ประเทศในครั้งนั้น ก็ได้สะท้อนให้ทั่วโลกประจักษ์ว่า ไม่ว่าภัยคุกคามใดๆ ก็ไม่สามารถสร้างความสั่นคลอนให้ประชาชนชาวไต้หวันล้มเลิกความมุ่งมั่นตั้งใจในการปกป้องประเทศชาติได้ อดีตเป็นอย่างไร ปัจจุบันก็เป็นเช่นนั้น และจะเป็นแบบนี้เสมอไปแม้ในอนาคต โดยพวกเราจะพิสูจน์ให้ประชาคมโลกเห็นว่า ประชาชนชาวไต้หวันมีความมุ่งมั่นตั้งใจและความเชื่อมั่นในการรักษาสันติภาพ ความมั่นคง เสรีภาพและความเจริญรุ่งเรืองให้คงอยู่ต่อไป
ปธน.ไช่ฯ ชี้แจงว่า ระยะที่ผ่านมานี้ รัฐบาลจีนได้ทำการซ้อมรบในบริเวณน่านน้ำรอบไต้หวัน ซึ่งกลายเป็นภัยคุกคามอันใหญ่หลวงต่อสถานภาพปัจจุบันของช่องแคบไต้หวันและภูมิภาค โดยกลุ่มประเทศที่ตั้งอยู่รายล้อม และพันธมิตรด้านประชาธิปไตยทั่วโลก ต่างได้แสดงความห่วงใยอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ความท้าทายเหล่านี้ก็เป็นเครื่องเตือนใจให้พวกเราเร่งประสานความสามัคคีระหว่างพันธมิตรด้านประชาธิปไตย เพื่อร่วมต่อต้านและสกัดกั้นการรุกรานของประเทศเผด็จการ ตลอดจนจับมือกันรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคให้คงอยู่สืบไป
ปธน.ไช่ฯ ขอแสดงความขอบคุณกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนําของโลก 7 ชาติ (Group of Seven, G7) ที่สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในสมาชิกด้วย ที่ได้ให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างหนักแน่นบนเวทีนานาชาติ ปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า ไต้หวันตั้งอยู่ในแนวหน้าของการเผชิญหน้ากับการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ โดยพวกเรานอกจากจะมุ่งมั่นในการเสริมสร้างแสนยานุภาพในการป้องกันประเทศด้วยตนเองแล้ว ยังจะเสริมสร้างความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในด้านความมั่นคงด้วยเช่นกัน
ปธน.ไช่ฯ เน้นย้ำว่า เพื่อรับมือกับการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ ไต้หวัน - สหรัฐฯ ยิ่งต้องยืนเคียงข้างในการจัดตั้งระบบห่วงโซ่อุปทานที่มีความั่นคงและยืดหยุ่น ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของพวกเราในปัจจุบัน
ปธน.ไช่ฯ เผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไต้หวัน - สหรัฐฯ ได้ประกาศเปิดการเจรจาทางการค้า ภายใต้ “แผนริเริ่มทางการค้าไต้หวัน - สหรัฐฯ แห่งศตวรรษที่ 21” โดยพวกเราคาดหวังที่จะก้าวสู่ความตกลงทางการค้าระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ที่เปี่ยมด้วยคุณภาพสูง ผ่านกลไกการเจรจาในครั้งนี้ ตลอดจนเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ เชื่อว่าในอนาคต ความร่วมมือในรูปแบบนี้จะสามารถดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้าลงทุนในไต้หวันเพิ่มมากขึ้น และเป็นการสร้างข้อได้เปรียบที่เพิ่มมากขึ้นให้แก่ผู้ประกอบการไต้หวันในการวางรากฐานธุรกิจในสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน โดยความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันเช่นนี้ จะสามารถสร้างเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประชาชนทั้งสองประเทศได้อย่างแน่นอน
พลเรือเอก Admiral James O. Ellis Jr. ซึ่งนำคณะเจ้าหน้าที่สถาบัน Hoover Institute เดินทางมาเยือนไต้หวันในครั้งนี้ กล่าวขณะปราศรัยว่า ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้มีโอกาสเข้าพบคารวะปธน.ไช่ฯ โดยคณะตัวแทนที่เดินทางเยือนไต้หวันในครั้งนี้เป็นบุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะทางจากหลากหลายสาขา ซึ่งครอบคลุมในด้านความมั่นคงแห่งชาติและนโยบายการต่างประเทศของทั้งไต้หวัน จีนและสหรัฐฯ
พล.ร.อ. Ellis เผยว่า คณะตัวแทนต่างรู้สึกเป็นกังวลต่อการที่ไต้หวันและภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกถูกรุกรานในด้านสันติภาพและเสถียรภาพ และเป็นกังวลต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และห่วงโซ่อุปทานด้านอื่นๆ ที่ทั่วโลกพึ่งพาอาศัย ต่างกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านความมั่นคงที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต พล.ร.อ. Ellis มีความเห็นว่า สหรัฐฯ และนานาประเทศทั่วโลกยิ่งต้องให้การสนับสนุนไต้หวัน ในการได้รับสิทธิ์แห่งการคงอยู่อย่างมีตัวตนในฐานะประเทศอำนาจอธิปไตยที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย พร้อมประสานความร่วมมือกับภาคธุรกิจเอกชนของไต้หวันอย่างกระตือรือร้น โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีขั้นสูง ตลอดจนร่วมเสริมสร้างการติดต่อและเชื่อมโยงกับประชาชนชาวไต้หวันที่เปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์และยึดมั่นในเสรีภาพ
พล.ร.อ. Ellis ยังได้ใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลไต้หวัน โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ที่ได้ให้ความช่วยเหลือในการจัดเตรียมวาระกำหนดการเข้าพบกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐและกลุ่มผู้นำอุตสาหกรรมของไต้หวัน ตลอดจนได้จัดให้คณะตัวแทนมีโอกาสเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกพรรคต่างๆ รวมถึงมุมมองจากทุกฝ่าย
หากจะกล่าวถึงความแตกต่างระหว่างระบอบประชาธิปไตยและเผด็จการ ก็อยู่ที่หลักการประชาธิปไตยพร้อมรับฟังเสียงความคิดเห็นจากทั่วทุกสารทิศและยอมรับข้อเท็จจริงประการหนึ่ง ซึ่งก็คือ ไม่มีผู้นำหรือพรรคการเมืองใดๆ ที่สามารถควบคุมและกำหนดข้อเท็จจริง หรือเสแสร้งว่าสิ่งที่เขาเชื่อคือความเป็นจริงทั้งหมดได้
พล.ร.อ. Ellis ระบุว่า วัตถุประสงค์ของการเดินทางมาเยือนของคณะตัวแทนในครั้งนี้ ก็เพื่อรับฟังและร่วมเรียนรู้ ตลอดจนยืนยันคำมั่นที่ประชาชนชาวสหรัฐฯ ให้ไว้ในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ตามเนื้อความที่ระบุไว้ใน “กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน” ความร่วมมือในกฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมไปถึงการเสริมสร้างแสนยานุภาพด้านการป้องกันประเทศของไต้หวัน และเสริมศักยภาพของสหรัฐฯในการยับยั้งและต่อต้านการใช้กำลังอาวุธใดๆ ในพื้นที่ช่องแคบไต้หวัน เฉกเช่นเดียวกับที่ปธน.ไช่ฯ ได้ระบุไว้ในตอนต้นว่า การบรรลุการปกป้องประเทศด้วยตนเอง นอกจากจะต้องมีศักยภาพด้านกลาโหมแล้ว ยังต้องสำแดงให้เห็นถึงการเตรียมพร้อมและความยินยอมสมัครใจอย่างชัดเจน ตลอดจนต้องจับตาเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อรับมือกับการโจมตีในพื้นที่สีเทาและในรูปแบบต่างๆ อาทิ การข่มขู่หรือการเผยแพร่ข่าวปลอม
พล.ร.อ. Ellis ยังได้เน้นย้ำว่า พวกเราจำเป็นต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ของสงครามรัสเซีย - ยูเครน เพื่อทำความเข้าใจต่อแนวทางการสกัดกั้น และผลกระทบที่เกิดจากการไตร่ตรองที่ผิดพลาดของผู้นำประเทศเผด็จการ ตลอดจนต้องทำความเข้าใจในการประยุกต์ใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีขนาดเล็กกว่า แต่มีจำนวนมาก และมีอานุภาพรุนแรงที่สามารถสกัดกั้นได้อย่างเห็นผล ประกอบกับต้องมีความทรหด เพื่อใช้ต่อกรกับผู้ที่เข้ารุกล้ำดินแดนอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ พล.ร.อ. Ellis ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การเดินทางมาเยือนของพวกเราในครั้งนี้ ก็เพื่อสำรวจและผลักดันความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ อาทิ เทคโนโลยีขั้นสูง การผลิต สาธารณสุข การศึกษา พลังงาน สภาพภูมิอากาศ การค้าและการแลกเปลี่ยนด้านอื่นๆ
ท้ายนี้ พลเอก Ellis ยังได้ชี้แจงว่า คณะตัวแทนต่างคาดหวังที่จะรับฟังและเรียนรู้ประสบการณ์จากไต้หวัน และพร้อมประยุกต์ใช้ความรู้ความสามารถที่สั่งสมมา ไตร่ตรองแสวงหาแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับเสนอต่อรัฐบาลสหรัฐฯเพื่อให้ความช่วยเหลือในการรักษาสันติภาพในช่องแคบไต้หวัน รวมถึงเสรีภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ให้คงอยู่สืบไป