ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
กต.ไต้หวันขอบคุณประชาคมโลกที่ให้การสนับสนุนต่อแผนผลักดันเข้าร่วม UN ของไต้หวันอย่างหนักแน่น ท่ามกลางสถานการณ์ที่จีนเร่งสร้างแรงกดดันด้วยกำลังทหารอย่างรุนแรง
2022-09-28
New Southbound Policy。กต.ไต้หวันขอบคุณประชาคมโลกที่ให้การสนับสนุนต่อแผนผลักดันเข้าร่วม UN ของไต้หวันอย่างหนักแน่น ท่ามกลางสถานการณ์ที่จีนเร่งสร้างแรงกดดันด้วยกำลังทหารอย่างรุนแรง (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
กต.ไต้หวันขอบคุณประชาคมโลกที่ให้การสนับสนุนต่อแผนผลักดันเข้าร่วม UN ของไต้หวันอย่างหนักแน่น ท่ามกลางสถานการณ์ที่จีนเร่งสร้างแรงกดดันด้วยกำลังทหารอย่างรุนแรง (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 27 ก.ย. 65
 
ท่ามกลางสถานการณ์ที่รัฐบาลจีนเพิ่มความถี่และความรุนแรงในการข่มขู่ไต้หวันด้วยกำลังทหาร ซึ่งส่งผลกระทบต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอย่างรุนแรง ในปีนี้ รัฐบาลสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ก็ยังคงยื่นเสนอแผนผลักดันเข้าร่วมในระบบสหประชาชาติ (UN) อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งผ่านความคาดหวังของประชาชนชาวไต้หวันจำนวน 23 ล้านคนที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมในระบบ UN โดยได้แสวงหาพลังเสียงสนับสนุน ความเห็นพ้อง และการให้ความสำคัญต่อแผนผลักดันของไต้หวันจากประชาคมโลก กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ขอบคุณประเทศพันธมิตรและมิตรประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ที่ได้ให้การสนับสนุนไต้หวันผ่านช่องทางและวิธีการต่างๆ ในระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 77 (UNGA 77) นอกจากนี้ ประชาคมโลกยังได้ตอบสนองแผนผลักดันว่าด้วยการต่อต้านการข่มขู่ด้วยกำลังทหารที่ไต้หวันยื่นเสนออย่างกระตือรือร้น ตลอดจนเรียกร้องให้นานาประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญต่อสันติภาพและเสถียรภาพในสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน รวมไปถึงการยอมรับต่อคุณประโยชน์ที่ไต้หวันได้อุทิศให้แก่ประชาคมโลก
 
ในระหว่างการอภิปรายทั่วไป (General Debate) ของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติในครั้งนี้ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 – 26 ก.ย. บรรดาผู้นำประเทศพันธมิตรของไต้หวัน รวม 11 คน ประกอบด้วย ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐปารากวัย ประธานาธิบดีสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ ประธานาธิบดีสาธารณรัฐกัวเตมาลา สมเด็จพระราชาธิบดีอึมสวาตีที่ 3 แห่งเอสวาตินี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสาธารณรัฐปาเลา นายกรัฐมนตรีเซนต์ลูเซีย นายกรัฐมนตรีเซนต์คิตส์และเนวิส นายกรัฐมนตรีเบลีซ นายกรัฐมนตรีตูวาลู นายกรัฐมนตรีเซนต์วินเซนต์ และ ผู้แทนถาวรของนาอูรูประจำสหประชาชาติ ต่างทยอยเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันในเวทีการอภิปรายทั่วไป พร้อมทั้งแสดงความห่วงใยในประเด็นสันติภาพและเสถียรภาพในสองฝั่งช่องแคบไต้หวันและภูมิภาค อีกทั้งยังเรียกร้องให้ UN ไม่ควรหยิบยกญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 มาใช้เป็นข้ออ้างในการปฏิเสธแผนผลักดันเข้าร่วมอย่างมีความหมายของไต้หวัน โดยไต้หวันมีศักยภาพในการเพิ่มพูนคุณประโยชน์เพื่อบรรลุเป้าหมาย “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” (SDGs) UN จึงควรพิจารณาให้ไต้หวันเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งโดยเร็ววัน
 
นอกจากนี้ กลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ต่างก็ทยอยแสดงความห่วงใยสถานการณ์ล่าสุดในสองฝั่งช่องแคบไต้หวันอย่างต่อเนื่อง ประธานาธิบดีโจ ไบเดน (Joe Biden) ผู้นำสหรัฐฯ Mr. Jan Lipavsky รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐเช็ก และ Mr. Charles Michel ประธานคณะมนตรียุโรป ต่างเน้นย้ำในระหว่างการอภิปรายทั่วไปว่า พร้อมที่จะให้การสนับสนุนสันติภาพและเสถียรภาพในสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ควบคู่ไปกับการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมของสองฝั่งช่องแคบไต้หวันที่เกิดจากการเห็นชอบเพียงฝ่ายเดียว โดยในระหว่างการประชุม UNGA 77 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนําของโลก 7 ชาติ (Group of Seven, G7) และผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรป (EU) ต่างได้ประกาศแถลงการณ์ร่วม โดยยืนยันถึงความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน เรียกร้องให้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งของสองฝั่งช่องแคบไต้หวันด้วยสันติวิธี นอกจากนี้ ทั้งรัฐบาลสหรัฐฯ อังกฤษ ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและเยอรมนี ต่างก็เฝ้าจับตาสถานการณ์ล่าสุดของสองฝั่งช่องแคบไต้หวันอย่างใกล้ชิด ผ่านการจัดการประชุมนอกรอบกับตัวแทนประเทศอื่นๆ การให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน และการประกาศรายงานแห่งชาติ เป็นต้น
 
หน่วยงานด้านนิติบัญญัติของนานาประเทศก็ได้ทยอยเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันด้วยเช่นกัน โดยสมาชิกรัฐสภาจากสหรัฐฯ แคนาดา ฮอนดูรัส โคลอมเบีย อาร์เจนตินาและแอฟริกาใต้ ต่างให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศ ด้วยวิธีการอันหลากหลาย อาทิ การลงมติผ่านร่างกฎหมายที่เป็นมิตรต่อไต้หวัน การประกาศแถลงการณ์ร่วม การโพสต์ข้อความลงบนสื่อโซเชียล และการส่งจดหมายถึงเลขาธิการ UN เป็นต้น นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา รัฐสภายุโรปยังได้ร่วมลงมติผ่าน “ญัตติสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน” เพื่อให้การสนับสนุนสันติภาพในสองฝั่งช่องแคบไต้หวันและภูมิภาค พร้อมต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในปัจจุบันที่เกิดจากความเห็นชอบเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อีกทั้งสมาชิกรัฐสภาจาก 28 ประเทศ ซึ่งเป็นสมาชิกสโมสรฟอร์โมซาในภูมิภาคยุโรป รวมถึงกลุ่มพันธมิตรจีนของสมาชิกรัฐสภาข้ามชาติแห่งภูมิภาคยุโรป (Inter-Parliamentary Alliance on China, IPAC) ที่เกิดจากการรวมตัวของสมาชิกรัฐสภา 29 ประเทศ ต่างก็ได้ทยอยประกาศแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ เพื่อร่วมประณามพฤติกรรมความท้าทายด้วยกำลังทหารของจีน พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน
 
โดยแผนผลักดันเข้าร่วม UN ของไต้หวันได้ถูกเผยแพร่สู่สายตาประชาคมโลก ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์และสื่อรูปแบบใหม่ โดยนายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ก็ได้เผยแพร่บทความพิเศษ เพื่อเน้นย้ำว่า ไต้หวันจะไม่ยกระดับความขัดแย้งและจะไม่ก่อประเด็นพิพาทใดๆ ในระหว่างการธำรงรักษาอำนาจอธิปไตยของตนเอง พร้อมเรียกร้องให้ UN ยุติการยอมจำนนต่อแรงกดดันจากจีนที่กล่าวอ้างญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 โดยไต้หวันยินดีที่จะอุทิศคุณประโยชน์ให้แก่ประชาคมโลก ร่วมก้าวผ่านวิกฤตนานาประการไปด้วยกัน โดยบทความของรมว.อู๋ฯ ได้รับการตีพิมพ์จากสื่อนานาชาติกว่า 202 บทความ ประกอบกับวิดีทัศน์สั้น ภายใต้ชื่อ “มือแห่งความเอื้ออาทรของไต้หวัน” (Taiwan’s helping hand) ยังเน้นย้ำให้เห็นว่า ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนที่จะร่วมบรรลุเป้าหมาย SDGs ทั่วโลกไม่สามารถขาดได้ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลามในโลกออนไลน์ ตราบจนปัจจุบัน มียอดผู้เข้าชมรวม 10.23 ล้านครั้ง นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ภาครัฐไต้หวันยังได้จัดทำป้ายโฆษณาภาพเคลื่อนไหวขนาดยักษ์ ภายใต้ธีม “Give Taiwan a voice : a voice for good” ณ บริเวณจัตุรัสไทม์สแควร์ที่ตั้งอยู่ใจกลางนครนิวยอร์ก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดึงดูดสายตาประชาคมโลกด้วยภาพลักษณ์ของไต้หวัน อันจะนำมาซึ่งความเข้าใจและพลังเสียงสนับสนุนที่เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้นจากประชาคมโลก
 
เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้รับเชิญให้เข้าร่วมแสดงปาฐกถาในการประชุมสุดยอด Concordia ประจำปี 2022 (2022 Concordia Annual Summit) ผ่านการบันทึกวีดิทัศน์ล่วงหน้า ซึ่งเป็นองค์การนอกภาครัฐที่มีชื่อเสียงในนครนิวยอร์ก โดยปธน.ไช่ฯ ได้เน้นย้ำ “การปกป้องประชาธิปไตยของไต้หวัน มีความสำคัญต่อหลักประกันด้านเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนในกลุ่มประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก” โดยปธน.ไช่ฯ ได้เรียกร้องให้ทุกประเทศประสานความสามัคคี ในการสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ และเปิดโอกาสให้ไต้หวันเข้าร่วมในระบบ UN
 
เพื่อแสดงให้เห็นว่าไต้หวันมีศักยภาพและยินดีที่จะสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประชาคมโลก ไต้หวันจึงได้จัดกิจกรรมในประเด็นที่เกี่ยวข้องขึ้นหลายรายการ มุ่งเน้นประเด็นด้านสันติภาพ นวัตกรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ UN ให้ความสำคัญ โดยนายไช่หงเต๋อ รองประธานคณะกรรมการกิจการการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งชาติ ภายใต้การกำกับดูแลของสภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ประกาศ “รายงานแห่งชาติฉบับที่ 2 ว่าด้วยการพิจารณาประเมินสถานการณ์การพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยตนเอง” (VNR) นอกจากนี้ ออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาดิจิทัล และนายหวงเชียนจื้อ ผู้ก่อตั้งบริษัท “Miniwiz” ที่ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้านนวัตกรรมในระหว่างการประชุมสุดยอด Concordia เพื่อแสดงให้เห็นว่า ไต้หวันมีความสามารถและยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือในการสร้างความผาสุกให้แก่มวลมนุษยชาติที่ผลักดันโดย UN
 
กต.ไต้หวันขอขอบคุณประเทศพันธมิตรและมิตรประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันอีกครั้ง สำหรับพลังเสียงสนับสนุนไต้หวันในการเข้าร่วมองค์กรต่างๆของ UN อย่างหนักแน่น รวมถึงมาตรการให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรมนานาประการ ในฐานะที่ไต้หวันเป็นหนึ่งในสมาชิกประชาคมโลกที่มีความรับผิดชอบ ไต้หวันจะเสริมสร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศประชาธิปไตย เพื่อสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ พร้อมมุ่งมั่นรักษาความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎกติกาสากล โดยไต้หวันจะยังคงยึดมั่นในหลักการของ “ความเป็นมืออาชีพ ปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม สร้างคุณประโยชน์” ในการเร่งผลักดันการเข้าร่วม UN อย่างกระตือรือร้นและต่อเนื่องต่อไป เพื่อสำแดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและประชาคมโลก ตลอดจนส่งเสริมให้ทั่วโลกประจักษ์ถึงคุณค่าที่แท้จริงของไต้หวัน