กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 16 ก.ย. 65
เมื่อวันที่ 15 ก.ย. รัฐสภายุโรปได้มีมติเห็นชอบ “ญัตติสถานการณ์สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน” (Resolution on the situation in the Strait of Taiwan) ด้วยคะแนนเสียงข้างมาก โดยเห็นด้วย 424 เสียง ไม่เห็นชอบ 14 เสียง และสละสิทธิ์ 46 เสียง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประณามรัฐบาลจีนที่ทำการซ้อมรบในพื้นที่รอบน่านน้ำของไต้หวัน พร้อมแสดงจุดยืนในการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสถานภาพระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวันในปัจจุบัน ที่เกิดจากความเห็นชอบเพียงฝ่ายเดียว รวมไปถึงการคุกคามไต้หวันด้วยกำลังทหาร พร้อมเน้นย้ำว่า วิถีชีวิตแห่งประชาธิปไตยของไต้หวันควรขึ้นอยู่กับการตัดสินใจร่วมกันของประชาชนชาวไต้หวัน ตลอดจนเรียกร้องให้รัฐบาลจีนเคารพต่อเส้นกึ่งกลางช่องแคบไต้หวัน ด้วยการยุติการรุกล้ำเข้าสู่เขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ของไต้หวัน และการดำเนินแผนปฏิบัติการโจมตีตามกลยุทธ์สงครามสีเทา นอกจากนี้ ยังมีเนื้อความที่ระบุถึงการต่อต้านภัยคุกคามทางเศรษฐกิจที่จีนกระทำต่อกลุ่มเป้าหมายอย่างไต้หวัน กลุ่มประเทศประชาธิปไตยในภูมิภาคและประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ตลอดจนเน้นย้ำถึงการเสริมสร้างการเดินทางเยือนและการแลกเปลี่ยนระหว่างกันในการประชุมแบบทวิภาคีอย่างต่อเนื่อง
ต่อกรณีการซ้อมรบของจีนในพื้นที่น่านน้ำรอบไต้หวันและการยั่วยุทุกรูปแบบจากจีนในระยะนี้ รัฐสภายุโรปได้จัดให้หัวข้อสถานการณ์ความมั่นคงระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน เข้าสู่วาระการประชุมครั้งแรกอย่างเป็นทางการ โดยสมาชิกรัฐสภาต่างร่วมลงมติให้มีการผ่านญัตติอย่างเป็นเอกฉันท์ แสดงให้เห็นว่า สมาชิกรัฐสภายุโรปแบบข้ามพรรคต่างเฝ้าจับตาและแสดงความห่วงใยต่อสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ตลอดจนร่วมประณามการยั่วยุทางทหารของจีน กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) รู้สึกยินดีและขอบคุณด้วยใจจริง
ต่อเนื่องจากเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2021 ที่รัฐสภายุโรปมีการลงมติเห็นชอบ “ญัตติว่าด้วยความร่วมมือและความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างไต้หวัน – EU” ฉบับแรกในประวัติศาสตร์ ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ ในครั้งนี้ รัฐสภายุโรปได้เสนอข้อชี้แนะ 26 ประการ ต่อกรณีที่จีนมีพฤติกรรมยั่วยุทางทหารในช่องแคบไต้หวันและการเสริมสร้างความสัมพันธ์แบบทวิภาคีระหว่างไต้หวัน – EU ซึ่งครอบคลุมไปถึงการเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า วัฒนธรรมและการเมืองระหว่างไต้หวัน – EU ในเชิงลึก รวมไปถึงการร่วมลงนามในความตกลงว่าด้วยความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน พร้อมประสานความร่วมมือด้านการต่อต้านการแพร่กระจายข่าวปลอมอย่างเป็นระบบในเชิงลึก นอกจากนี้ รัฐสภายุโรปยังรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เห็นรัฐบาลลิทัวเนียจัดตั้งสำนักงานตัวแทนทางการค้าในไต้หวัน พร้อมส่งเสริมให้ประเทศสมาชิก EU ที่ยังไม่ได้จัดตั้งสำนักงานตัวแทนในไต้หวัน เร่งฝีเท้าในการดำเนินการจัดตั้งขึ้นโดยเร็ววัน นอกจากนี้ รัฐสภายุโรปยังได้เรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรป เร่งพิจารณาเปลี่ยนชื่อสำนักงานเศรษฐกิจและการค้ายุโรป (European Economic and Trade Office ,EETO) ประจำไต้หวัน พร้อมกระตุ้นให้ EU เร่งเปิดฉากเตรียมการในการเจรจาด้านการลงนามความตกลงทวิภาคีด้านการลงทุน (BIA) ระหว่างไต้หวัน – EUในเร็ววัน ตลอดจนแสดงจุดยืนว่า รัฐสภายุโรปจะยังคงให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมอย่างมีความหมายใน “องค์การอนามัยโลก” (WHO) อย่างหนักแน่นต่อไป
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 13 ก.ย. รัฐสภายุโรปได้จัดการอภิปรายต่อญัตติฉบับนี้ในเบื้องต้น โดย Mr. Josep Borrell รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปและผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของสหภาพยุโรป เน้นย้ำในระหว่างการประชุมว่า EU ควรเร่งเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางความร่วมมือกับไต้หวัน พร้อมแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการรักษาสถานภาพในปัจจุบันระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน นอกจากนี้ สมาชิกรัฐสภาแบบข้ามพรรค 16 คนยังร่วมเป็นกระบอกเสียงกระตุ้นให้ EU ให้การสนับสนุนไต้หวัน ควบคู่กับการเรียกร้องให้จีนยุติการข่มขู่ด้วยกำลังทหาร สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงฉันทามติด้านการสนับสนุนสันติภาพและเสถียรภาพจากหน่วยงานบริหารและหน่วยงานนิติบัญญัติของ EU
“ญัตติสถานการณ์สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน” เป็นญัตติที่เป็นมิตรต่อไต้หวันฉบับที่ 8 ของปีนี้ ที่รัฐสภายุโรปมีลงมติเห็นชอบ ซึ่งนอกจากจะมีสาระสำคัญที่ระบุถึงการแสดงความห่วงใยต่อกรณีที่จีนต้องการทำลายสถานภาพเดิมในปัจจุบันของสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน อีกทั้งยังมีการส่งเสริมให้ไต้หวัน – EU เสริมสร้างการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือในเชิงลึกในประเด็นต่างๆ ในฐานะที่ไต้หวันเป็นประเทศสมาชิกที่มีความรับผิดชอบในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก จะเร่งเสริมสร้างความร่วมมือกับ EU ประเทศสมาชิก EU และกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันต่อไปอย่างกระตือรือร้น เพื่อธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในสองฝั่งช่องแคบไต้หวันและภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ตลอดจนร่วมต่อต้านภัยคุกคามจากอำนาจเผด็จการที่ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศ โดยไต้หวันจะร่วมปกป้องค่านิยมด้านประชาธิปไตย เสรีภาพ หลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนร่วมรักษาความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานกฎกติกาสากลกับนานาประเทศทั่วโลกต่อไป รวมไปถึงการยึดมั่นในเสรีภาพ การเปิดกว้างและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกให้คงอยู่ต่อไป