ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
กต.ไต้หวันเชิญคณะผู้แทนทางการทูตเยี่ยมชมกิจการในพื้นที่ภาคเหนือของไต้หวัน เพื่อเปิดโอกาสทางธุรกิจในการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบขับเคลื่อนอัจฉริยะ
2022-08-29
New Southbound Policy。กต.ไต้หวันเชิญคณะผู้แทนทางการทูตเยี่ยมชมกิจการในพื้นที่ภาคเหนือของไต้หวัน เพื่อเปิดโอกาสทางธุรกิจในการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบขับเคลื่อนอัจฉริยะ (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
กต.ไต้หวันเชิญคณะผู้แทนทางการทูตเยี่ยมชมกิจการในพื้นที่ภาคเหนือของไต้หวัน เพื่อเปิดโอกาสทางธุรกิจในการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบขับเคลื่อนอัจฉริยะ (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 27 ส.ค. 65

ในระหว่างวันที่ 26 – 27 ส.ค. กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัดกิจกรรมการเข้าเยี่ยมชมกิจการ “อุตสาหกรรมระบบขับเคลื่อนอัจฉริยะ” โดยได้เชิญคณะผู้แทนทางการทูตที่ประจำการอยู่ในไต้หวัน รวม 29 คน พร้อมด้วยนายอวี๋ต้าเหลย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และภริยา เดินทางเยือนนครนิวไทเป นครเถาหยวนและเมืองซินจู๋ เพื่อทำความเข้าใจกับศักยภาพด้านการผลิต “อุตสาหกรรมระบบขับเคลื่อนอัจฉริยะ” ที่เป็นแบรนด์ของไต้หวัน โดยกิจการที่เข้าเยี่ยมชมประกอบด้วย บริษัท Ottobike Group ที่วิจัยและออกแบบมอเตอร์ไฟฟ้า ระบบคอนโทรล และระบบการจัดการแบตเตอรี่ ของรถจักรยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในแถบยุโรป และเตรียมเข้าลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของไต้หวัน และบริษัท Tronetek ที่ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่อิเล็กทรอนิกส์ของระบบขับขี่ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ยานยนต์ (ADAS) ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก และเป็นผู้ประกอบการที่คิดค้นแผนโซลูชันเพื่อการแก้ไขปัญหาให้แก่บริษัท TungThih Electronic Co., Ltd รวมถึงเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ ที่มุ่งมั่นดำเนินการผลักดันอุตสาหกรรมรถบัสพลังงานไฟฟ้ามานานเป็นเวลากว่า 15 ปี กต.ไต้หวันคาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นคณะผู้แทนทางการทูตใช้โอกาสนี้ ในการทำความเข้าใจต่อศักยภาพของแบรนด์ต่างๆ ที่วิจัยและพัฒนาโดยผู้ประกอบการชาวไต้หวัน ซึ่งถูกนำมาใช้สำหรับยานพาหนะตั้งแต่ 2 ล้อไปจนถึง 6 ล้อ รวมไปถึงบทบาทสำคัญของผู้ประกอบการไต้หวัน ในห่วงโซ่อุปทานของยานยนต์พลังงานไฟฟ้าระดับสากล
 
รมช.อวี๋ฯ ได้ขอให้คณะผู้แทนทางการทูตของนานาประเทศที่ประจำอยู่ในไต้หวัน ใช้โอกาสนี้เพื่อให้ความช่วยเหลือในการจับคู่อุตสาหกรรมการผลิตและการบริการที่มีคุณภาพของไต้หวัน กับผู้ประกอบการในต่างประเทศ เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจของไต้หวันที่เปี่ยมด้วยคุณภาพได้รับความสนใจในระดับนานาชาติ โดยรมช.อวี๋ฯ คาดหวังที่จะกระตุ้นโอกาสทางธุรกิจและความร่วมมือในอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการไต้หวันไปสู่ระดับภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก และระดับโลก นอกจากนี้ รมช.อวี๋ฯ ยังคาดหวังที่จะเห็นกลุ่มผู้ประกอบการไต้หวัน เร่งบูรณาการโอกาสทางธุรกิจที่ผสมผสานระหว่างพลังงานสีเขียวและระบบขับเคลื่อนอัจฉริยะ ภายใต้ “แผนยุทธศาสตร์ 6 อุตสาหกรรมหลัก” ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกหลังยุคโควิด – 19 ได้อย่างทันท่วงที เพื่อให้สอดคล้องต่อแนวโน้มการประสานความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมระหว่างประเทศในภายภาคหน้า โดยคณะผู้แทนทางการทูตจากนานาประเทศหลายคน ต่างเห็นว่า ได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีความสอดคล้องต่อทิศทางความร่วมมือแบบทวิภาคี โดยเหล่าผู้แทนต่างคาดหวังว่า กต.ไต้หวันจะร่วมจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในลักษณะเช่นนี้อีกในวาระต่อไป เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจต่อศักยภาพของอุตสาหกรรมไต้หวันได้อย่างใกล้ชิด
 
เพื่อผลักดันและส่งเสริมธุรกิจที่โดดเด่นในพื้นที่ กต.ไต้หวันจึงได้เชิญนายเจิ้งเหวินช่าน ผู้ว่าการนครเถาหยวน นายเกาอันปัง รองผู้ว่าฯ และนายเฉินจี้หยวน เลขาธิการเทศบาลเมืองซินจู๋ ให้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนกับคณะผู้แทนทางการทูตในครั้งนี้ เพื่อชี้แจงถึงเอกลักษณ์การพัฒนาของอุตสาหกรรมในพื้นที่ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจากนานาประเทศประสานความร่วมมือและความเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ นอกจากนี้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อคณะผู้แทนฯ ตัวแทนภาคธุรกิจต่างก็ออกมาให้การต้อนรับคณะผู้แทนฯ ด้วยตนเอง อาทิ นายสวี่หลี่เยี่ยน ผู้ก่อตั้งบริษัท Ottobike Group นายเฉินซิ่นจง ประธานบริษัท TungThih Electronic Co., Ltd และนายหวงเจิ้นเซิง ประธานบริษัท Tronetek  ซึ่งนอกจากจะร่วมอธิบายให้คณะผู้แทน ทำความเข้าใจต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังงานไฟฟ้าของไต้หวันแล้ว ยังได้นำพาคณะผู้แทนทางการทูตและตัวแทนที่เกี่ยวข้องเดินทางเข้าเยี่ยมชมสวนนันทนาการ Sing-Chen BrownSugar ที่ตั้งอยู่ในตำบลเป่าซัน เมืองซินจู๋ โดยมีนางหวังหลิงฟ่ง ประธานคณะกรรมการบริหาร ทำหน้าที่เป็นผู้บรรยายถึงการผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมในชุมชน การฟื้นสภาพพื้นที่ทางการเกษตร การส่งเสริมให้เยาวชนกลับสู่ภูมิลำเนาท้องถิ่น และรูปแบบการบริหารกลไกการดูแลผู้สูงวัย เป็นต้น