ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 5 ต.ค. 65
เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 5 ต.ค. ตามเวลาในเขตตะวันออกของสหรัฐฯ ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ตอบรับคำเชิญของ “สถาบันวิจัยไต้หวันระดับโลก” (Global Taiwan Institute, GTI) คลังสมองของสหรัฐฯ ที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เข้าร่วมแสดงปาฐกถาผ่านการบันทึกวีดิทัศน์ ในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาประจำปี ภายใต้หัวข้อ “ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ - ไต้หวัน : ส่งเสริมความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศภายใต้พื้นฐานของกฎระเบียบ”
ปธน.ไช่ฯ ระบุว่า ตลอดระยะที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ทำการซ้อมรบในพื้นที่รอบน่านน้ำของไต้หวัน และประยุกต์ใช้กลยุทธ์พื้นที่สีเทา เพื่อต้องการทำลายสถานภาพเดิมของสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน และเพื่อรุกล้ำสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก การที่ทั่วโลกประสานความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียว ก็เพื่อสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ ปกป้องประชาธิปไตย และรับมือกับความท้าทายที่ต้องเผชิญร่วมกัน
ตราบจนปัจจุบัน ไต้หวันก็ยังไม่ได้รับโอกาสให้เข้ามีส่วนร่วมในหน่วยงานเฉพาะทางภายใต้ระบบสหประชาชาติ ซึ่งทำให้ไต้หวันไม่สามารถแบ่งปันความรู้ความเชี่ยวชาญในประเด็นสำคัญระดับโลกเพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาคมโลกได้ โดยปธน.ไช่ฯ ขอเรียกร้องให้ทั่วโลกตระหนักว่า ประชาชนชาวไต้หวันก็เหมือนทุกคนบนโลกใบนี้ที่สมควรได้รับโอกาสเสนอความคิดเห็นและสร้างคุณประโยชน์ให้ทั่วโลก เชื่อว่า การที่ไต้หวันเข้าร่วมในระบบ UN จะสามารถมีส่วนช่วยในการสร้างความผาสุกให้เกิดแก่มวลมนุษยชาติต่อไป
ปธน.ไช่ฯ เน้นย้ำว่า ไต้หวันจะเร่งเสริมสร้างความร่วมมือเชิงหุ้นส่วนกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองระหว่างประเทศ พร้อมทั้งเป็นการสร้างหลักประกันด้านความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานที่มีบทบาทสำคัญระดับโลก ตลอดจนเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ ปธน.ไช่ฯ คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หลังจากที่ไต้หวันเปิดประเทศแล้ว จะสามารถเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนกับหุ้นส่วนทางความร่วมมือในสหรัฐฯและนานาประเทศทั่วโลกอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อร่วมรักษาเสรีภาพและประชาธิปไตยให้คงอยู่ต่อไป
การกล่าวปราศรัยของปธน.ไช่ฯ มีสาระสำคัญ ดังนี้
ท่ามกลางสถานการณ์ที่ความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎกติกาสากล เผชิญหน้ากับความท้าทายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน จากสถานการณ์ที่รัสเซียบุกโจมตียูเครน สะท้อนให้เห็นถึงภัยคุกคามอย่างรุนแรงที่เกิดจากประเทศระบอบเผด็จการ และด้วยการแผ่ขยายอิทธิพลของลัทธิอำนาจนิยมอย่างไม่สิ้นสุด ส่งผลให้กลุ่มประเทศในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ
ระยะนี้ รัฐบาลจีนยังคงดำเนินการซ้อมรบทางทหาร ประยุกต์ใช้กลยุทธ์พื้นที่สีเทา พร้อมทั้งจัดส่งเรือรบ กำลังพล และอากาศยานไร้คนขับ เข้ารุกล้ำในพื้นที่รอบน่านน้ำของไต้หวัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการทำลายสถานภาพเดิมของสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน โดยพฤติกรรมที่ขาดความรับผิดชอบเหล่านี้ ถือเป็นการรุกรานอธิปไตยของไต้หวัน และเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและเสถียรภาพในพื้นที่ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในน่านน้ำและน่านฟ้า รวมถึงการค้าระหว่างประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการทำลายกฎระเบียบด้านกฎหมายระหว่างประเทศ
ถึงกระนั้นก็ตาม ไต้หวันทราบดีว่า เราไม่ได้สู้เพียงลำพัง พวกเรารู้สึกขอบคุณรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่มาจากการเลือกตั้งโดยภาคประชาชนของสหรัฐฯ ที่ให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างเต็มกำลัง รวมไปถึงกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนําของโลก 7 ชาติ (Group of Seven, G7) และพันธมิตรที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เพื่อร่วมประณามพฤติกรรมความท้าทายทางทหารของจีน
โดยปธน.ไช่ฯ ยังได้ใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ และสมาชิกรัฐสภาแบบข้ามพรรค ที่ได้บรรลุคำมั่นด้านความมั่นคงของไต้หวัน ที่ระบุไว้ใน “กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน” และ “หลักประกัน 6 ประการ” อย่างเป็นรูปธรรม ตลอดในปี 2021 ไต้หวันรู้สึกยินดีเป็นอย่างมาก สำหรับการที่รัฐบาลสหรัฐฯ อนุมัติจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ไต้หวันหลายรายการ เพื่อให้ความช่วยเหลือในการรับมือและสกัดกั้นการโจมตีจากประเทศภายนอก อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม พวกเราจะไม่เพียงพึ่งพาประเทศอื่นในการปกป้องประเทศเท่านั้น แต่ไต้หวันจะมุ่งมั่นในการปกป้องความมั่นคงของประเทศชาติ และธำรงรักษาวิถีชีวิตแห่งประชาธิปไตยให้คงอยู่ต่อไป ด้วยการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การป้องกันประเทศอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
เพื่อบรรลุเป้าหมายข้างต้น พวกเราได้ทุ่มงบประมาณด้านกลาโหมเพิ่มมากขึ้น เพื่อเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหารที่ยังคงอยู่ในภาวะไม่สมดุล รวมไปถึงการเสริมสมรรถนะยุทโธปกรณ์ และการผลิตเรือรบด้วยตนเอง โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา พวกเราได้จัดตั้ง “สำนักงานสรรพกำลังกลาโหม” (All-Out Defense Mobilization Agency) เพื่อเสริมสร้างกลไกบูรณาการการฝึกอบรมกำลังพลสำรอง และการผนึกกำลังระหว่างประชาชนเพื่อการป้องกันประเทศ
นอกจากนี้ ในทุกเดือนรัฐบาลไต้หวันยังต้องเผชิญหน้ากับการถูกโจมตีทางไซเบอร์เป็นจำนวนกว่า 30 ล้านครั้ง โดยในปัจจุบันนี้ ไต้หวันได้จัดสรรงบประมาณสำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านความมั่นคงทางอินเทอร์เน็ต ตลอดจนจัดตั้งกระทรวงพัฒนาดิจิทัล เพื่อช่วยเป็นหูเป็นตาในการสกัดกั้นข่าวปลอมและสงครามลูกผสม
จากมุมมองประวัติศาสตร์และสถานการณ์ในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า ภัยคุกคามต่อประเทศใดประเทศหนึ่งหรือในภูมิภาค จะส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อประเทศโดยรอบด้วย ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงควรประสานสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ ปกป้องประชาธิปไตย และรับมือกับความท้าทายที่ต้องเผชิญร่วมกัน
ท่ามกลางความสงบเรียบร้อยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎกติกาสากล ไต้หวันถือเป็นพันธมิตรที่น่าเชื่อถือและเป็นประเทศที่มีผลประโยชน์ร่วมกันกับทั่วโลก ที่เปี่ยมด้วยความรับผิดชอบ พวกเราเตรียมพร้อมแล้วที่จะยื่นมือให้ความช่วยเหลือแก่มิตรสหายที่ต้องการ ยกตัวอย่างเช่น ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ไต้หวันได้เพิ่มปริมาณการผลิตหน้ากากอนามัย พร้อมบริจาคให้สหรัฐฯ ในจำนวน 10 ล้านชิ้น นอกจากนี้ หลังจากสถานการณ์การบุกโจมตียูเครนของรัสเซีย ไต้หวันก็ได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือด้วยการบริจาคสิ่งของจำเป็นรวมน้ำหนักกว่า 580 ตัน และเงินบริจาครวม 45 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้ลี้ภัยชาวยูเครนอย่างทันท่วงที
หากแต่พลังความสามัคคีเช่นนี้ กลับต้องประสบกับอุปสรรค อันเนื่องมาจากการที่ไต้หวันถูกกีดกันมิให้เข้ามีส่วนร่วมในระบบ UN ซึ่งทั้งผู้เชี่ยวชาญ ผู้สื่อข่าวและนักศึกษา ต่างถูกกีดกันมิให้เข้าร่วมการประชุมที่เกี่ยวข้องของ UN ซึ่งรวมถึงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่จัดขึ้นเมื่อเดือนที่ผ่านมาด้วย
แม้ว่าไต้หวันจะมีผลสัมฤทธิ์ด้านการสกัดกั้นโรคโควิด – 19 ที่ยอดเยี่ยม แต่ก็ยังมิสามารถร่วมประสานภารกิจการป้องกันโรคระบาดกับ “องค์การอนามัยโลก” (WHO) ได้
แม้ว่าไต้หวันจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางอากาศที่สำคัญระดับนานาชาติ แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าร่วมในองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เพื่อสร้างคุณประโยชน์ด้านความมั่นคงทางการบินให้แก่ประชาคมโลกได้
การที่ไต้หวันไม่ได้รับโอกาสเข้ามีส่วนร่วมในหน่วยงานเฉพาะทางภายใต้ระบบ UNจึงทำให้ไต้หวันไม่สามารถร่วมแบ่งปันความรู้ความเชี่ยวชาญในประเด็นสำคัญระดับโลกให้แก่ประชาคมโลกได้ ญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 มักถูกใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงในการกีดกันมิให้ไต้หวันเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศ ถึงแม้ว่าเนื้อความในญัตติจะไม่มีการระบุถึงไต้หวันเลยแม้แต่น้อยก็ตาม
พวกเราขอขอบคุณกลุ่มพันธมิตรระหว่างประเทศที่ร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันในเวทีสหประชาชาติและเวทีนานาชาติอื่นๆ อย่างหนักแน่นเสมอมา โดยพลังการสนับสนุนของกลุ่มประเทศเหล่านี้ ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ว่า มีเพียงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนไต้หวันเท่านั้น จึงจะมีสิทธิ์ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนชาวไต้หวัน ในเวทีนานาชาติ
ท่ามกลางบริบททางความร่วมมือระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ภายใต้กรอบความตกลงทางการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Framework Agreement, TIFA) และ การเจรจาหุ้นส่วนเพื่อความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ (Taiwan-US Economic Prosperity Partnership Dialogue, EPPD) ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา พวกเราได้เปิดฉาก “แผนริเริ่มการค้าระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ในศตวรรษที่ 21” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งนี่เป็นความคืบหน้าที่สำคัญทางความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ซึ่งมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางสถานการณ์ระหว่างประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ไต้หวัน - สหรัฐฯ ยังได้ประสานความร่วมมือในด้านผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ โดยผู้ประกอบการเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันจะทุ่มงบประมาณหลายพันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อจัดตั้งโรงงานในสหรัฐฯ โดยคาดว่าจะสร้างตำแหน่งงานหลายพันอัตราให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยกระดับความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานด้านทรัพยากรเชิงยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญ
เนื่องจากไต้หวันมีกำหนดการเปิดประเทศในสัปดาห์หน้าที่จะถึงนี้ ปธน.ไช่ฯ จึงคาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นการเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนกับหุ้นส่วนทางความร่วมมือในสหรัฐฯ และนานาประเทศทั่วโลกอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้กลุ่มประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก และความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานกฎกติกาสากล ต้องเผชิญหน้ากับบททดสอบที่หนักหน่วงที่สุด หลังการสิ้นสุดลงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ พวกเราขอหยิบยกประเด็น “หลักการขั้นต้น” ที่เสนอโดย H.E. George Washington ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ ในการนำมาปรับใช้เพื่อรับมือกับความท้าทายในยุคสมัยใหม่ต่อไป