กระทรวงพัฒนาดิจิทัล วันที่ 28 ก.ย. 65
สถาบัน IMD (International Institute for Management Development) แห่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้ประกาศผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของ IMD ปี 2022 (IMD World Digital Competitiveness Ranking 2022, DCR) เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ผลการจัดอันดับในปีนี้ระบุว่า ไต้หวันครองอันดับที่ 11 จากทั้งหมด 63 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งเป็นอันดับที่ดีที่สุดที่เคยได้รับ โดยการจัดอันดับในครั้งนี้ ไต้หวันมีดัชนีย่อย 8 ประการที่ติด 3 อันดับแรกของโลก นอกจากนี้ ในด้าน “ศักยภาพของรัฐบาลในการรับมือต่อความมั่นคงทางไซเบอร์” ที่จัดเพิ่มเข้ามาในปีนี้ ก็ได้ขึ้นครองอันดับ 9 เป็นครั้งแรก
1. ดัชนีย่อย 8 ประการที่ติด 3 อันดับแรกของโลก
ในจำนวนทั้งหมดนี้ “จำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ” “จำนวนผู้ลงทะเบียนใช้บริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่” และ “การลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อมวลชนที่มีสัดส่วนใน GDP” ครองอันดับ 1 ของโลก รองลงมาคือ “การประยุกต์ใช้และวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้าทางธุรกิจ” ติดอันดับ 2 ของโลก ส่วนในด้าน “ผลสัมฤทธิ์ทางการอุดมศึกษา” “รายจ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาของอัตราส่วนรายจ่ายทั้งหมด” “ยอดการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง” และ “ความคล่องตัวทางธุรกิจ” รั้งท้ายอยู่ที่อันดับ 3 ของโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากความมุ่งมั่นพยายามในด้านโครงสร้างพื้นฐานและการประยุกต์ใช้ผลงานวิจัยและพัฒนา ในระหว่างการผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลของไต้หวัน
2. ผลการจัดอันดับด้านทักษะความรู้ เทคโนโลยีและการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต
สถาบัน IMD ได้ใช้เกณฑ์การพิจารณาทั้งหมด 3 หมวด ที่ประกอบด้วยดัชนีชี้วัด 9 ประการหลัก 54 รายการย่อย ในการประเมินศักยภาพและความพร้อมในการปรับตัว การแสวงหา และการประยุกต์ใช้ “การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล” อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเกณฑ์การพิจารณาทั้งหมด 3 ประการหลักนั้น ประกอบด้วย ความรู้ (Knowledge) เทคโนโลยี (Technology) และความพร้อมสำหรับอนาคต (Future Readiness)
(1) หมวด “ความรู้” โดยดัชนีรายการย่อยหลายประการต่างก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้น อาทิ “จำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ” ยังคงครองอันดับ 1 ของโลก “ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาขั้นสูง” และ “รายจ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาของอัตราส่วนรายจ่ายทั้งหมด” ก็ยังคงรักษาอันดับที่ 3 ไว้ได้อย่างคงมั่น แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไต้หวันได้ทุ่มงบประมาณในด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษา และบ่มเพาะบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา อย่างกระตือรือร้น สำหรับ “สัดส่วนอาจารย์ - นิสิตในสถาบันอุดมศึกษา” และ “ศักยภาพการผลิตผลงานวิจัยและพัฒนา” ต่างก็ขยับสูงขึ้น 3 อันดับจากในปี 2021
(2) หมวด “เทคโนโลยี” มุ่งเน้นในการประเมินความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศ ซึ่งไต้หวันครองอันดับที่ 6 ของโลก โดยในจำนวนนี้ “การลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อมวลชนที่มีสัดส่วนใน GDP” และ “จำนวนผู้ลงทะเบียนใช้บริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่” ต่างครองอันดับที่ 1 ของโลก ส่วนดัชนีรายการย่อยหลายประการต่างก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้นเช่นกัน อาทิ “การวิจัยและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี” “ กฎระเบียบด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์” “ทรัพย์สินทางปัญญา” “กองทุนการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์” “ขอบเขตการสนับสนุนกิจกรรมเชิงพาณิชย์จากธนาคารและสถาบันการเงิน” “ผลการประเมินความน่าเชื่อถือของประเทศ” “เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร” “ยอดการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง”
(3) หมวด “ความพร้อมสำหรับอนาคต” มุ่งเน้นในการประเมินระดับของการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล ซึ่งไต้หวันครองอันดับที่ 8 ของโลก โดยในจำนวนนี้ “การประยุกต์ใช้และวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้าทางธุรกิจ” อยู่ที่อันดับ 2 ส่วน “ความคล่องตัวทางธุรกิจ” อยู่ที่อันดับ 3 ส่วน “การค้าปลีกผ่านช่องทางออนไลน์” “การประยุกต์ใช้และวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้าทางธุรกิจ” “ระดับการพัฒนาทางความร่วมมือในการถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาควิชาการ” “ความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน” ต่างก็มีการไต่อันดับดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลของไต้หวัน บังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่เด่นชัดเพิ่มมากขึ้น โดยในปีนี้ได้มีการจัดเพิ่ม “ศักยภาพของรัฐบาลในการรับมือต่อความมั่นคงทางไซเบอร์” เข้าสู่หมวด “ความพร้อมสำหรับอนาคต” ซึ่งได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 9 เป็นครั้งแรก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อประเด็นมั่นคงทางไซเบอร์ อันเนื่องมาจากสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งช่องแคบของไต้หวัน ซึ่งมาตรการที่เป็นรูปธรรมที่ผลักดันโดยรัฐบาล ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจต่อศักยภาพด้านการป้องกันความมั่นคงทางไซเบอร์ของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ กระทรวงพัฒนาดิจิทัล แถลงว่า รัฐบาลไต้หวันจะอ้างอิงรายงานผลการจัดอันดับของ IMD ในการประเมินและวิเคราะห์หาจุดแข็งและความท้าทายของกระทรวงฯ เพื่อประกอบการพิจารณาวางแผนนโยบายพัฒนาประเทศต่อไป โดยในอนาคต ทางกระทรวงฯ จะเร่งผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลของประเทศต่อไป โดยประยุกต์ใช้แนวคิดใหม่ เทคโนโลยีใหม่ ในการยกระดับขีดความสามารถในการดำเนินงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเสริมสร้างพลังดิจิทัลอันไร้ขีดจำกัดให้กับไต้หวันต่อไป