กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 15 ก.ย. 65
สหภาพรัฐสภาของกลุ่มพันธมิตรจีน (Inter-Parliamentary Alliance on China, IPAC) ที่เกิดจากการรวมตัวระหว่างสมาชิกรัฐสภายุโรปและสมาชิกรัฐสภาของประเทศใน 5 ทวีปทั่วโลก ได้จัดการประชุมขึ้น ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ในสหรัฐอเมริกา ในระหว่างวันที่ 12 – 14 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยหลังเสร็จสิ้นการประชุม ก็ได้มีการประกาศแถลงการณ์ร่วมในช่วงบ่ายของวันที่ 14 ก.ย. หรือช่วงรุ่งสางของวันที่ 15 ก.ย. ตามเวลาในไต้หวัน เพื่อยืนยันว่า ในอนาคต IPAC จะร่วมธำรงรักษาสันติภาพและเถสียรภาพ รวมถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการค้าของไต้หวัน ผ่านเครือข่ายของ IPAC ที่ครอบคลุมไปยังหน่วยงานสภานิติบัญญัติของนานาประเทศทั่วโลก กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) รู้สึกยินดีและขอบคุณด้วยใจจริง
ในส่วนของเนื้อหาแถลงการณ์ว่าด้วย “การสนับสนุนไต้หวัน” ของ IPAC ได้เริ่มต้นด้วยการประณามรัฐบาลจีนที่เข้ารุกล้ำไต้หวันอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ด้วยการโจมตีทางไซเบอร์และการซ้อมรบในพื้นที่รอบน่านน้ำของไต้หวัน ตลอดจนข่มขู่ไต้หวันด้วยกำลังทางทหาร โดยภัยคุกคามเหล่านี้ไม่สมควรถูกมองข้าม ไต้หวันเป็นประเทศประชาธิปไตยที่รักและหวงแหนสันติภาพ อีกทั้งยังยึดมั่นในค่านิยมด้านเสรีภาพ สิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม โดย IPAC จะร่วมมือกับไต้หวันสกัดกั้นการโจมตีจากจีน ควบคู่ไปกับการธำรงรักษาสันติภาพ และต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมของสองฝั่งช่องแคบไต้หวันในปัจจุบัน ที่เกิดจากความเห็นชอบเพียงฝ่ายเดียว ตลอดจนเรียกร้องให้รัฐบาลนานาประเทศร่วมต่อต้านภัยคุกคามทางเศรษฐกิจและการค้า รวมถึงการข่มขู่ด้วยกำลังทหารของรัฐบาลจีน นอกจากนี้ IPAC ยังจะมุ่งมั่นผลักดันการเดินทางเยือนไต้หวันของสมาชิกรัฐสภา เพื่อยกระดับสถานะของหน่วยงานไต้หวันที่ประจำอยู่ต่างแดน รวมทั้งให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในองค์การระหว่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (INTERPOL) และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ขณะเดียวกัน แถลงการณ์ร่วมยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศร่วมส่งสารให้จีนตระหนักถึงผลที่อาจตามมาหลังการเข้ารุกล้ำไต้หวันด้วยกำลังทหาร อีกทั้งยังระบุถึงการพิจารณาใช้มาตรการคว่ำบาตรในการรับมือกับการยกระดับความรุนแรงทางทหาร ควบคู่ไปกับการประยุกต์ใช้กลไกระหว่างหน่วยงานรัฐบาลในการระงับการบีบบังคับทางเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมให้ความสัมพันธ์ระหว่าง IPAC กับไต้หวันดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนให้การสนับสนุนในการร่วมลงนามความตกลงด้านการค้าและการลงทุนกับไต้หวันในอนาคตต่อไป
IPAC เป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวของรัฐสภายุโรปและรัฐสภาแบบข้ามพรรคจาก 29 ประเทศ ที่ประกอบด้วย สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี เช็กเกีย อิตาลี ออสเตรเลีย เบลเยี่ยม แคนาดา อินเดีย ญี่ปุ่นและลิทัวเนีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้รัฐสภาจากกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ประสานความร่วมมือกันในเชิงลึก ผ่านการร่างกฎหมายในการเรียกร้องให้จีนเคารพต่อกฎระเบียบระหว่างประเทศ และตระหนักถึงความมั่นคงระดับโลก รวมถึงค่านิยมด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งนับตั้งแต่ที่ได้มีการก่อตั้ง IPAC ขึ้นในเดือนมิถุนายนปี 2020 เป็นต้นมา ก็ได้ร่วมให้การสนับสนุนไต้หวันบ่อยครั้งมาโดยตลอด ซึ่งรวมถึง การเป็นกระบอกเสียงให้การสนับสนุนในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – ลิทัวเนีย การเรียกร้องให้ WHO จัดให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) รวมถึงการประชุม กลไกและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องของ WHO นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้ว IPAC ยังได้ติดต่อเชิญให้นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้าร่วมการประชุมสมัชชาที่จัดขึ้นเป็นปีแรก ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยในระหว่างการประชุมรมว.อู๋ฯ ได้เรียกร้องให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตยผนึกกำลังในการปกป้องเสรีภาพและประชาธิปไตย โดยไต้หวันจะประสานความร่วมมือกับ IPAC และพันธมิตรระหว่างประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในสองฝั่งช่องแคบไต้หวันและภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ตลอดจนปกป้องค่านิยมสากลที่กลุ่มประเทศประชาธิปไตยยึดมั่นร่วมกันให้คงอยู่สืบไป