ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
กต.ไต้หวันขอบคุณกลุ่มพันธมิตรจีนของสมาชิกรัฐสภาข้ามชาติแห่งภูมิภาคยุโรป (IPAC) ที่ร่วมลงนามในหนังสือถึงผู้นำ EU เพื่อเรียกร้องให้ EU เร่งเปิดการเจรจาด้านการลงนามความตกลงทวิภาคีด้านการลงทุนระหว่างไต้หวัน – EU โดยเร็ว
2022-09-23
New Southbound Policy。กต.ไต้หวันขอบคุณกลุ่มพันธมิตรจีนของสมาชิกรัฐสภาข้ามชาติแห่งภูมิภาคยุโรป (IPAC) ที่ร่วมลงนามในหนังสือถึงผู้นำ EU เพื่อเรียกร้องให้ EU เร่งเปิดการเจรจาด้านการลงนามความตกลงทวิภาคีด้านการลงทุนระหว่างไต้หวัน – EU โดยเร็ว (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
กต.ไต้หวันขอบคุณกลุ่มพันธมิตรจีนของสมาชิกรัฐสภาข้ามชาติแห่งภูมิภาคยุโรป (IPAC) ที่ร่วมลงนามในหนังสือถึงผู้นำ EU เพื่อเรียกร้องให้ EU เร่งเปิดการเจรจาด้านการลงนามความตกลงทวิภาคีด้านการลงทุนระหว่างไต้หวัน – EU โดยเร็ว (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 22 ก.ย. 65
 
เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา กลุ่มพันธมิตรจีนของสมาชิกรัฐสภาข้ามชาติแห่งภูมิภาคยุโรป (Inter-Parliamentary Alliance on China, IPAC) รวม 30 คน ได้ร่วมกันลงนามในหนังสือที่ยื่นต่อ Ms. Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป Mr. Charles Michel ประธานคณะมนตรียุโรป Mr. Valdis Dombrovskis รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปและคณะกรรมาธิการยุโรปด้านการค้าระหว่างประเทศ และ Mr. Josep Borrell ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง เพื่อเรียกร้องให้สหภาพยุโรป (EU) เร่งเปิดการเจรจาด้านการลงนามความตกลงทวิภาคีด้านการลงทุนระหว่างไต้หวัน – EU (EU-Taiwan Bilateral Investment Agreement , BIA) โดยเร็ว เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจและการค้าแบบทวิภาคีระหว่างกันอย่างครอบคลุม กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) รู้สึกยินดีและขอบคุณ IPAC ด้วยใจจริง ที่ได้ให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างเป็นรูปธรรมเสมอมา
 
สาระสำคัญในหนังสือเรียกร้องระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – EU มีเสถียรภาพและมีความสำคัญเสมอมาอย่างเวลายาวนาน จึงบังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากความร่วมมือนานาประการ โดยช่วงเวลานี้น่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมแก่การสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจแบบครอบคลุมทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้าง โดยพลังสดใสแห่งประชาธิปไตยและการพัฒนาทางเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง มีส่วนช่วยในการธำรงรักษาความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนกฎกติกาสากล ท่ามกลางสถานการณ์ระหว่างประเทศที่อัดแน่นไปด้วยความขัดแย้งดังเช่นในปัจจุบัน
 
 นอกจากนี้ เนื้อหาในหนังสือยังย้ำว่า ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนสำคัญและเป็นพันธมิตรด้านประชาธิปไตยของ EU ในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ส่วน EU เป็นแหล่งที่มาของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ( FDI ) ที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน ซึ่งไต้หวันก็มีศักยภาพในการเข้าลงทุนใน EU เช่นกัน การเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายแล้ว ยังมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในเชิงภูมิเศรษฐศาสตร์อีกด้วย นอกจากนี้ หนังสือเรียกร้องยังได้ระบุอีกว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่จีนสร้างแรงกดดันท้าทายต่อไต้หวัน ควบคู่กับการขยายฐานทัพในพื้นที่โดยรอบ ไต้หวันและEUจึงสมควรที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางความร่วมมือเชิงหุ้นส่วนแบบทวิภาคีในเชิงลึก ด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบทวิภาคี มิตรภาพด้านประชาธิปไตย และการรักษาความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนกฎกติกาสากล
 
IPAC เป็นกลุ่มพันธมิตรด้านประชาธิปไตยที่เกิดจากการรวมตัวระหว่างสมาชิกรัฐสภายุโรปและสมาชิกรัฐสภาของประเทศใน 5 ทวีปทั่วโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสมาชิกรัฐสภาที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ซึ่งเปี่ยมด้วยอิทธิพลในระดับนานาชาติ โดยนับตั้งแต่ที่ IPAC จัดตั้งขึ้นในเดือนมิถุนายน ปี 2020 เป็นต้นมา ก็ได้ให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างหนักแน่นด้วยวิธีการที่เป็นรูปธรรมอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งรวมถึง การเป็นกระบอกเสียงให้การสนับสนุนในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – ลิทัวเนีย การเรียกร้องให้ WHO จัดให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้ว IPAC ยังได้ติดต่อเชิญให้นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้าร่วมการประชุมสมัชชา IPAC ที่จัดขึ้นเป็นปีแรก ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งในที่ประชุมได้มีการเรียกร้องให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตย ประสานความสามัคคีในการปกป้องกลไกระบบประชาธิปไตยและเสรีภาพทั่วโลก นอกจากนี้ IPAC ยังได้ประกาศแถลงการณ์หลังเสร็จสิ้นการประชุมสมัชชาครั้งที่  2 ที่จัดขึ้น ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ในช่วงระหว่างวันที่ 12 – 14 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยประกาศว่า ในอนาคต IPAC จะร่วมธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพ รวมถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการค้าของไต้หวัน ผ่านเครือข่ายของ IPAC ที่ครอบคลุมไปยังหน่วยงานสภานิติบัญญัติของนานาประเทศทั่วโลก โดยหลังจากนั้นภายใน 1 สัปดาห์ สมาชิกรัฐสภา IPAC ในกลุ่มประเทศภูมิภาคยุโรป ก็ได้ร่วมลงนามส่งหนังสือเรียกร้องส่งถึงผู้นำ EU เพื่อให้การสนับสนุนไต้หวัน อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงมิตรภาพที่มีต่อไต้หวันจากใจจริง โดยไต้หวันจะประสานความร่วมมืออย่างสามัคคีและขยายการแลกเปลี่ยนในด้านต่างๆ กับหุ้นส่วนที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันต่อไป ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นของทั้งสองฝ่ายในด้านต่างๆ อาทิ เศรษฐกิจ การเมือง สังคมและความมั่นคง เป็นต้น เพื่อสกัดกั้นภัยคุกคามลูกผสม ที่เกิดจากการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ ตลอดจนเพื่อปกป้องค่านิยมด้านเสรีภาพและประชาธิปไตยที่ประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกยึดมั่นร่วมกัน ให้คงอยู่สืบต่อไป