คณะกรรมการกิจการชนพื้นเมือง วันที่ 24 ก.ย. 65
คณะกรรมการกิจการชนพื้นเมือง สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) สืบสานแนวคิดของมหกรรมอาหารเลิศรสไต้หวันในปีนี้ ภายใต้สโลแกน “วัตถุดิบทางธรรมชาติ” และ “จากแหล่งผลิตสู่โต๊ะอาหาร” โดยจัดให้มี “รถประชาสัมพันธ์อาหารชนพื้นเมือง” ขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย. ไปจนถึงปลายเดือนตุลาคม โดยช่องทางการประชาสัมพันธ์ข้างต้นจะขับเคลื่อนไปสู่ 4 เมืองของไต้หวัน โดยมี Mr. KU SANG LUFANIYAO หัวหน้าเชฟชนเผ่าพื้นเมืองเป็นผู้ออกแบบและจัดเตรียมเมนูอาหาร ซึ่งเมนูอาหารมีให้เลือก 2 แบบ ได้แก่ “อาหารกล่องที่ผ่านการคัดสรรวัตถุดิบจากธรรมชาติ” และ “เบเกิลที่ทำจากข้าวในแหล่งผลิตของชนพื้นเมืองไต้หวัน”
โดยกลุ่มชนพื้นเมืองได้แผ่ขยายกิ่งก้านสาขาของแบรนด์สินค้า รุกขยายเข้าสู่กลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย ผ่านช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลาย ตั้งแต่การก้าวสู่ลำดับขั้นที่ 1 2 3 มาจนถึงการนำเข้าสู่กระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม และการสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย “อาหารกล่องที่ผ่านการคัดสรรวัตถุดิบจากธรรมชาติ” นำเสนอให้เห็นถึงเอกลักษณ์ที่ผสมผสานระหว่างผักป่า เนื้อสัตว์ป่าและแหล่งธรรมชาติ ซึ่งนอกจากจะคงไว้ซึ่งรสชาติและคุณค่าทางโภชนาการจากวัตถุดิบทางธรรมชาติแล้ว เชฟ KU SANG ยังพยายามลดความรู้สึกห่างเหินของผู้คนที่มีต่อผักป่าและเนื้อสัตว์ป่า โดยเชฟได้ปรุงแต่งให้สอดคล้องกับความชอบของประชาชนในเมือง เพื่อให้ประชาชนได้รับประทานอาหารที่ทั้งอร่อย ถูกสุขลักษณะและรสชาติแปลกใหม่ โดยคกก. กิจการชนพื้นเมือง คาดหวังที่จะสรรค์สร้างวัฒนธรรมอาหารอันเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชนพื้นเมือง ผ่าน “รถประชาสัมพันธ์อาหารชนพื้นเมือง” ในครั้งนี้
วัตถุดิบอาหารที่จัดเรียงในกล่องอาหารต่างช่วยเติมเต็มซึ่งกันและกัน ซึ่งเราจะสามารถสังเกตเห็นถึงภูมิปัญญาทางอาหารของกลุ่มชนพื้นเมือง และวัตถุดิบที่หาได้ตามธรรมชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวัฏจักรที่ดีงามระหว่างกลุ่มชนพื้นเมืองและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยแนวคิดการออกแบบรถประชาสัมพันธ์ในครั้งนี้คือการนำวัตถุดิบอาหารที่เปี่ยมด้วยเอกลักษณ์ของผู้ประกอบการ ผสมผสานเข้าไว้ในเมนูอาหาร ซึ่งนอกจากจะส่งผ่านรสชาติที่มีทั้งเปรี้ยว หวาน ขม เผ็ด แบบไม่แย่งซีนกันแล้ว ยังได้มีการออกแบบภาพลักษณ์ของรถประชาสัมพันธ์ให้ดูมีความสอดคล้องกับแนวคิดหลัก ซึ่งภารกิจนี้ค่อนข้างมีความท้าทายและเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ แต่สามารถผลักดันวัตถุดิบอาหารที่ผลิตโดยกลุ่มชนพื้นเมืองในรูปแบบที่ต่างออกไป เพื่อส่งเสริมให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มประชาชน ให้ได้มีโอกาสลิ้มลองรสชาติ อันจะนำไปสู่การส่งเสริมการจำหน่ายต่อไป