กระทรวงเศรษฐการ วันที่ 12 ต.ค. 65
นางหวังเหมยฮัว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ตอบรับคำเชิญของศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์และปัญหาระหว่างประเทศ (Center for Strategic and International Studies, CSIS) ของสหรัฐฯ เข้าร่วมแสดงปาฐกถาในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในวันที่ 12 ต.ค.นี้ โดยรมว.หวังฯ ได้ใช้การบรรยายสรุป โดยเน้นย้ำว่าไต้หวันนอกจากจะตั้งอยู่ในที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่สำคัญแล้ว บทบาทสำคัญในด้านการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ครอบคลุมสมบูรณ์ ก็ไม่สามารถที่จะเลียนแบบหรือถูกเข้ามาแทนที่ได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของไต้หวันที่มีต่อระบบเศรษฐกิจโลก โดยความมั่นคงของไต้หวันยังแสดงให้เห็นถึงความมั่นคงด้านห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ซึ่งไต้หวัน- สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ จะยังคงประสานความร่วมมือระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาประสิทธิภาพด้านการผลิต และรักษาหลักประกันที่สำคัญให้แก่กลไกเศรษฐกิจโลกต่อไป
รมว.หวังฯ กล่าวว่า “ทั่วโลกต้องการไต้หวัน ไต้หวันต้องการประชาคมโลก” อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันในปัจจุบัน ได้ผ่านการปรับปรุงพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 40 ปี ซึ่งสามารถผลิตออกมาในรูปแบบที่ทันสมัยที่สุด มีคุณภาพสูงที่สุด และใช้งานได้อย่างคุ้มประสิทธิภาพมากที่สุด รวมไปถึงการที่ไต้หวันมีผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานที่ครอบคลุมนับพันราย จึงจะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเช่นนี้มิสามารถเลียนแบบหรือถูกแทนที่ได้
รมว.หวังฯ เน้นย้ำว่า ไต้หวัน - สหรัฐฯ ต่างเผชิญหน้ากับความท้าทายร่วมกัน พื้นที่รอบน่านน้ำไต้หวันเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งหลักของประชาคมโลก ที่มีการสัญจรไปมาอย่างคึกคัก อีกทั้งไต้หวันยังตั้งอยู่ในพื้นที่ระยะห่วงโซ่ที่ 1 (First Island Chain) ด้วยเหตุนี้ สันติภาพและเสถียรภาพในพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวันจึงเป็นแกนกลางสำคัญที่ช่วยเชื่อมโยงปัจจัยทางการเมืองและเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ หากช่องแคบไต้หวันถูกคุกคามหรือเกิดวิกฤตใดๆ ทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือแม้กระทั่งจีนแผ่นดินใหญ่ก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงความสงบเรียบร้อยทางการเมืองและเศรษฐกิจในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกในภาพรวม
CSIS มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. นับเป็นคลังสมองด้านนโยบายการทูตแบบข้ามพรรคที่สำคัญของสหรัฐฯ โดยรมว.หวังฯ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมแสดงปาฐกถาในหัวข้อ “เผยความสำคัญของไต้หวันที่มีต่อประชาคมโลก ภายใต้มุมมองด้านเศรษฐกิจ” (WHY TAIWAN MATTERS-from an Economic Perspective)
รมว.หวังฯ เผยว่า ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการชาวไต้หวันให้ความร่วมมือกับแบรนด์สินค้าของสหรัฐฯ จึงเลือกจัดตั้งโรงงานในจีน ซึ่งเป็นการสร้างพลังขับเคลื่อนให้แก่สินค้าที่เกี่ยวข้องควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะการส่งออกชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ไปยังประเทศจีน หลายปีมานี้ แนวโน้มต่างๆ ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการชาวไต้หวันเร่งปรับเปลี่ยนแผนกลยุทธ์ในการวางรากฐานธุรกิจเพื่อให้สอดรับกับ ผู้ประกอบการสหรัฐฯ จึงทำให้มีกลุ่มผู้ประกอบการจำนวนมากเบนเข็มการตั้งรากฐานการลงทุนยังสหรัฐฯ กลุ่มประเทศอาเซียน อินเดีย หรือแม้แต่การกลับมาลงทุนสร้างฐานการผลิตภายในประเทศ ควบคู่ไปกับการลดการลงทุนในจีน
รมว.หวังฯ วิเคราะห์ว่า กระบวนการผลิตทั่วโลกที่ทันสมัย ส่วนมากมักกระจุกตัวอยู่ในไต้หวัน หากกระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ทันสมัยประสบกับอุปสรรคจนไม่สามารถป้อนสินค้าให้แก่ตลาดโลกได้ เชื่อว่าทั้งจีน สหรัฐ และเทคโนโลยีทั่วโลก รวมถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจก็จะประสบกับผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ด้วยเหตุนี้ ไต้หวันจึงยังคงจะประสานความร่วมมือกับสหรัฐฯ และมิตรประเทศอื่นๆ เพื่อธำรงรักษาประสิทธิภาพด้านการผลิต ซึ่งถือเป็นการคุ้มครองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่มีประสิทธิภาพ นี่คือนัยยะของคำกล่าวที่ว่า “ทั่วโลกต้องการไต้หวัน ไต้หวันต้องการประชาคมโลก”
ในตอนท้าย รมว.หวังฯ ได้เน้นย้ำว่าไต้หวัน – สหรัฐฯ ต่างยึดมั่นในค่านิยมสากลด้านประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรมและระบบเศรษฐกิจแบบตลาด เป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนที่พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันตามกลไกทางธรรมชาติของประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน โดยไต้หวันจะยังคงสวมบทบาทการทำงานเป็นทีมร่วมกับสหรัฐฯ ต่อไป เพื่อร่วมพัฒนาสรรค์สร้างให้เกิดเป็นห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่นต่อไป